อ่านชื่อเรื่องแล้วคิดเหมือนกันไหมครับว่าไม่น่าเชื่อ มันมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริง ๆ บนโลกเราด้วยหรือ มนุษย์ทำงานอย่างเรา ๆ จะซื้อที่ดิน ซื้อบ้าน ซื้อรถ ต่อให้ราคาหลักแสนก็ยังต้องได้เห็นจริงได้ลองเยี่ยมชม ได้สัมผัส แต่ทำไมหนอถึงมีคนยอมอนุมัติจ่ายเงินในหลักร้อยล้านให้กับของที่ตัวเองไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้มาดูเลยสักครั้ง

Emmanuel Nwude

ดีลลวงโลกครั้งนี้ถูกยกให้เป็นคดีใหญ่สุดในยุค 90s และจะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ตราบนานเท่านาน ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคดีนี้ก็คือ เอ็มมานูเอล วูด (Emmanuel Nwude) จอมต้มตุ๋นสัญชาติไนจีเรีย ประเทศนี้มีประชากรเก่งเรื่องแบบนี้กันมาก ถ้าใครเคยได้อีเมลบอกว่ามีคนใจบุญไร้ญาติพี่น้อง หรือญาติเราที่ห่างหายไปนานจะส่งมอบมรดกหลักล้านให้ แก๊งที่อยู่เบื้องหลังอีเมลหลอกลวงพวกนี้ก็ถือกำเนิดมาจากไนจีเรียแทบทั้งนั้น

เริ่มต้นแผนการ

ในขณะที่จอมต้มตุ๋นทั่วไปจะเลือกเหยื่อที่เป็นบุคคล หรืออย่างมากหน่อยก็เลือกเจาะจงเอาลุง ๆ ป้า ๆ ที่ดูทีท่าว่าจะมีเงินเก็บ แต่สำหรับเอ็มมานูเอล วูด เขามองการณ์ใหญ่กว่านั้น หลอกเงินจากคนมันจิ๊บจ๊อย ระดับเขาแล้วเป้าหมายของเขาคือธนาคารเลย ทำไมนายวูดถึงคิดการณ์ใหญ่ขนาดนั้น นั่นก็เพราะเขาคืออดีตผู้อำนวยการธนาคาร Union Bank of Nigeria ก็เลยเอาประสบการณ์การทำงานของตัวเองมาเป็นทักษะหากินทางด้านมืดเสียแทน วูดเริ่มต้นด้วยการจัดเตรียมเอกสารมากมายที่ทำให้เขาดูน่าเชื่อถือเสียก่อน ด้วยประสบการณ์ในฐานะผู้อำนวยการธนาคารก็เลยทำให้วูดมีทั้งบุคลิกท่าทางที่ดูน่าเชื่อถือ ภาษาที่ใช้ ลีลาในการพูดจาหว่านล้อมซึ่งรวมแล้วทำให้เหยื่อหลงเชื่อเขาได้อย่างสนิทใจ

ธนาคาร Banco Noroetse

เหยื่อรายใหญ่ของเอ็มมานูเอล วูด ในครั้งนี้ก็คือ ธนาคาร Banco Noroetse ประเทศบราซิล เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองน่าเชื่อถือที่สุด วูดสร้างตัวตนของเขาขึ้นมาใหม่ในชื่อว่า พอล ออกวูมา (Paul Ogwuma) นายคนนี้มีตำแหน่งใหญ่โตเป็นถึง ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศไนจีเรีย เพื่อให้งานนี้ดูสมจริง และสมกับเป็นงานใหญ่ วูดเลยต้องรวบรวมสมัครพรรคพวกมาทำงานกันเป็นทีมถึง 5 คน เมื่อสร้างตัวตนได้อย่างแนบเนียน วูดก็เริ่มขั้นตอนแรกด้วยการติดต่อไปยัง เนลสัน ซาคากูชิ (Nelson Sakaguchi) ผู้อำนวยการธนาคาร Banco Noroetse

Nelson Sakaguchi

สาระใจความที่วูดเสนอให้กับซาคากูชินั้นดูจริงจังน่าเชื่อถือมาก วูดยื่นข้อเสนอว่าประเทศไนจีเรียกำลังยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ และหนึ่งในแผนบูรณาการนี้ก็คือการสร้างสนามบินใหม่ขึ้นที่ อาบูจา เมืองหลวงของประเทศ แต่การจะฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจได้นั้นก็ต้องระดมเงินทุนจากหลาย ๆ แหล่ง และหนึ่งในนั้นที่วูดอยากให้มีส่วนร่วมก็คือธนาคาร Banco Noroetse และจำนวนวงเงินในสัญญานี้ก็คือ 242 ล้านเหรียญ เทียบอัตราเงินเฟ้อจากปี 1995 มูลค่าในปัจจุบันจะประมาณ 14,xxx ล้านบาทเลยเชียว

แต่ประเด็นสำคัญมันอยู่ตรงข้อเสนอนี้สิครับ เมื่อวูดเอ่ยกับชาคากูชิว่า ถ้าเขาสามารถผลักดันการลงทุนนี้ได้สำเร็จ เขาจะได้เงินทอนกลับเข้ากระเป๋าตัวเองถึง 10 ล้านเหรียญเลยเชียว นี่ล่ะคือวลีเด็ดที่เรียกความสนใจชาคากูชิได้สำเร็จ ชาคากูชิตอบตกลงทันที สรุปข้ามไปเลยแล้วกันว่า ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 1995 จนถึงปี 1998 ชาคากูชิโอนเงินให้วูดไปแล้ว 191 ล้านเหรียญ ยังคงเหลืองวดสุดท้ายอีก 51 ล้านเหรียญ

แผนแตก

ทุกอย่างก็เดินหน้าไปอย่างหวานหมูแล้วเชียว มีธนาคารส่งเงินมาให้ใช้เรื่อย ๆ ตลอด 3 ปี โดยไม่มีใครมาดูความคืบหน้าของโครงการเลยสักคนเดียว แต่แล้วแผนการของวูดก็ดันมาสะดุดจนได้เมื่อธนาคาร Banco Santander ของประเทศสเปนเข้ามาซื้อกิจการธนาคาร Banco Noroetse ในปี 1997 แน่นอนล่ะ เมื่อมีดีลใหญ่แบบนี้ ผู้ซื้อก็ย่อมเข้ามาตรวจสอบสถานะการเงินของกิจการที่ตัวเองจะเข้าซื้อ ในช่วงระหว่างซื้อขายดีลยักษ์นี้ กรรมการบริหารของทั้งสองฝ่ายก็ต้องประชุมกันหลายครั้ง จนครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 1997 ทาง Banco Santander ก็ยิงคำถามชวนสงสัยว่า ทำไมเงินทุนเกือบครึ่งของ Banco Noroetse ถึงไปอยู่ในบัญชีที่ไม่มีการป้องกันบนเกาะเคย์แมน ซึ่งกรรมการบริหารของ Banco Noroetse ก็ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้สักคน

แล้วก็เป็นทาง Banco Santander ที่เข้าตรวจสอบเองแล้วก็พบข้อเท็จจริงว่าไม่มีสนามบินดังกล่าวเกิดขึ้นที่อาบูจา การสอบสวนคดีนี้จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ และนี่เป็นคดีอาญาระดับข้ามชาติจึงต้องมีการใช้อำนาจศาลในหลาย ๆ ประเทศเข้ามาดำเนินการทั้ง บราซิล, ไนจีเรีย, อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์ ถึงแม้จะสืบพบการฉ้อฉลในการดำเนินการของ Banco Noroetse แต่เพื่อไม่ให้การซื้อขายธนาคารเกิดการหยุดชะงัก กลุ่มเจ้าของธนาคาร Banco Noroetse จึงจำเป็นต้องควักกระเป๋าตัวเองรวมกันแล้วเป็นเงิน 242 ล้านเหรียญ เพื่ออุดรอยรั่วตรงนี้เฉพาะหน้าไปก่อน แล้วค่อยไปตามคืนเอาทีหลัง

การดำเนินคดี

แม้ว่าความจะแตกในปี 1997 แต่พอถึงขั้นตอนในการดำเนินคดีนู่นนี่นั่นแล้วเสร็จ กว่าที่เอ็มมานูเอล วูด จะถูกนำตัวขึ้นรับการพิจารณาคดีในชั้นศาลก็ปาเข้าไปปี 2004 แล้ว นั่นเพราะเป็นคดีใหญ่ก็เลยต้องทีมสืบสวนพิเศษ ที่กว่าจะรวบรวมทีม กว่าจะเริ่มต้นทำงานได้ก็ปี 2002 แล้ว ในปีนี้ โอลูแชกุง ออบาซันจอ (Olesegun Obasanjo) ประธานาธิบดีไนจีเรียในขณะนั้นก็ได้ก่อตั้งหน่วยงานในประเทศขึ้นมาชื่อว่า คณะกรรมการอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงิน (the Economic and Financial Crimes Commission) เพื่อรับผิดชอบคดีนี้โดยเฉพาะ

เจ้าหน้าที่ คณะกรรมการอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงิน (the Economic and Financial Crimes Commission)

พอเอ็มมานูเอล วูด ถูกนำตัวขึ้นศาลสูงที่กรุงอาบูจา เขาไม่ได้เจอแค่คดีฉ้อโกงธนาคารบราซิลแค่คดีเดียว แต่มีคดีที่เขาก่อไว้ก่อนหน้านี้มากกว่า 100 คดี ซึ่งวูดยืนกรานปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่แผนการต่อสู้คดีของวูดก็พังไม่เป็นท่า อาจจะเพราะยุคนั้นยังไม่มีไลน์กรุ๊ปไงครับ หนึ่งในสมาชิกร่วมแก๊งของวูดไม่รู้ว่านึกอีท่าไหน กลับยอมรับสารภาพผิดซะงั้น แต่ด้วยความเป็นมิจฉาชีพตัวจริงเสียงจริง วูดไม่ยอมจำนนง่าย ๆ หรอก ว่าแล้วก็ใช้แผนการเดิมที่เขาถนัด เข้าเจรจากับประธานของคณะกรรมการอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงิน ยื่นข้อเสนอเป็นจำนวนเงิน 75,000 เหรียญ แลกกับการให้เขาหลุดคดีนี้ แต่วูดลืมนึกไปว่านี่คือหน่วยงานที่ก่อตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี ท่านประธานฯ ปฏิเสธสินบนของวูด หนำซ้ำยังเพิ่มอีก 1 ข้อหา ติดสินบนเจ้าหน้าที่ระดับสูงให้วูดไปอีกด้วย

เอ็มมานูเอล วูด

ผลการตัดสินค่อนข้างเบาบางมาก เอ็มมานูเอล วูด โดนตัดสินให้จำคุกเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น และจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 10 ล้านเหรียญ นั่นเทียบเท่ากับเศษสตางค์จากเงินทั้งหมดเกือบ 200 ล้านเหรียญ ที่วูดโกงไปแล้ว คดีนี้ของ เอ็มมานูเอล วูด ถูกจัดให้เป็นคดีต้มตุ๋นที่เป็นวงเงินใหญ่ที่สุดในศตวรรษเลยก็ว่าได้ ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครตอบคำถามได้ว่า ทำไมถึงไม่มีตัวแทนธนาคารสักคนเดียวเดินทางมาดูสนามบินที่ธนาคารลงทุนนับร้อยล้านเหรียญ

อ้างอิง