หลังจากประสบความสำเร็จกับอัลบั้มเต็มชุดที่สอง ’80 kisses’ วง Polycat ก็ขยับสถานะจากวงอินดี้เล็ก ๆ มาเป็นวงที่มีแฟนเพลงติดตามอย่างล้นหลาม และคราวนี้พวกเขาก็ได้กลับมาพร้อมงานเพลงชุดที่ 3 ที่มีชื่อว่า ‘Pillow War’ ที่พวกเขายังคงสนุกที่จะเอาแนวดนตรีในอดีตมาใส่ความร่วมสมัยให้พวกเราได้สัมผัสกับท่วงทำนองที่อยู่เหนือกาลเวลา พร้อมทั้งหลากเรื่องราวเปื้อนรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และคราบน้ำตา

ใน “Pillow War” Polycat ได้เล่าเรื่องราวความรักความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนที่สะท้อนความใส่ใจในรายละเอียดของกันและกันและสิ่งเหล่านั้นได้ถูกนำเสนอผ่านทางเนื้อเพลงและรายละเอียดทางดนตรีที่มีความประณีต ความรักและความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมพื้นที่ที่หลากหลายทั้งช่วงวัย สถานะ และบรรยากาศ เรื่องราวเหล่านี้อาจพูดถึงคนที่วันหนึ่งอาจอยู่ร่วมเตียงกัน ซึ่งมันไม่ได้มีแค่เรื่องเซ็กส์ แต่มันคือความสัมพันธ์ที่มีความใส่ใจในรายละเอียดของกันและกัน และบนความสัมพันธ์นั้นก็เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ได้ทิ้งหลากริ้วรอยไว้บนหมอนของทั้งคู่

บทเพลงใน Pillow War เขย่าความรัก ความโรแมนติก (และความอีโรติกเล็ก ๆ ) เข้าไว้ด้วยกันและเล่าผ่านมุมมองของคนที่เติบโตผ่านวัยวันต่าง ๆ  แต่ถึงอย่างนั้นก็มีสัมผัสแห่งรักในหลากหลายช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นรักสดใสของวัยหวานหรือในวัยที่กำลังจะแต่งงาน อย่างในเพลง ‘มัธยม’ ก็เป็นเพลงรักที่ชวนย้อนวันวานให้นึกถึงวัยมัธยมอีกครั้ง เคล้าคลอด้วยดนตรีนีโอโซลกลิ่นอายสมูธแจ๊สมีจังหวะให้เต้นรำและยิ้มตามได้ มาพร้อมเนื้อร้องที่ใส่สิ่งที่บ่งบอกยุคสมัยอย่าง สมุดเฟรนด์ชิป, มือถือในยุคนั้นที่มีไว้แค่โทร ​(“ตั้งแต่ตอนมือถือเรา มันยังเอาไว้แค่โทร”) และยังไม่มีโซเชียลมีเดียให้เราได้ follow ใคร (​“เธอคือprincess ในยุคที่ยังไม่มีปุ่มให้ follow”), หรือเพลงรักวัยใสยุค 80s อย่างเพลง ‘กว่าจะรัก’ ของ XYZ ( “มันเหมือนจะจริงอย่างเพลงกว่าจะรักที่เรานั้นเคยได้ร้องว่า มันต้องใช้เวลา”) หรือในเพลง​ “ดูดี” เพลงของคนแอบรักที่แอบร่ำร้องความในใจในวันที่คนที่เรารักกำลังจะแต่งงาน ก็เป็นเพลงที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ในวันที่เราเติบโต คนหนึ่งกำลังจะเข้าสู่วันวิวาห์ส่วนอีกคนก็ได้ใช้เวลาโค้งสุดท้ายเพื่อบอกความในใจแบบเนียน ๆ และแอบเศร้านิด ๆ ซึ่งเล่าเรื่องได้เห็นภาพและได้อารมณ์มากนี่คือเพลง ‘Wonderful Tonight’ ในเวอร์ชัน ‘My Best Friend Wedding’ ที่สุดแสนโรแมนติก “ลมที่พัดปลายผมปลิวเป็นครั้งคราว มีคำถามว่าดูโอเครึเปล่า มันดูดีที่สุดเลยเว้ยแก” แปลกใหม่ด้วยการใช้สรรพนาม “แก” ซึ่งไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนในเพลงไทย แต่มันเป็นคำที่ใช้จริงกับเพื่อนสนิทที่เป็นผู้หญิง ความเป็นธรรมชาติในเพลงของ Polycat นี่ล่ะที่ทำให้น่าประทับใจและเข้าถึงใจของแฟน ๆ

แน่นอนว่าการเขียนเพลงของ นะ รัตน จันทร์ประสิทธิ์ นั้นมีเอกลักษณ์อย่างชัดเจนทั้งการเลือกใช้คำที่แปลกใหม่ การเขียนบรรยายให้เห็นภาพ อย่างในเพลง “อาวรณ์ (I want you)” ที่มีการเล่นคำไทย-อังกฤษและใส่ไว้ในเนื้อเพลงได้อย่างแนบเนียน “ฉันยังอาวรณ์อยู่ Baby I want you” รวมไปถึงการใช้คำในบริบทที่ไม่คิดว่าจะเข้ากับเพลงแต่ก็เอามาใส่ในเพลงได้อย่างลงตัว “ถ้าพรของฉันที่จะให้ไป ศักดิ์สิทธิ์กว่าพระอาจารย์ที่ใด” หรือในเพลง “กลับกันเถอะ” บทเพลงที่ให้บรรยากาศค่ำคืนอันแสนโรแมนติกและอีโรติก เมื่อไออุ่นแห่งรักมันกำลังถึงจุดเดือดเราคงต้องเลือกไปในที่ที่มีเพียงเราสองเพื่อใช้เวลาแห่งความสุขนั้นร่วมกัน นะเขียนเนื้อร้องออกมาได้มีความอีโรติกอย่างสวยงาม “มากกว่าพูด มากกว่าคุย มากกว่ายกจิบด้วยกัน มีเรื่องที่ปากของสองเราทำได้มากกว่านั้น” “หยิบดูผ้าคลุมเส้นผม หยิบดมเดรสตัวสีขาว สิ่งเหล่านั้นมันจะกองรวมกันอยู่ที่ข้อเท้า”

เรื่องเล่าทั้งหลายในบทเพลงจากอัลบั้ม Pillow War ถูกเล่าไปบนท่วงทำนองในแบบฉบับของ Polycat ที่ยังคงสนุกกับการหยิบเอาซาวด์ยุคเก่ามาปรุงใหม่ให้อร่อยหู เขยิบจากงานดนตรี Synth Pop ยุค 80s ในอัลบั้ม ’80 kisses’  มาสู่งานดนตรีสไตล์ Sophisti-pop, R&B ยุค 80s-90s ที่ผสมผสานกับ Neo Soul และ Jazz ได้อย่างเอร็ดอร่อย อีกทั้งยังรักษาอารมณ์และท่วงทำนองในแบบงานดนตรีเหล่านี้อย่างซื่อสัตย์และไม่ยอมแพ้ให้แก่อุปสรรคในการใส่เมโลดี้กับคำในภาษาไทย ซึ่งหลายครั้งศิลปินต้องเลือกเปลี่ยนเมโลดี้เพื่อไม่ให้คำไทยที่อยู่ตรงโน้ตนั้นต้องเพี้ยนกลายเป็นคำอื่นไป เพราะในภาษาไทยเมื่อเสียงวรรณยุกต์เปลี่ยนความหมายก็เปลี่ยนไปด้วย เช่น คำว่า ‘เรา’ ถ้ากลายเป็น ‘เร้า’ ก็คนละความหมายเลย แต่ Polycat ก็เลือกที่จะให้เมโลดี้เป็นตัวนำถึงแม้คำไทยจะวรรณยุกต์เพี้ยนไปก็ยอมเพื่อรักษาอารมณ์ของเพลงให้ได้ดีที่สุด เช่นในเพลง “ตอนที่เธอมานอนที่ตัก” ที่มาพร้อมบรรยากาศโรแมนติกนุ่มนวลชวนฝันในท่วงทำนองของดนตรีนีโอโซลที่มีความเซ็กซี่และเนื้อร้องที่ผสมความอีโรติกนิด ๆ พอใจเต้น “เพราะระยะห่างระหว่างแก้มเธอกับปากของฉันเริ่มลดลง” นะ ก็เลือกเน้นเมโลดี้นำโดยไม่กลัวที่คำไทยจะผันวรรณยุกต์ตามเมโลดี้แล้วจะเพี้ยนไปอย่างในท่อน“Ooh ooh ลมหายใจ ของเรา(เร้า)ใกล้กัน / Ooh ooh มือของเธอ ในมือฉัน(ช้านน)และ(แล่)  / เรื่องที่ขอไว้ตอนก่อนนอนนั้น ฉันจะไม่ทำ”

ในอัลบั้มนี้สถานะของตัวละครในเพลงเริ่มมีการขยับจากสถานะ “พระรอง” ในอัลบั้ม “80 kisses” มาเป็น “พระเอก” กับเค้าบ้างถึง 5 เพลงด้วย (ส่วนอีก 3 เพลงคือ ดูดี อาวรณ์ และข่าวดี ก็ยังคงเป็นพระรองเหมือนเดิม) อย่างในเพลง​ “เจ้าหนู” ที่มีกลิ่นอายความเป็น City Pop / AOR ที่ชัดที่สุด ก็เป็นบทเพลงที่น่ารักที่เล่าเรื่องของคู่รักที่กำลังนั่งดูอัลบั้มรูปฝ่ายหญิงอยู่และได้เดินทางเข้าไปในความทรงจำเมื่อครั้งที่ทั้งสองยังไม่ได้รู้จักกันพร้อมสะท้อนกลับมายังความสัมพันธ์ในปัจจุบัน “อายุของสาวน้อยที่อยู่ในรูปนี้ ประมาณ 14 ฉันขอบอก ว่าตอนนั้นถ้าเธอกำลังมีแฟน จะไม่ใช่คนที่ดีที่สุด เพราะตอนนี้คนที่ว่าเขากำลังนั่งอยู่ข้างเธอ” ตอนร้องท่อนนี้นะมีร้องแบบแอบใส่เสียงหัวเราะนิด ๆ ไปด้วย ได้อารมณ์ขิงแฟนมาก ๆ ส่วนเพลงฝ่าย “พระรอง” ที่ทำงานกับคนฟังได้ดีมาก ๆ อีกเพลงก็คือ “ข่าวดี”  หนึ่งในเพลงอารมณ์พระรองที่ซึ้งที่สุดของอัลบั้มนี้ ที่มาพร้อมเนื้อร้องที่บรรยายอย่างเห็นภาพตามสไตล์นะ “มีบ้านเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ตรงระเบียงเธอจะเอาสีขาวทาลงบนนั้น ปลูกต้นไม้มากมาย ได้เอนกายกับคนที่เธอรักอยากมีอยู่ไหม” ตอนเจอท่อนที่ร้องว่า “เป็นหญิงและชายอย่างละคนยังอยากให้เป็นชื่อเดิม ที่เคยตั้งไว้หรือเปล่า” แทบไม่ต้องบอกว่าความสัมพันธ์ของเรานั้นเป็นอย่างไร ลึกซึ้งแค่ไหน ถึงแม้วันนี้จะไม่ได้ร่วมเดินไปด้วยกัน แต่เราก็มีความสุขที่สุดจากหัวใจที่เห็นเธอมีความสุข อารมณ์ร็อกที่ใส่เข้ามาในเพลงนี้ช่วยให้ท่วงทำนองของเพลงขับอารมณ์ข้างในออกมาได้เป็นอย่างดียิ่งเจอท่อนโซโลคู่แซ็กโซโฟน-กีตาร์นี่คือสุดจริง ๆ 

‘Pillow War’ ของ Polycat ให้สัมผัสที่อิ่มใจเมื่อได้ฟังจากทุกท่วงทำนองที่ไพเราะและเรื่องราวที่ฉายภาพขึ้นมาในความรู้สึก หากเลือกที่จะฟังก่อนนอนอัลบั้มนี้ก็เหมือนหมอนที่ช่วยให้เรานอนหลับสบาย หากฟังในระหว่างวันมันก็จะเป็นท่วงทำนองอันงดงามที่เป็นพลังให้เรามีความสุขในทุกจังหวะของชีวิต

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส