การบันทึกเสียงใหม่ของบทเพลงอมตะ “Blowin’ In the Wind” จากปี 1963 ของ ‘บ็อบ ดีแลน’ (Bob Dylan) ที่ผลิตโดย ที โบน เบอร์เนตต์ (T Bone Burnett) อดีตเพื่อนร่วมวงของดีแลน กำลังจะขายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ในการประมูล การบันทึกเสียงครั้งใหม่นี้ทำให้บทเพลงที่ดีแลนร้องมาเป็นเวลาเกือบ 60 ปี ได้ถูกทำขึ้นมาใหม่อย่างเลอค่าโดยบรรจุไว้ในแผ่นเสียงแผ่นเดียว

ที โบน เบอร์เนตต์ และแผ่นเสียง Ionic Original

แผ่นเสียง “Blowin’ In the Wind” เวอร์ชันใหม่นี้ผลิตด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ไอออนิก ออริจินัล (Ionic Original)” โดยบริษัท Neofidelity ของเบอร์เนตต์นั่นเอง โดยเป็นการผลิตแผ่นเสียงที่ไม่ซ้ำแบบใครโดยใช้กระบวนการที่เบอร์เน็ตต์จดสิทธิบัตรเพื่อให้ได้รูปแบบเสียงที่มีคุณภาพสูงขึ้น รูปแบบ “ไอออนิก” นี้มีการเคลือบที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้ไม่เกิดการสึกหรอตามปกติของการบันทึกเสียงแบบแอนะล็อก โดยแผ่นเสียงแผ่นนี้ถูกนำเสนออย่างสวยสง่าในกล่องวอลนัทและไม้โอ๊คสีขาวที่ผลิตขึ้นโดยเฉพาะ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นเพียงสำเนาเดียวของการบันทึกเสียงใหม่ในครั้งนี้

แผ่น Ionic Original เพลง “Blowin’ In the Wind”
บรรจุไว้ในกล่องสวยงาม

โดยแผ่นเสียง “ไอออนิก ออริจินัล” จะมีลักษณะคล้ายกับแผ่นเสียงไวนิลทั่วไป และสามารถเล่นได้บนเครื่องเล่นแผ่นเสียงไวนิลที่มีอยู่ แต่ให้คุณภาพเสียงที่ก้าวหน้าล่าสุดในด้านนาโนเทคโนโลยีและวัสดุศาสตร์ เป็นการพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีเสียงแอนะล็อกให้ได้กลับมาสง่างามอีกครั้งหลังจากปี 1980 ที่การบันทึกเสียงแบบดิจิทัลเริ่มเข้ามาสู่อุตสาหกรรมดนตรี

นอกจากนี้เบอร์เนตต์และทีมของเขายังใช้วิธีการในการปกป้องแผ่นเสียงด้วยเทคโนโลยีเดียวกันกับวิธีการปกป้องส่วนต่าง ๆ ของสถานีอวกาศจากความร้อนโดยตรงของดวงอาทิตย์ รวมถึงกระจกป้องกันความเสียหายบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยให้แผ่นเสียงมีความคงทนและสามารถเล่นได้มากกว่า 1,000 ครั้ง

ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้ฟังเพลง “Blowin’ In the Wind” เวอร์ชันบันทึกเสียงใหม่หลังจากการประมูลของคริสตี้ที่จะปิดประมูลในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะขายได้ในราคา 725,000 ถึง 1.21 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 43.5 ล้านบาท) โดยผู้ที่ชนะประมูลจะได้รับแผ่นเสียงพร้อมทั้งสิทธิ์ในการจำหน่าย

“จากมุมมองของผม เรากำลังทำเช่นนี้เพื่อประวัติศาสตร์” เบอร์เนตต์กล่าว “ผมรู้สึกอกหักในฐานะนักดนตรีและโปรดิวเซอร์ แต่ผมต้องการที่จะพัฒนาดนตรีให้เป็นงานศิลปะ”

“ผมคาดว่าสิ่งนี้จะจบลงที่ไหนสักแห่งที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้” เบอร์เน็ตต์กล่าวเสริม

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมดนตรีและคุณค่าของดนตรีกำลังถูกท้าทายจากการถูกคัดลอกได้โดยง่ายอีกทั้งยังแพร่หลายในวงกว้างเข้าถึงผู้คนได้ทั่วถึง ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ผู้ฟังสามารถเข้าถึงบทเพลงที่ชอบได้โดยสะดวก แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็อาจลดคุณค่าในฐานะงานศิลปะของดนตรี ซึ่งเบอร์เนตต์ได้กล่าวว่าสิ่งเหล่านี้ได้ลดคุณค่าศิลปะของดนตรี ดังนั้นบริษัท Neofidelity ของเขาจึงมีปณิธานที่จะให้รูปแบบทางเลือกสำหรับผู้ที่มองว่าดนตรีเป็นศิลปะโดยการจัดหาเสียงที่มีคุณภาพสูงสุดและทำให้เป็นสิ่งที่มีจำนวนจำกัด

มีป้ายระบุว่าเป็นแผ่นเสียงเพียงหนึ่งเดียว ‘ONE OF ONE’

“เราทุกคนต่างมีเงื่อนไขที่จะยอมรับและตอบสนองต่อกรอบการผลิตจำนวนมาก” เบอร์เนตต์กล่าว “แต่มันไม่ควรเป็นอย่างนั้น ผมอยากหลุดพ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ของนักดนตรีตั้งแต่ยุคของการผลิตซ้ำแบบกลไก ซึ่งรัฐบาล ผู้เผยแพร่กระจายเสียง และบริษัทเทคโนโลยีเป็นผู้ที่คอยบอกเราว่าดนตรีมีคุณค่าได้แค่ไหน”

เบอร์เนตต์หวังว่าจะได้ร่วมงานกับศิลปินคนอื่น ๆ ต่อไป และเปิดเผยว่าเขาได้บันทึกเพลงอีกหลายเพลงกับ ดีแลนเพื่อปล่อยในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันนี้

“ผมกำลังตอบสนองต่อแนวคิดที่ว่าดนตรีควรจะเป็นอิสระ” เบอร์เนตต์กล่าว “ดีแลนขายภาพวาดได้ในราคาเป็นล้าน แล้วทำไมเพลงของเขาจึงควรค่าน้อยกว่านี้ล่ะ”

ที่มา

American Songwriter

Christies

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส