จบไปแล้วกับงานคอนเสิร์ตลูกผสมที่อลังการระดับต้น ๆ ของนักฟังเพลงป๊อปร็อกไทยอย่าง Tattoo Colour x Thailand Philharmonic Orchestra ที่จัดไปเมื่อวันที่ 23 – 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร ซึ่งเป็นเหมือนบ้านของ Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) ด้วย และเนื่องจากปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่น่าจะได้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบสื่อใด ๆ คงเก็บไว้เพียงความทรงจำของผู้ที่ได้เข้าชม วันนี้ WTF จึงขอเอาบรรยากาศและความพิเศษจากคอนฯ นี้มาเล่าสู่กันฟังราวกับทุกท่านได้ร่วมชม เช่นเคยครับ

คอนเสิร์ตเริ่มด้วยการเปิด VTR แนะนำ TPO ก่อนที่เหล่าสมาชิกของวงออร์เคสตราจะทยอยออกมาประจำที่ของตนเอง ซึ่งรวมถึงวาทยกรผู้ทำหน้าที่นำวงในวันนี้อย่าง อาจารย์ธนพล เศตะพราหมณ์  ด้วย สำหรับอาจารย์ธนพลนั้นเป็นหัวหน้าสาขาวิชาการอำนวยเพลงวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการนำออร์เคสตราผสมผสานกับสื่ออื่น ทั้งเคยนำวงร่วมกับการแสดงหุ่นกระบอก ตลอดจนการนำออร์เคสตราวง TPO แสดงร่วมกับสื่อสมัยใหม่อย่าง หนัง แอนิเมชั่นญี่ปุ่น และวิดีโอเกม จนโด่งดังใน Concert Orchresta Legend and Fantasies ที่ผ่านมาด้วย งานคลาสสิกปะทะร็อกแบบวันนี้จึงไม่พลาดที่วาทยกรจะต้องเป็นอาจารย์ธนพลนี่เอง

เมื่อพร้อม จากนั้นวง TPO จึงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีนับเป็นสัญญาณการเริ่มคอนเสิร์ตนี้อย่างเป็นทางการครับ และเมื่อดูเวลาก็ตรงตามเวลาที่แจ้งในกำหนดการเป๊ะ สมกับเป็นมืออาชีพ ใครที่กะว่าน่าจะเริ่มช้าหน่อยนี่จะพลาดไปหลายเพลงเลยครับ เพราะคอนฯที่นี่จะอารัมภบทน้อยมากทีเดียว

การจัดวางระหว่างวงออร์เคสตรากับเครื่องดนตรีของวงแทททูคัลเลอร์ จะใช้วง TPO โอบล้อมด้านหลัง แล้ววางชุดดนตรีไฟฟ้าของวงแทททูฯด้านหน้า ตรงนี้ต้องออกแบบการวางไมค์และลำโพงกันใหม่เลย เพราะปกติวง TPO ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีเสียงธรรมชาติ (อะคูสติก) จะใช้เสียงสดในโถง และมีไมค์รับเสียงช่วยเสริม แต่ทางวงแทททูฯนั้นใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้าลากสายเข้าแอมป์และมิกซ์ ดังนั้นการมิกซ์เสียงเพื่อออกลำโพงด้านบนและด้านข้างจึงต้องคำนึงถึงความอึกทึกของทั้งออร์เคสตราและวงร็อกด้วย เป็นงานที่ท้าทายสถานที่จัดงานนอกไปจากการเรียบเรียงเสียงประสานบทเพลงด้วยครับ

 

ตอนนี้นักดนตรีของวงแทททูฯ ทยอยออกมาตั้งแต่ มือกีตาร์และนักร้องนักแต่งเพลงของวง รัซซี่-รัฐ พิฆาตไพรี มือกีตาร์เบส จั๊มพ์-ธนบดี ธีรพงศ์ภักดี มือกลอง ตง-เอกชัย โชติรุ่งโรจน์ และคนสุดท้ายที่เดินออกมาคือ ดิม-หรินทร์ สุธรรมจรัส นักร้องนำเสียงเสน่ห์ของวงนั่นเองครับ วันนี้วงแทททูฯใส่สูทสากลแบบแคชชวลเหมาะกับการบรรเลงร่วมกับวง TPO ที่มาในชุดทางการสีดำด้วย

OVERTURE TATTOO COLOUR

อย่างที่บอกไม่อารัมภบทกันยืดยาว ดิมทักทายแฟน ๆ เล็กน้อยด้วยการแนะนำตัวทั้งแทททูฯและ TPO ก่อนเข้าช่วงโหมโรง หรือที่ในคอนนี้ใช้ว่า Overture Tattoo Colour ด้วยเมดเล่ย์เพลงจังหวะสนุก ๆ 3 เพลงรวด ให้ผู้ชมพร้อมสำหรับคอนเสิร์ต ทั้งยังเป็นการจูนกันไปสำหรับผู้ฟังกับการประสานของวงสองสไตล์นี้ด้วย สำหรับเพลงที่นำมาเล่นก็มีทั้ง อากาศร้อน ๆ (อัลบั้ม Hong Ser พ.ศ. 2549) เรือสำราญ (อัลบั้มตรงแนว ๆ พ.ศ. 2553) และเผด็จเกิร์ล (อัลบั้มสัตว์จริง พ.ศ. 2560) สังเกตว่าเป็นการนำเพลงจากยุคเริ่มอัลบั้มแรก ยุคกลางอัลบั้มที่ 3 และอัลบั้มล่าสุดอัลบั้มที่ 6 ของวงมาเรียงร้อยเพื่อให้เห็นพัฒนาการตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบันของดนตรีแบบแทททูฯ ถือว่าเหมาะกับชื่อช่วงโชว์โหมโรงนี้จริง ๆ ครับ (น่าเสียดายที่ขาดอัลบั้มที่ 2 อัลบั้มชุดที่ 8 จงเพราะ พ.ศ. 2551 และ อัลบั้ม Pop Dad พ.ศ. 2557 ไปครับ)

 

ตรงนี้จากการจูนกันกับคอนฯนี้ในช่วงโหมโรง ก็พบว่าคนฟังต้องปรับหูกันพอควรครับ เพราะแม้การเรียบเรียงประสานเครื่องดนตรีจะทำได้ไม่มีที่ติ แต่การมิกซ์เสียงออกมาร่วมกันเจอปัญหาหนักพอสมควร เพราะเสียงร้องของดิมที่จะค่อนข้างทุ้มนุ่มนั้น กลืนหายไปกับเสียงดนตรีที่จัดหนักถึงสองวง แถมเป็นวงแบบฟูลออปชั่นด้วย ตรงนี้ต้องเงี่ยหูฟังเสียงร้องกันดี ๆ เลย และเหมือนดิมเองก็น่าจะรู้ตัวครับ เพราะเขาต้องใช้พลังเข้าสู้กับวงใหญ่มากขึ้นด้วย ประกอบกับคนดูเองยังงง ๆ ว่าควรดูแบบคอนเสิร์ตร็อกที่เฮ้วฮาปาร์ตี้เต็มที่หรือควรนั่งสุขุม ๆ ดื่มด่ำกับออร์เคสตราแบบสากลนิยมดี ทำให้ดิมต้องบิ้วอารมณ์คนดูยากขึ้นไปอีก เห็นได้จากแค่ช่วงโหมโรงเหงื่อของหนุ่มดิมก็ชุ่มโชกเสียแล้ว

ที่มาที่ไปและทักทาย

จบช่วงโหมโรง ดิมจึงได้มีเวลาพูดคุยกับแฟน ๆ มากขึ้น เรียกว่าช่วงละลายพฤติกรรมคนดูก็ได้ครับ เพราะหนุ่มดิมงัดสารพัดมุกมาเอนเตอร์เทนผู้ชม ทั้งพูดถึงความตื่นเต้นส่วนตัวกับการแสดงครั้งนี้ ไม่พอยังเม้าท์คุณแม่ของดิมให้ฟังอีกด้วย ว่าตื่นเต้นไม่แพ้กันที่ได้มาชมในรอบแรกจนกระวนกระวายหาชุดดี ๆ มาใส่ดูออร์เคสตรา ก็เป็นความน่ารักเล็ก ๆ ของแม่กับดิมครับ จากนั้นดิมจึงขอซาวเสียงผู้ชมในที่นั่งราคาต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นล่างขึ้นไปยันชั้นบน ซึ่งบนชั้นลอยที่อยู่สูงขึ้นไปก็มีผู้ชมจับจองที่นั่งกันเต็มด้วยครับ จนดิมต้องงัดมุกอุปกรณ์อัญเชิญกล้องส่องทางไกลที่ตนลงทุนซื้อมา เอามาส่องดูผู้ชมด้านบนและทักทายอย่างเป็นกันเองเรียกเสียงเฮฮาได้ดี

พอเล่นกับคนดูเสร็จ ดิมก็เลยจั่วเข้าที่มาที่ไปของคอนเสิร์ตครั้งนี้ ว่าเบื้องหลังก็สนุกไม่แพ้กัน เพราะรัฐได้รับการโทรติดต่อจาก อาจารย์แซ็ก-สุกรี เจริญสุข ผู้ก่อตั้ง และอดีตผู้อำนวยการและคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าอยากจะลองเอาออร์เคสตรากับวงป๊อปร็อกสมัยใหม่มาแจมกันดู ตอนนั้นรัฐได้แต่อุทานในใจด้วยความไม่เชื่อว่า “จะบ้าเหรอครับ”  จนเมื่อมีการนัดมาคุยกันที่ดุริยางคศิลป์นี่ล่ะจึงรู้ว่าอาจารย์สุกรีตั้งใจเอาจริง รัฐจึงโทรไปบอกดิม ซึ่งดิมก็อุทานใส่รัฐด้วยคำเดียวกับที่รัฐเคยอุทาน จากวันนั้นทางวงทั้งสองวงก็เข้ามาคุยเลือกเพลงที่จะเรียบเรียงกันสำหรับคอนเสิร์ตนี้ โดยได้ พันเอกประทีป สุพรรณโรจน์ มาดูแลการเรียบเรียงประสานบทเพลงให้

ตรงนี้เพิ่มให้เป็นเกร็ดว่า พันเอกประทีป ได้เลือกใช้วิธีการบรรเลงแบบคอนแชร์โต ที่จะมีการเล่นประชันกันระหว่างวงดนตรี หรือเครื่องดนตรีเอกประชันกับวงดนตรีก็ได้ ซึ่งในครั้งนี้เป็นแบบกรณีแรก โดยให้ไลน์ของวงแทททูฯนั้นเป็น ผู้บรรเลงเดี่ยว (Soloist) และให้วง TPO ทำหน้าที่ เล่นคลอเสียง (Accompaniment) แล้วสลับบทบาทวงหลัก-รองกันตามลำดับด้วยครับ

เข้าสู่ของจริงช่วงแรก

คอนเสิร์ตครั้งนี้ได้รับการบอกแต่ต้นครับว่าจะมีการเล่น 2 ช่วง โดยจะทำการพักครึ่งเป็นเวลา 20 นาที และสำหรับช่วงแรกนี้จึงคัดเน้นมาแบบผสมผสานหลากหลายอารมณ์ให้เต็มอิ่มสำหรับคอเพลงวงแทททูฯกันเลย ไล่ตั้งแต่ผลงานจาก 2 อัลบั้มที่ยังไม่ได้เล่นเลยทั้ง เธอต้องมีฉัน (อัลบั้ม Pop Dad พ.ศ. 2557) เพลงจังหวะสนุกแบบดิสโก้ป๊อป ซึ่งรักษาการบิ้วอารมณ์คนฟังต่อเนื่องมาจากช่วงโหมโรงได้อย่างดี แถมส่งข้อความหยอดรักแฟนเพลงเบา ๆ ด้วยท่อนที่ว่า “อยากให้เธอได้รู้จัก รู้ว่าฉันเป็นใคร……เธอจะมีฉัน คนที่รักกัน ไม่ใช่ฉันแล้วมันจะเป็นใคร” อีกด้วย ต่อกันติด ๆ ด้วยเพลง เปิดเพลงไหน เปิดเมื่อไหร่ ก็ยังสวยงาม (อัลบั้มชุดที่ 8 จงเพราะ พ.ศ. 2551) ที่เด็ดดวงด้วยจังหวะแบบวินเทจร็อกแอนด์โรล บวกด้วยเนื้อเพลงที่รัฐเอาชื่อเพลงทั้งหมดในอัลบั้มแรก Hong Ser ของวงมาแต่งด้วย

 

ต่อด้วยเพลงติดหูจากอัลบั้มล่าสุด เผด็จเกิร์ล (อัลบั้มสัตว์จริง พ.ศ. 2560) ที่มาแบบเต็ม ๆ เพลงหลังจากจั่วกันไปในช่วงโหมโรงเล็กน้อย และปิดช่วงเร้าคนดูด้วยเพลง เผลอไป (อัลบั้ม Pop Dad พ.ศ. 2557) เพลงป๊อปสนุก ๆ ที่ใส่กลิ่นลาตินลงไป จะเห็นว่า 4 เพลงรวดนี้ เน้นจังหวะกลางถึงเร็วด้วยเนื้อหาที่เบา ๆ สบาย ๆ อย่างการแอบรัก การจีบ หยอดแฟน ที่น่ารัก ๆ ตามสไตล์แทททูฯทีเดียว ยิ่งได้เครื่องออร์เคสตราจาก TPO มาเสริม ทำให้ทางเพลงรู้สึกแน่นขึ้นมากครับ แต่ด้วยความที่เป็นเพลงสนุกอาจยังแยกช่วงโชว์ชัด ๆ ของวง TPO ไม่ได้มากนัก ซึ่งจะเห็นของกันในเพลงช่วงต่อไปครับ

ช้า ๆ บาด ๆ

มาพักขาแข้งคนดูด้วยเพลงช้าที่ทุกคนร้องได้ติดปากบ้าง เริ่มด้วยเพลง โอกาสสุดท้าย (อัลบั้มชุดที่ 8 จงเพราะ พ.ศ. 2551) ร็อกบัลลาดส์สุดฮิตที่ได้เครื่องสายในวง TPO ขับกระชากอารมณ์จนคนอกหักปางตายได้เลย จบแล้วคงกลัวว่าจะหนักไปจึงเริ่มถอนความเข้มลงมา 1 สเต็ปด้วยเพลงฮิตจากอัลบั้มแรกอย่าง กลัว (อัลบั้ม Hong Ser พ.ศ. 2549) ที่ด้านอารมณ์เพลงยังหน่วง ๆ นิด ๆ แต่ก็ฟังสบายขึ้น โดยถึงตรงนี้เราได้เห็นรัฐเริ่มมีบทบาทร้องเสริมในเพลงมากขึ้นด้วย

ร้องมาหลายเพลง ถึงคิวที่นักร้องนำอย่างดิมขอพักเสียงที่สู้ตายมาค่อนทาง แล้วปล่อยให้ รัฐ มือกีตาร์และนักร้องอีกคนของวงรับไมค์ต่อเต็ม ๆ  สำหรับเพลงที่รัฐแต่งและร้องเองจนกลายเป็นเพลงโซลป๊อปสุดฮิตไม่แพ้เพลงอื่น ๆ อย่าง รักแรกพบ (อัลบั้มตรงแนว ๆ พ.ศ. 2553) ตรงนี้พอเปลี่ยนมาเป็นรัฐที่เสียงจะทุ้มน้อยกว่าดิม ทำให้ดูฟังง่ายมากขึ้นด้วยครับ ส่วนตัวมองว่ารัฐนี่ล่ะครับสัญลักษณ์ของแทททูฯตัวจริงเลย เพราะทุกเพลงนั้นมาจากลายเซ็นของรัฐทั้งสิ้นเลย และในช่วงนี้วง TPO ก็เล่นช่วงช้าบาดนี้ได้อย่างทรงพลังทุกเพลงเลย ช่วงนี้ต้องบอกสมการรอคอยจริง ๆ เพราะตั้งใจมาฟังอารมณ์อะไรแบบนี้ที่คิดว่าน่าจะเข้ากับวงออร์เคสตราสุด ๆ ด้วย

 

หลากอารมณ์ ก่อนจบช่วงแรก

ดิมกลับมา และขอบคุณวง TPO ที่ช่วยให้เพลงช้าของวงไพเราะที่สุดเท่าที่เคยเล่นกันมาตลอดช่วง 10 กว่าปีในวงการ ซึ่งจริงเลยครับและไม่รู้จะหาฟังได้อีกที่ไหนหรือไม่กับการประสานแบบนี้ จากนั้นจึงเล่นกันยาวอีกรอบด้วยเพลงที่คึกคักขึ้นอย่าง อากาศร้อน ๆ (อัลบั้ม Hong Ser พ.ศ. 2549) และ เนรมิตเอง (อัลบั้มสัตว์จริง พ.ศ. 2560) ที่แปลกหูกับการแบ่งท่อนร้องสลับกันระหว่างดิมและรัฐที่ลงตัว ตรงนี้ทำให้เห็นว่ารัฐเป็นนักร้องที่ร้องได้หลายแนวมากกว่าแค่รักแรกพบช้า ๆ ด้วยครับ ต่อด้วย เรือสำราญ (อัลบั้มตรงแนว ๆ พ.ศ. 2553) และปิดท้ายด้วยเพลงอกหักติดปากอย่าง ฟ้า (อัลบั้ม Hong Ser พ.ศ. 2549) ที่เรียกเสียงร้องตามของคนดูได้กระหึ่มทีเดียว หลังจากนั้นวงก็ขอพักครึ่งครับ ซึ่งบริเวณหน้างานก็มีสินค้าของที่ระลึกจากทั้งของวง TPO และจากค่ายสมอลรูมของวงแทททูคัลเลอร์มาจำหน่ายด้วย

ครึ่งหลัง ไม่ต้องนั่งกันแล้ว

กลับเข้ามาช่วงครึ่งหลัง ดิมและเพื่อน ๆ ในวงถอดสูทและใส่ชุดที่คล่องตัวขึ้น แต่ยังคงรักษาอาการความเศร้าและละมุน โดยการเปิดหัวด้วยเพลง รถไฟ (อัลบั้มสัตว์จริง พ.ศ. 2560) เพลงช้าที่ฮิตที่สุดในอัลบั้มล่าสุด จบเพลงดิมแซวผู้ชมเล็กน้อยว่าเพลงนี้มาจากอัลบั้มล่าสุด บางคนไม่ทราบก็มักจะมาถามเขาว่าเมื่อไหร่จะออกอัลบั้มใหม่ ซึ่งดิมอยากบอกว่า “อัลบั้มใหม่ออกมาได้ 5 เดือนแล้วนะครับ ช่วยอุดหนุนกันด้วย” (ฮา)

ชวนคุยบิ้วอารมณ์สนุกแล้ว ก็ปรับมู้ดให้สนุกขึ้นอีก ด้วยเพลงที่เจ้าเล่ห์กะล่อนขึ้นหน่อยอย่าง คืนนี้สบาย (อัลบั้ม Pop Dad พ.ศ. 2557) แล้วหักมาดำดิ่งกันต่อด้วยเพลงที่น่าจะดังที่สุดของวงอย่าง จำทำไม (อัลบั้มชุดที่ 8 จงเพราะ พ.ศ. 2551) ที่ดิมเชื้อเชิญทุกคนชูไฟมือถือมาโบกซ้ายขวาสร้างบรรยากาศค่ำคืนมากหมู่ดาวในห้องประชุม พอประกอบกับเสียงเครื่องสายที่เล่นชูโรงในพาร์ทแรกของเพลงมา ยิ่งทำให้เพลงนี้เพราะอย่างน่าขนลุกขึ้นมาทันใดเลยครับ

เรียกว่าสลับอารมณ์ไปมาไม่เกรงใจคนดูเลย เพราะจบฉากเศร้า ดิมก็ประกาศกึ่งแกมบังคับว่าเขาได้รับปากอาจารย์สุกรีมาว่า วันนี้จะสร้างประวัติศาสตร์ให้ฮอลล์ของมหิดลสิทธาคารแห่งนี้ เป็นเวทีคอนเสิร์ตที่ทุกคนลุกขึ้นมาเต้นเป็นครั้งแรกให้ได้ จึงเป็นหน้าที่แฟนคลับที่ดีที่ทุกคนต้องลุกขึ้นจากที่นั่งในเวลานี้ครับ “ลุกเลยครับ ผมรับผิดชอบเอง” ดิมประกาศตั้งแต่เริ่มครึ่งหลังมา บางส่วนที่เริ่มสนุกก็เดินลงมาออกันหน้าเวที นักดนตรีของแทททูฯก็ดูสนุกเข้ามาเล่นกับคนดูอย่างใกล้ชิดเหมือนงานปาร์ตี้เอ็กคลูซีฟเลยทีเดียว น่าจะเป็นภาพที่หาชมไม่ได้ในโถงแสดงออร์เคสตราอย่างที่อาจารย์สุกรีต้องการจริง ๆ ครับ

แล้ววงแทททูฯกับ TPO ก็ไม่ทำให้ผิดหวังครับ เพราะซัดเพลงมัน ๆ ยาว ๆ 7 เพลงรวดกันเลย ตั้งแต่เพลงเนื้อหาประชดประชันแฟนเก่าได้ใจอย่าง ฝากที (อัลบั้ม Hong Ser พ.ศ. 2549) ลับสุดยอด (อัลบั้มตรงแนว ๆ พ.ศ. 2553) หลับลึก (อัลบั้มสัตว์จริง พ.ศ. 2560) โกหก (อัลบั้มชุดที่ 8 จงเพราะ พ.ศ. 2551) เกาะร้าง…ห่างรัก (อัลบั้ม Hong Ser พ.ศ. 2549) Cinderella (อัลบั้มชุดที่ 8 จงเพราะ พ.ศ. 2551) และ ขาหมู (อัลบั้มชุดที่ 8 จงเพราะ พ.ศ. 2551)

จะเห็นว่าคอนเสิร์ตคัดสรรเพลงมาได้ดีมากครับ นอกจากจะคำนึงถึงความติดหูแล้ว จะสังเกตได้ว่าแต่ละเพลงยังมีกลิ่นไอประจำตัวที่สร้างสีสันทางดนตรีใหม่ ๆ ให้วง TPO ได้ลองของด้วย ทั้งแนววาไรตี้ป๊อปในเพลงลับสุดยอด จังหวะสไตล์แคริบเบียนในเพลงหลับลึก เรกเก้ในเพลงเกาะร้าง…ห่างรัก ตลอดจนดนตรีแบบวง The Richman Toy ที่ แจ๊ป นักร้องนำมาช่วยแต่งให้แทททูฯในเพลง Cinderella ด้วย และแน่นอนว่าจบเท่านี้คงไม่สาแก่ใจผู้มาชมไกลถึงศาลายา สถานที่ตั้งของหอประชุมมหิดลสิทธาคารครับ แทททูฯกับ TPO จึงตอบรับอังกอร์ด้วยเพลงที่เปิดคอนฯมาแล้วอย่าง เผด็จเกิร์ล (อัลบั้มสัตว์จริง พ.ศ. 2560) เพื่อมาปิดลาอีกครั้ง พร้อมการโค้งคำนับของวงแทททูฯและ TPO และเสียงปรบมือกึกก้องหอประชุมของผู้ชมยาวนานราวไม่สิ้นสุด

เป็นอันว่าจบลงไปอย่างสวยงามมาก ๆ กับคอนเสิร์ตแห่งประวัติศาสตร์ของทั้ง แทททูคัลเลอร์ และ Thailand Philharmonic Orchestra ในครั้งนี้ครับ รอติดตามว่าทาง TPO จะมีโปรเจ็กต์พิเศษมัน ๆ แบบนี้มาให้เราเบิกหูเบิกตาเบิกใจกันอีกเมื่อใดครับ ห้ามพลาดเลย

ขอขอบคุณภาพจากเฟซบุก TattooColour