ถ้าเอ่ยถึงคำว่า “สอบสวน” หรือ “สอบปากคำ” ภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวของหลาย ๆ คนน่าจะเป็นภาพเชลย หรือ ผู้กุมความลับโดนใส่กุญแจมือในห้องมืด ๆ มีโคมไฟตั้งโต๊ะส่องหน้า ผู้สอบปากคำทำหน้าเครียด เสียงดุ คาดคั้นให้อีกฝ่ายเผยข้อมูลที่ต้องการ ถ้าอีกฝ่ายยังยืนกรานปฏิเสธ หรือตอบว่าไม่รู้ ก็จะโดนทำร้ายทุบตี เหล่านี้ล้วนเป็นภาพจำที่เรารับมาจากหนังฮอลลีวูด ซึ่งก็ไม่แน่ว่าการสอบปากคำด้วยวิธีการโหดร้ายเช่นนี้ จะได้ข้อมูลที่เป็นความจริงเสมอไปหรือไม่ เพราะผู้ถูกกระทำอาจจะตอบอะไรไปก่อนก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกประทุษร้ายต่อไป

ฮานส์ ชาร์ฟ กับลูกสาว

แต่ที่จริงแล้ว การสอบปากคำเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการนั้น อาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการรุนแรงเสมอไป แล้วที่สำคัญ มักจะสำเร็จกว่าการใช้วิธีการรุนแรงเสียด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของ ฮานส์ ชาร์ฟ (Hanns Scharff) เจ้าหน้าที่สอบปากคำของกองทัพเยอรมัน ผู้ที่ได้รับการยกย่องในเวลาต่อมาว่าเป็น ปรมาจารย์แห่งการสอบปากคำ ผู้มีเทคนิคเฉพาะตัว และเทคนิคของเขาก็กลายเป็นหลักสูตรที่เจ้าหน้าที่สอบปากคำทั่วโลกยึดถือเป็นต้นแบบต่อกันมาจวบจนปัจจุบัน เรามาทำความรู้จักกับตัวตนและเรื่องราวของ ฮานส์ ชาร์ฟ กันครับ

ฮานส์เกิดใน ปรัสเซียตะวันออก เมื่อปี 1907 ปัจจุบันกลายเป็นประเทศโปแลนด์ไปแล้ว พ่อของเขาเป็นทหารในกองทัพ และเสียชีวิตในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างถูกส่งไปรบแนวหน้า แต่วีรกรรมของพ่อก็ได้รับ ตราเกียรติยศ กางเขนเหล็ก ถึง 2 ครั้ง นับเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว

ฮานส์ ชาร์ฟ ในช่วงเป็นเจ้าหน้าที่สอบสวน

ส่วนแม่ของฮานส์นั้น เธอมาจากตระกูลร่ำรวย เป็นเจ้าของโรงงานทอผ้ายักษ์ใหญ่ในเยอรมนี นั่นจึงทำให้ฮานส์เติบโตมาในคฤหาสน์หลังโตของครอบครัวในเมือง ไลป์ซิก ในช่วงวัยเด็กนั้น ฮานส์ถูกปลูกฝังให้ร่ำเรียนทางด้านศิลปะ ขณะเดียวกันก็ฝึกงานในโรงงานไปด้วย เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าและการทอ แต่สุดท้าย พี่ชายของเขาก็รับช่วงบริหารธุรกิจโรงงานสืบต่อจากคุณตา ฮานส์จึงหันเหไปทำงานประจำที่ Alder Automotive บริษัทสัญชาติเยอรมัน แต่ก็ถูกส่งไปประจำที่สาขา โยฮานเนสเบิร์ก ในแอฟริกาใต้

ฮานส์รับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้เขาคาดฝันไปว่า เขาน่าจะได้อยู่โยฮานเนสเบิร์กแค่ปีเดียว แล้วน่าจะถูกเรียกตัวกลับไปรับตำแหน่งเป็น หัวหน้าฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ แต่แล้วก็ฝันสลาย ฮานส์ต้องอยู่ในโยฮานเนสเบิร์กต่อไปอีก 10 ปี

มากาเร็ต ภรรยาของ ฮานส์ ชาร์ฟ

แต่ในช่วงที่อยู่ในโยฮานเนสเบิร์กนั้น ก็ทำให้เขาพบรักกับ มากาเร็ต สาวอังกฤษ และต่อมาก็ได้เป็นภรรยาของเขา และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฮานส์พูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว

ในปี 1939 ฮานส์ได้พาครอบครัว ภรรยา ลูกชาย 4 คน และลูกสาว 1 คน บินกลับมาเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องในไลป์ซิก แต่ช่วงที่ยังอยู่ในไลป์ซิกนั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้นพอดี ทำให้เขาต้องติดอยู่ในเยอรมนีต่อไป เพราะพรมแดนถูกสั่งปิด ความซวยมาเยือน ฮานส์ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร และมีแนวโน้มว่าจะถูกส่งไปรบแนวหน้า ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าถ้าเมื่อใดถูกส่งไปแนวหน้า ก็ทำใจได้เลยว่าโอกาสที่จะได้กลับมานั้นน้อยมาก พอรู้แบบนี้ มากาเร็ตก็ทำใจไม่ได้ เธอวิ่งเต้นหาทางช่วยเหลือสามีทุกวิถีทาง ในที่สุดเธอก็ได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับท่านนายพลได้ เธอบอกกับนายพลว่า ฮานส์นั้นเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ สมควรที่จะได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้จากเขา แทนที่จะส่งไปรบแนวหน้า นายพลฟังแล้วเห็นชอบด้วยตามนั้น จึงออกคำสั่งย้ายฮานส์ไปอยู่ หน่วยล่าม (interpreter unit)

เมืองโอเบอเรเซล (Oberursel.) ในปัจจุบัน

แต่เมื่อมาอยู่หน่วยนี้แล้ว หน้าที่ที่ฮานส์ได้รับมอบหมาย ก็เป็นงานเอกสารระดับล่าง ส่วนใหญ่คืองานเจาะรูข้างเอกสาร เพื่อนำไปใส่แฟ้ม ซึ่งเป็นงานที่น่าเบื่อสุด ๆ ถึงขั้นฮานส์ต้องไปรายงานกับผู้บังคับบัญชาว่า ตำแหน่งหน้าที่ของเขานั้นสิ้นเปลืองมาก ต้นทุนแต่ละรูที่เขาเจาะไปนั้น ก็ประมาณรูละหนึ่งเพนนีเลยเชียว แม้ผู้บังคับบัญชาจะรับฟังความเห็นจากฮานส์แล้วจะไม่ชอบทัศนคติของเขา แต่ก็เล็งเห็นว่าฮานส์นั้นมีไหวพริบเฉลียวฉลาด ซึ่งควรจะใช้ประโยชน์จากข้อดีตรงนี้ จึงตัดสินใจส่งฮานส์ไปประจำใน ‘หน่วยสอบปากคำ’ (interrogation center) อยู่ในเมือง โอเบอเรเซล ทางตอนเหนือของแฟรงค์เฟิร์ต เชลยที่เป็นเหล่านักบินของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ถูกจับได้จากแนวชายแดนตะวันตก จะต้องถูกส่งตัวมาสอบสวนที่หน่วยนี้เป็นอันดับแรก

งานแรกของฮานส์ก็คือ ตำแหน่งผู้ช่วยของเจ้าหน้าที่สอบสวน ในส่วนงานสอบสวนนักบินอเมริกัน เชลยส่วนใหญ่ที่ถูกส่งมามักจะเป็นนักบินในกองบินที่ 8 และ 8 ของสหรัฐฯ ระหว่างที่ประจำการอยู่ที่นี่ ฮานส์ไม่เคยได้รับการฝึกจากเจ้าหน้าที่สอบสวนแต่อย่างใด เขาอาศัยการสังเกตประกอบกับวิจารณญาณเรียนรู้ด้วยตัวเอง จนถึงวันที่เขาได้รับหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สอบสวน และด้วยเทคนิควิธีการเฉพาะตัวที่ได้ผลสัมฤทธิ์ยิ่งนัก ฮานส์ก็กลายเป็นเจ้าหน้าที่สอบสวนที่มีผลงานดีเลิศที่สุดในหน่วย เพราะฮานส์รู้ว่าเขาควรจะใช้เทคนิคจำเพาะแบบไหนกับเชลยแต่ละคน แล้วก็ทำสำเร็จได้ข้อมูลที่ต้องการเกือบทุกคนที่เขาสอบสวน และเทคนิคเฉพาะตัวของฮานส์นั้น เป็นไปโดยปราศจากความรุนแรง เขาไม่เคยต้องทรมานเชลย ไม่เคยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ใด ๆ

แต่เทคนิคจำเพาะของฮานส์นั้นคือ ‘ความเป็นมิตร’ วิธีการที่ฮานส์ใช้บ่อยและสำเร็จที่สุด คือพาจำเลยไปเดินเล่นในป่า ซึ่งวิธีการนี้ล่ะ ที่เชลยแต่ละคนหลุดเผยข้อมูลสำคัญมาแบบไม่รู้ตัว

ฮานส์จะเริ่มต้นจากการเข้าไปตีสนิทกับเป้าหมาย เขาจะค่อย ๆ ทำให้เชลยรู้สึกไว้ใจว่าเขาคือทหารนาซีเพียงคนเดียวที่เป็นเพื่อนและพูดคุยได้เสมอ ระหว่างนั้นฮานส์ก็จะศึกษาข้อมูลส่วนตัวของเป้าหมายไปด้วย พอพูดคุยไปด้วย ฮานส์ก็จะค่อย ๆ คืบคลานลึกลงไปทีละนิด เอ่ยว่าเขาอยากรู้ข้อมูลส่วนตัวเพิ่มอีกเล็กน้อยเช่น หมายเลขประจำตัว และลำดับยศ ถ้าเพียงเชลยเป้าหมายเปิดเผยข้อมูลเล็กน้อยเหล่านี้ก็จะได้รับการปฏิบัติในฐานะ เจ้าหน้าที่สอดแนม ความเป็นอยู่ก็จะสบายขึ้น แทนที่จะถูกปฏิบัติในฐานะเชลยศึกที่ต้องลำบากอย่างเช่นทุกวันนี้

อีกเทคนิคที่ฮานส์ชอบใช้คือ ‘การตีเนียน’ เขาจะชวนคุยนู่นนี่ไปเรื่อย ๆ แล้วก็ทำเนียน ๆ หลอกล่อให้เชลยยืนยันเรื่องที่ทางกองทัพเยอรมันได้รู้มาก่อนแล้ว จุดมุ่งหมายหมายของฮานส์ก็คือ ต้องการคำยืนยันจากเชลยว่าข้อมูลที่ได้รับรู้มานั้นถูกต้องแล้ว ในขั้นตอนนี้ฮานส์ก็อาจจะได้ของแถมคือข้อมูลเพิ่มเติมที่ทางฝ่ายเยอรมันไม่เคยรู้มาก่อนอีกด้วย

วิธีการล่อหลอกตีเนียนของฮานส์นั้น เขาจะชวนเชลยไปเดินเล่นในป่า เขาขอให้เชลยยืนยันด้วยเกียรติทหารว่าจะไม่หลบหนีระหว่างเดินเล่นนี้ แล้วจะได้ไปเดินกันสบาย ๆ สองคน โดยที่ไม่ต้องมีทหารคุ้มกันตามมาด้วย แล้วฮานส์ก็ได้รับเกียรตินั้นจริง ๆ ไม่เคยมีเชลยพยายามหลบหนีระหว่างที่ไปเดินเล่นกับเขาสักคนเดียว ระหว่างที่เดินกันไปนั้น ฮานส์ก็ชวนคุยเรื่องราวสงครามบ้าง สัพเพเหระบ้าง แล้วก็แอบแทรก ๆ ถามถึงหน่วยที่เชลยเคยประจำการอยู่ เช่นใครเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยนั้น

Tracer Rounds กระสุนนำวิถี

แล้วทีเด็ดของฮานส์ก็คือ แกล้งเอ่ยข้อมูลบางอย่างออกมาผิด ๆ พอเชลยได้ยินก็จะแย้งด้วยการบอกข้อมูลที่ถูกต้องแทน ที่จริงคือแบบนั้นแบบนี้ต่างหาก เท่ากับเป็นการเผยข้อมูลสำคัญโดยที่ตัวเชลยเองไม่ทันรู้ตัว อย่างเช่น กองทัพเยอรมันเริ่มสังเกตเห็นว่า กระสุนนำวิถีของทหารสหรัฐฯ มี 2 สี คือสีขาว และ สีแดง (tracer rounds กระสุนปืนกล ในหนึ่งสาย 200 นัดจะมีกระสุนนำวิถี 40 นัด เป็นกระสุนเรืองแสง เพื่อให้ผู้ยิงมองเห็นทิศทางเป้าหมายที่ยิงไป) ฮานส์ก็แกล้งพูดไปตามที่เขาคาดเดาว่า ที่มันมี 2 สี นั้นอาจจะเป็นเพราะความผิดพลาดทางเคมีละมั้ง เชลยก็รีบแก้ข้อมูลให้ว่า กระสุนนำวิถีนั้นจะสีแดง แต่ที่เห็นสีขาวนั้นคือสัญญาณบอกว่ากระสุนใกล้หมดแล้ว

ตลอดช่วงเวลาที่ฮานส์ทำหน้าที่ ‘ผู้สอบสวน’ นั้น เขาสอบปากคำเชลยไปทั้งสิ้น 500 นาย ล้วนเป็นนักบินรบทั้งสิ้น เขาได้ข้อมูลเกือบทุกนาย พลาดไปแค่ 20 นายแค่นั้น

ฮานส์ ชาร์ฟ ในที่มาอยู่ในสหรัฐฯ แล้ว

ความเป็นมิตรที่ฮานส์มอบให้กับเชลยของเขานั้น ไม่ได้คงอยู่เพียงแค่ระหว่างทำหน้าที่เท่านั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ฮานส์ก็ยังคงสานสัมพันธ์กับเชลยของเขาด้วยดีเสมอมา หนึ่งในนั้นคือ ผู้พัน ฮิวเบิร์ต เซมเก้ (Hubert Zemke) ที่พูดถึงอดีตตอนที่ถูก ฮานส์ ชาร์ฟ สอบสวนว่า
“ข้อมูลที่เขาได้จากผมไปน่ะเหรอ ผมไม่ระแคะระคายเลยว่าเขาได้ข้อมูลบางอย่างจากผมไปแล้ว ผมไม่รู้ตัวเลยแม้แต่นิดเดียว”

Francis Stanley “Gabby” Gabreski

เชลยอีกนายหนึ่งคือ พันโท ฟรานซิส “แก็บบี้” แกเบรสกี้ หนึ่งในนักบินรบอเมริกันที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แกเบรสกี้ผู้นี้แหละที่รักษาสัมพันธภาพที่ดีกับฮานส์ต่อเนื่องมากว่า 50 ปี เขาเป็นเพียงเชลยไม่กี่คนที่ไม่หลุดเผยข้อมูลใด ๆ ให้กับฮานส์เลย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ในปี 1948 เขาได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ทำหน้าที่สอบสวน มาร์ติน มอนตี้ (Martin Monti) นักบินสหรัฐฯ ผู้แปรพักตร์ไปเข้ากับกองทัพเยอรมัน ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังเสร็จสิ้นภารกิจนี้ ฮานส์ก็ตัดสินใจลงหลักปักฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกาต่อไป

หนังสือ The Interrogator: The Story of Hanns Scharff, Luftwaffe’s Master Interrogator

เทคนิคอันแยบยลของฮานส์ กลายเป็นหลักสูตรที่ใช้ในวงการทหารและในหลายหน่วยงานของรัฐบาล ปี 1978 มีการตีพิมพ์หนังสือ The Interrogator: The Story of Hanns Scharff, Luftwaffe’s Master Interrogator ที่เขียนถ่ายทอดเทคนิคต่าง ๆ ของเขาในการสอบสวน และเล่าเรื่องราวส่วนตัวของเขาหลังย้ายมาอยู่ในสหรัฐฯ แล้ว

หลังพำนักอยู่ในสหรัฐฯ ฮานส์ไม่ได้ทำหน้าที่ใด ๆ เกี่ยวกับวงการทหารอีกต่อไปแล้ว เขากลับไปรื้อฟื้นความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปะที่เขาร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็ก กลับมาใช้ประกอบอาชีพอีกครั้ง ฮานส์กลายเป็นศิลปินที่เชี่ยวชาญในการสร้างงานศิลปะจากโมเสค เขาก่อตั้งบริษัทที่รับเหมาโครงการที่เกี่ยวข้องกับการใช้โมเสค ผลงานที่โดดเด่นของฮานส์ก็คือ ปราสาทซินเดอเรลล่า ที่อยู่ในสวนสนุก ดิสนีย์เวิลด์ ในสหรัฐฯ ถ้าใครเคยเข้าไปในปราสาทหลังนี้แล้วก็จะเห็นผนังสูง 5 เมตร ประดับประดาด้วยโมเสคประกอบเป็นภาพเล่าเรื่องราวของซินเดอเรลล่า นี่แหละฝีมือของ ฮานส์ ชาร์ฟ อดีตปรมาจารย์นักสอบปากคำแห่งกองทัพเยอรมัน

ผนังโมเสค เล่าเรื่องราวของซินเดอเรลล่า ในปราสาทที่ดิสนีย์เวิลด์

ฮานส์ ชาร์ฟ จากโลกไปในปี 1992 แต่บริษัทโมเสคของเขายังคงดำเนินการต่อไป ในชื่อบริษัท Scharff and Scharff รับเหมางานติดตั้งโมเสคทั่วโลก เข้าไปดูผลงานเขาบริษัทได้ที่นี่

ฮานส์ ชาร์ฟ ขณะทำงานโมเสค

ในปี 2009 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดตั้งหน่วยงานสอบปากคำชื่อ The High-Value Detainee Interrogation Group ซึ่งยึดถือรูปแบบการสอบปากคำของ ฮานส์ ชาร์ฟ เป็นหลักดำเนินการ แนวทางของฮานส์จึงเป็นข้อยืนยันวลีเก่าแก่ที่ว่า “you can catch more flies with honey than you can with vinegar” ถ้าคุณเลือกใช้น้ำผึ้ง คุณจะได้ข้อมูลมากกว่าจากการใช้น้ำส้มสายชู

ที่มา ที่มา