เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา เพิ่งเป็นวันครบรอบการจากไปของ เคิร์ต โคเบน (Kurt Cobain) ฟรอนต์แมนแห่งวง Nirvana ที่เสียชีวิตไปในปี 1994 ด้วยวัยเพียง 27 ปี ถึงกาลเวลาจะผ่านไปเกือบ 30 ปีแล้ว แต่ตำนานของโคเบนและบทเพลงของวง Nirvana ก็ยังคงก้องสะท้อนอยู่ในโสตประสาทของเราเสมอมา รวมไปถึงเหล่าบรรดาศิลปินที่จากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควรทิ้งร่างกายและบทเพลงอันทรงคุณค่าเอาไว้ในวัยเพียง 27 ปีไม่ว่าจะเป็นตำนานแห่งวงการกีตาร์ จิมิ เฮนดริกซ์ (Jimi Hendrix), ตำนานแห่งวงการไซคีเดลิกร็อก จิม มอร์ริสัน (Jim Morrison) แห่งวง The Door หรือว่านักร้องสาวเสียงเปี่ยมเสน่ห์ เอมี ไวน์เฮาส์ (Amy Winehouse) และอีกมากมาย

เราคงทำได้แค่สงสัยอยู่ในใจว่าหากศิลปินเหล่านี้ยังคงมีชีวิตอยู่ ตอนนี้พวกเขาจะสร้างสรรค์ผลงานอะไรดี ๆ ออกมาอีกบ้าง และเราเองก็คงได้แต่เสียดายที่ไม่มีโอกาสจะได้ฟังงานเพลงใหม่ ๆ จากศิลปินเหล่านี้อีกแล้ว แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างน่าตื่นเต้น ด้วยความฉลาดล้ำของเหล่า AI ในที่สุดดูเหมือนว่าเรากำลังจะได้ฟังเพลงใหม่ของศิลปินเหล่านี้ซะแล้ว

ล่าสุดได้มีองค์กรหนึ่งได้สร้างสรรค์ “บทเพลงใหม่” ในสไตล์ของวง Nirvana ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ที่ผลลัพธ์ออกมาน่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งทั้งสไตล์ดนตรีและการเขียนเนื้อร้องนั้นราวกับถอดวิญญาณออกมาจากวง Nirvana เลยจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นริฟฟ์กีตาร์ที่ชวนให้คิดถึงเพลง “Come as You Are” หรือว่าเพลง “Scoff” จากอัลบั้มเดบิวต์ ‘Bleach’ ส่วนเนื้อเพลงจากในท่อนร้องที่ร้องว่า “The sun shines on you but I don’t know how” หรือท่อนคอรัสสุดดิ่ง “I don’t care/I feel as one, drowned in the sun” ก็ทำให้คิดถึงผลงานเปี่ยมเสน่ห์จากปลายปากกาของโคเบนเลยจริง ๆ ส่วนเสียงร้องนั้นได้เอริค โฮแกน (Eric Hogan) ฟรอนต์แมนของวงที่เล่นทริบิวต์วง Nirvana มาเป็นคนร้องให้ ยิ่งทำให้ได้อารมณ์ในแบบฉบับของ Nirvana เข้าไปใหญ่

https://www.youtube.com/watch?v=L9yTuO7d1rk

บทเพลงที่กล่าวถึงนี้มีชื่อว่า “Drowned in the Sun” (จมน้ำตายภายใต้ดวงตะวัน) อันเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์ “Lost Tapes of the 27 Club” ที่จะมีการทำเพลงขึ้นมาใหม่ทั้งเนื้อร้องและท่วงทำนองในสไตล์ของศิลปินใน 27 Club (เหล่าศิลปินที่เสียชีวิตไปด้วยวัย 27 ปี) ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นฝีมือจากปัญญาประดิษฐ์ทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญต่อการเยียวยาผู้มีภาวะซึมเศร้าด้วยการทำให้เราเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่าจะเป็นอย่างไรหากศิลปินเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่หากได้รับการเยียวยาจากภาวะซึมเศร้า

แต่ละแทร็กที่ถูกเขียนขึ้นมานั้นเกิดจากการประมวลผลของ AI ที่ได้รับข้อมูลป้อนเข้ามาเป็นบทเพลงจำนวน 30 เพลงจากแต่ละศิลปินและแยกส่วนเป็นพาร์ตต่าง ๆ  โดยระบบจะทำการศึกษาเมโลดี้ร้อง การเปลี่ยนคอร์ด กีตาร์ริฟฟ์และโซโล รูปแบบกลอง รวมไปถึงเนื้อร้อง เพื่อทำการประมวลผลว่าการเรียบเรียงบทเพลง “ใหม่” ของศิลปินเหล่านี้ควรจะเป็นเช่นไร โปรเจกต์นี้เป็นผลงานภายใต้องค์กร “Over the Bridge” ในโตรอนโตที่ช่วยเหลือบรรดาสมาชิกที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีที่กำลังต่อสู้อยู่กับความเจ็บป่วยทางจิต

“จะเป็นอย่างไรหากนักดนตรีที่เรารักได้รับการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต” นี่คือคำถามตั้งต้นของโครงการนี้จาก ฌอน โอคอนเนอร์ (Sean O’Connor) คณะกรรมการบริหารของ Over the Bridge และผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของบริษัทเอเจนซีโฆษณานามว่า Rethink “อย่างไรก็ตามในอุตสาหกรรมดนตรี ภาวะซึมเศร้าได้ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติและถูกโรแมนติไซส์จนทำให้มองว่าเพลงอันยอดเยี่ยมของพวกเขาคือผลพวงจากความทุกข์ทรมาน”

ในการสร้างสรรค์บทเพลงโอคอนเนอร์และทีมงานของเขาได้ใช้โปรแกรม AI ของ Google ที่มีชื่อว่า “Magenta” ซึ่งเรียนรู้วิธีการแต่งเพลงในสไตล์ของศิลปินที่กำหนดไว้โดยจะทำการวิเคราะห์ผลงานเพลงของพวกเขา ก่อนหน้านี้เคยมีการใช้ AI ในการแต่งเพลงมาบ้างแล้วเช่น Sony ที่ใช้ซอฟต์แวร์ในการสร้างเพลงของ The Beatles ขึ้นมาใหม่ หรือวงอิเล็กโทรพอป ‘Yatch used it’ ก็ใช้ AI ในการทำเพลงจากอัลบั้ม Chain Tripping ในปี 2019

ซอฟต์แวร์อัจฉริยะ Magenta

สำหรับโครงการ Lost Tapes โปรแกรม Magenta จะทำการวิเคราะห์เพลงของศิลปินที่ถูกป้อนเข้ามาในรูปแบบของไฟล์ MIDI ซึ่งทำงานคล้ายกับการคีย์ MIDI บนแป้นคีย์บอร์ด โดยการแปลระดับเสียงและจังหวะให้เป็นรหัสดิจิทัลที่สามารถป้อนผ่านซินธิไซเซอร์เพื่อสร้างเพลงใหม่ หลังจากตรวจสอบแต่ละตัวเลือกโน้ตของศิลปิน รวมไปถึงจังหวะดนตรีและการเลือกใช้ฮาร์โมนีจากไฟล์ MIDI แล้ว คอมพิวเตอร์จึงสร้างเพลงใหม่ออกมาซึ่งทีมงานสามารถเข้าไปจัดการเพื่อเลือกช่วงที่ดีที่สุดได้

“ยิ่งคุณใส่ไฟล์ MIDI มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี” โอคอนเนอร์กล่าว

“เราจึงใช้ข้อมูลกว่า 20 ถึง 30 เพลงจากศิลปินแต่ละคนของเราเป็นไฟล์ MIDI และแยกย่อยออกเป็นท่อนฮุค โซโลเสียงร้อง ทำนองเพลง หรือจังหวะกีตาร์และใส่เพลงเหล่านั้นทีละเพลง ถ้าคุณใส่ทั้งเพลงโปรแกรมจะสับสนมากว่าเสียงที่ออกมานั้นควรจะเป็นอย่างไร อีกทั้งยังจับจุดที่น่าสนใจได้แค่เพียงเล็กน้อย”

โอคอนเนอร์และทีมของเขาใช้กระบวนการที่คล้ายกันสำหรับเนื้อเพลงโดยใช้โปรแกรม AI ที่เรียกว่าโครงข่ายประสาทเทียม ซึ่งพวกเขาสามารถป้อนเนื้อเพลงของศิลปินและเริ่มต้นเพลงจากคำไม่กี่คำและจากนั้นโปรแกรมจะคาดเดาจังหวะและโทนของเนื้อเพลงและแต่งมันจนเสร็จ “มันเป็นการลองผิดลองถูกอย่างมาก” โอคอนเนอร์กล่าวพร้อมเสริมว่าทีมงานทำงานอย่างหนักเพื่อตรวจสอบเนื้อเพลงเป็นหลาย ๆ  หน้าเพื่อหาการเปลี่ยนวลีที่สอดคล้องกับเสียงร้องจากท่วงทำนองที่โปรแกรม Magenta สร้างขึ้นมา

https://www.youtube.com/watch?v=jh3dNJIYO2M

“Man, I Know” (บทเพลงในสไตล์ของเอมี ไวน์เฮาส์)

เมื่อในส่วนของการเรียบเรียงดนตรีเป็นอันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ในส่วนต่อมาทีมงานก็มีงานคัดเลือกนักร้องที่จะมาปลุกวิญญาณของศิลปินแต่ละคน ซึ่งนักร้องส่วนใหญ่ที่เข้ามาร่วมงานจะเป็นคนที่เล่นทริบิวต์วงหรือศิลปินเหล่านั้นอยู่แล้ว ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นน่าตื่นใจมาก ๆ ฟังดูราวกับว่าศิลปินคนนั้นมาร้องด้วยตัวเองเลยอย่าง เอริค โฮแกน นั้นก็เล่นให้กับวง NEVERMIND ซึ่งเป็นวงที่เล่นบริบิวต์งานของ Nirvana มาเป็นเวลากว่า  6 ปี ซึ่งเริ่มต้นจากความสนุกสนานเพียงครั้งเดียวในงานวันฮัลโลวีน ในวันนั้นโฮแกนและเพื่อน ๆ ได้เล่นเพลงของวงร็อกรุ่นเก๋าวงอื่นอีกอาทิ Foo Fighters และ Stone Temple Pilots แต่เมื่อพวกเขาเล่นเพลงของ Nirvana ค่ำคืนนั้นก็เดือดกันอย่างเมามันส์ เสียงตอบรับที่ดีในคืนนั้นก็เลยทำให้พวกเขาตัดสินใจที่จะเล่นเพลงของวง Nirvana ตั้งแต่นั้นมา เมื่อทีม Over the Bridge ขอให้โฮแกนร้องเพลง “Drowned in the Sun” เขาคิดว่าโปรเจกต์นี้มันน่าเหลือเชื่อและเจ๋งมาก ๆ “หลังจากพูดคุยกันเสร็จผมก็ยังไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องจริง” โฮแกนกล่าว “แล้วพวกเขาก็ส่งไฟล์และเงินมาให้ผม”

เอริค โฮแกน ผู้ให้เสียงร้องในเพลง Drowned in the Sun
วง NEVERMIND

เมื่อโฮแกนได้ยินดนตรีครั้งแรกเขาก็รู้สึกตกตะลึง “ผมไม่รู้ว่าผมควรจะร้องมันยังไง ผมจะต้องพึมพำและครวญเพลงไปกับเสียงดนตรีที่มาจาก AI ผมรู้สึกแปลก ๆ เมื่อลองคิดว่า โคเบนจะร้องอะไรแบบไหน พวกเขาจะต้องกำหนดแผนงานให้ผมสักหน่อยแล้วจากตรงนั้น มันก็โอเคแล้วล่ะ”

ในกระบวนการทั้งหมดมีขั้นตอนของการตามหาแฟนพันธุ์แท้ของศิลปินเพื่อมาช่วยตรวจสอบว่าผลงานที่ออกมานั้นคล้ายคลึงกับงานต้นฉบับจนเกินไปจนดูคล้ายกับ “ขโมย” งานของศิลปินเหล่านั้นหรือไม่ อย่างตอนแรกในเพลง “The Roads Are Alive” ที่ทำออกมาในสไตล์ของวง The Doors ทางทีมงานก็มีความกังวลใจว่ามันฟังดูคล้ายกับเพลง “Peace Frog” แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจได้ว่ามันไม่เหมือนกันเสียทีเดียว “วิศวกรเสียงคนหนึ่งเปิดเพลง “Peace Frog” ให้เราฟัง” โอคอนเนอร์กล่าว “แล้วเขาก็บอกว่า ‘นี่คือสิ่งที่ Peace Frog ทำ ส่วนนี่คือสิ่งที่เราทำ’ มันแตกต่างกัน โอเคตอนนี้เราสบายใจได้แล้วล่ะ”

https://www.youtube.com/watch?v=xW6_QAcujr8

“The Roads Are Alive” (บทเพลงในสไตล์ของวง The Doors)

จากการทำงานในโครงการนี้พบว่า Nirvana เป็นหนึ่งในศิลปินที่ยากเย็นที่สุดสำหรับปัญญาประดิษฐ์ที่จะสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้มีความเป็นสไตล์ของวง ในขณะที่ศิลปินอย่างจิมิ เฮนดริกซ์ มักจะสร้างสรรค์บทเพลงอย่าง “Purple Haze” และ “Fire” ด้วยริฟฟ์ง่าย ๆ แต่โคเบนมักเล่นคอร์ดที่เป็นก้อนและแตกพร่าทำให้คอมพิวเตอร์เกิดความสับสน “คุณมีแนวโน้มที่จะได้รับเสียงแบบ Wall of Sound (ซาวด์ที่มีความหนาแน่น เป็นหลาย ๆ ชั้น)” โอคอนเนอร์กล่าวถึงการทำงานของ Magenta ในการสร้างเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Nirvana “มันมีองค์ประกอบที่สามารถระบุได้น้อยมากจากงานเพลงทั้งหมดของพวกเขาเพื่อที่จะทำให้คุณมีแคตตาล็อกชิ้นใหญ่ที่ระบบสามารถเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จากมันได้”

“ [Drowned in the Sun] มีความแม่นยำเพียงพอที่จะทำให้คุณได้รับความรู้สึกแบบ Nirvana แต่ไม่ถูกต้องแม่นยำขนาดที่ว่าจะทำให้คุณได้รับจดหมายเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา” โฮแกนกล่าว “ถ้าคุณดูจากเพลงสุดท้ายที่โคเบนและ Nirvana ได้บันทึกเสียงไว้ก่อนการเสียชีวิตของเขา “You Know You’re Right” คุณจะพบว่ามันมีกลิ่นอายในแบบเดียวกัน เคิร์ตจะเขียนในสิ่งที่เขารู้สึกอยากจะเขียนในเวลานั้นออกมา และถ้าเขาชอบมัน นั่นล่ะมันจะกลายเป็นเพลงของ Nirvana ผมได้ยินบางสิ่งเหล่านั้นในเพลง Drowned in the Sun  ‘ตรงนั้นมันเป็นบรรยากาศแบบอัลบั้ม In Utero ใช่ไหม’ ‘หรือตรงนี้มีกลิ่นอายของ Nevermind นี่นา’ …ผมเข้าใจความเป็น AI ของมันจริง ๆ”

โฮแกนกล่าวว่าเขาชื่นชอบเนื้อเพลงที่คอมพิวเตอร์แต่งขึ้นเป็นพิเศษ ในความเห็นของเขา ถ้อยคำของโคเบนมักจะ “มีความผสมปนเปกัน” แต่เขารู้สึกว่าเนื้อเพลงเหล่านี้มีความตรงไปตรงมามากขึ้นโดยไม่คลาดเคลื่อนไปจากถ้อยความที่กลั่นออกมาจากโคเบน “มันให้ความรู้สึกเหมือนกับเป็นความคิดที่สมบูรณ์แล้ว” โฮแกนกล่าว “อย่างในเพลงนี้ที่ร้องว่า  ‘I’m a weirdo, but I like it’ นั่นคือความเป็นเคิร์ต โคเบน เลยจริง ๆ ความรู้สึกเป็นสิ่งที่เขาอยากจะพูดออกมา ‘The sun shines on you, but I don’t know how’  นี่มันเยี่ยมมากเลย สารที่ผมได้รับจากเพลงนี้เลยก็คือ ‘ผมกำลังเบื่อออและคุณก็เบื่อออเหมือนกัน แต่แตกต่างกันคือผมรับมันได้แต่คุณไม่ได้เป็นเช่นนั้น’ ” ดังนั้น “Drowned in the Sun” จึงคล้าย ๆ กับเป็นการสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่เหมือนในเรื่องแฟรงเกนสไตน์ซึ่งคล้ายกับเป็นการท้าทายงานของพระผู้เป็นเจ้าและความเป็นไปในจักรวาล “ผมไม่รู้ว่าผมเป็นคนที่ดีที่สุดที่จะคุยเรื่องจริยธรรมด้วยรึเปล่า” โฮแกนกล่าวพร้อมกับหัวเราะ “ผมหมายความว่าผมเองเดินทางไปทั่วประเทศโดยแสร้งว่าเป็นใครบางคน [เคิร์ต โคเบน] อยู่เหมือนกัน”

https://www.youtube.com/watch?v=oIoCVX6F30E

“You’re Gonna Kill Me” (บทเพลงในสไตล์ของจิมิ เฮนดริกซ์)

“ผมคิดว่าจะต้องมีคนจำนวนมากที่จะมองสิ่งนี้ในแง่ร้ายและบอกว่า ‘โอ้นี่มันคือการตายของดนตรีจริง ๆ เสียแล้ว’ โฮแกนกล่าวต่อ “แต่ผมโอเคกับมันนะ หากใช้มันเป็นเครื่องมือในการทำเพลงผมว่ามันเจ๋งเลยทีเดียวล่ะ ผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเกี่ยวกับเรื่องข้อกฎหมายในอนาคตรึเปล่า แต่เมื่อคุณเริ่มเดินทางไปแล้วจนถึงจุดที่มันดูดีเลยทีเดียว มันก็ย่อมจะต้องมีประเด็นถกเถียงถึงมันเป็นธรรมดา”

ความตั้งใจของ Over the Bridge คือเพียงแค่สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพจิต องค์กรนี้ได้ดำเนินการเปิดเพจเฟซบุ๊คที่ให้การสนับสนุนตลอดจนการพูดคุยผ่านซูมและทำเวิร์กช็อปเพื่อให้ความรู้กับศิลปินและทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง (และ Over the Bridge ก็ไม่ได้มีแผนจะทำเพลงเพื่อขาย) “ในบางครั้งแค่เพียงได้รับรู้ความรู้สึกจากใครสักคนว่า ‘ฉันก็กำลังรู้สึกแบบเดียวกับที่คุณเป็น’ แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้คนอื่นรู้สึกว่าพวกเขากำลังได้รับการซัปพอร์ตอยู่” ไมเคิล สคริเว่น (Michael Scriven) ตัวแทนของ Lemmon Entertainment และ CEO ในคณะกรรมการบริหารของ Over the Bridge กล่าว

ในขั้นตอนการทำเพลงของโครงการนี้ “มีมือมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องในจำนวนไม่มากนักตั้งแต่ตอนเริ่มต้น ตอนกลาง และในท้ายที่สุด” สคริเว่นกล่าว “หลายคนอาจคิดว่า [AI] กำลังจะเข้ามาแทนที่นักดนตรีในบางจุด แต่ ณ จุดนี้เราต้องการคนมาร่วมงานเพื่อพาเพลงเหล่านี้ไปสู่จุดที่เราสามารถฟังมันได้ซึ่งนั่นมีความสำคัญมากทีเดียว” แต่ละเพลงต้องอาศัยการทำงานของโอคอนเนอร์ ช่างเทคนิค Magenta โปรดิวเซอร์เพลง วิศวกรเสียง และเหล่านักร้อง “เราจะไม่เพียงแค่กดปุ่มและทำทุกอย่างแทนที่ศิลปินเหล่านี้” โอคอนเนอร์กล่าว “ผมหวังว่าทีม Over the Bridge จะพัฒนา AI ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก” โฮแกนกล่าว “มันยังมีอะไรอีกมากมายที่พวกคุณทำได้”

Source

Rollingstone

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส