ใครที่ได้ชมการแข่งขันกรีฑาประเภทต่าง ๆ จาก Tokyo Olympics 2020 ไป น่าจะเห็นได้ว่านักกีฬาส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจมาคว้าเหรียญทองเพียงอย่างเดียว แต่หลายคนอยากได้ของแถมเป็นสถิติ Personal Best หรือเวลาวิ่งส่วนตัวที่ดีที่สุด ถ้าโชคดีหน่อยอาจไปถึงเวลา Olympic Record (OR) และโชคดีไปกว่านั้นคือสามารถทำลายสถิติ World Record (WR) ได้ด้วย ซึ่งนักกีฬาหลายคนทำได้เสียด้วยสิ!

เครดิตรูปภาพจาก The New York Times

คำถามดังกล่าวจึงย้อนกลับมาสู่ตัวนักกรีฑาว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้หลายคนทำลายสถิติโลกได้ในสนามกรีฑาที่กรุงโตเกียวพร้อม ๆ กัน หนึ่งในเหตุผลคงต้องยกให้สปิริตของตัวนักกีฬาเอง ที่ปัจจุบันวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยค่อนข้างมาก นอกจากนั้นต้องยกความดีความชอบให้กับเทคโนโลยีที่ช่วยให้นักวิ่งออกแรงไม่เสียเปล่า อย่างรองเท้าวิ่ง โดยเฉพาะรองเท้าตะปูที่ออกแบบมาวิ่งในสนามแทร็ก (Running Track) โดยเฉพาะและวัสดุ ‘คาร์บอนไฟเบอร์’ อันเป็นอาวุธลับของนักวิ่งในยุคนี้ ที่พัฒนามาจนเรียกได้ว่าดึงศักยภาพของนักกีฬาออกมาได้สูงสุดในเวลานี้แล้ว และปัจจัยสุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือสนามแทร็ก ที่นักกีฬาหลายคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “สนามที่นี่มีผลช่วยให้วิ่งได้เร็วขึ้นจริง เพราะมันนุ่มเหมือนวิ่งบนอากาศเลยล่ะ”

ซิดนีย์ แมกลอกลิน (Sydney McLauglin) (ซ้าย) และคาร์สเตน วาร์โฮล์ม (Karsten Warholm) (ขวา) / เครดิตรูปภาพจาก Olympic

ตัวอย่างของนักกีฬาที่สามารถทำลายสถิติโอลิมปิก (OR) รวมถึงสถิติโลก (WR) ได้ เช่น อเบล คิปแซง (Abel Kipsang) ทำสถิติ OR ระยะ 1,500 เมตรด้วยเวลา 3.31.65 นาที หรือคาร์สเตน วาร์โฮล์ม (Karsten Warholm) ทำสถิติ WR วิ่งข้ามรั้วระยะ 400 เมตรด้วยเวลา 45.94 วินาที หรือฝั่งผู้หญิงอย่างอีเลน ธอมป์สัน-เฮราห์ (Elaine Thompson-Herah) ทำสถิติ OR ระยะ 100 เมตรด้วยเวลา 10.61 วินาที และซิดนีย์ แมกลอกลิน (Sydney McLauglin) ทำสถิติ WR ระยะ 400 เมตรด้วยเวลา 51.46 วินาที

แอนเดรีย วาลเลารี (Andrea Vallauri) หนึ่งในทีมผู้พัฒนาสนามแทร็กของ Tokyo Olympics 2020 จึงออกมาเฉลยว่า จริง ๆ แล้วโอลิมปิกทุกปีมีการพัฒนาพื้นผิวของสนามแทร็กตลอด เช่น การสร้างสนามแทร็กให้มีความบางเพียง 14 มิลลิเมตร มีการเพิ่มสารประกอบบางชนิดเพื่อเพิ่มความนุ่มมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงแผ่นยางที่มีลักษณะหกเหลี่ยมเหมือนรังผึ้งและช่องอากาศขนาดเล็กด้านล่าง ช่วยดูดซับแรงและคืนพลังงานกลับมาสู่ตัวนักวิ่ง ในลักษณะเดียวกับแทรมโพลีน

แผ่นยาง Mondotrack WS / เครดิตรูปภาพจาก www.archiexpo.com

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมที่ต่อยอดมาจากสนามแทร็กในโอลิมปิกปี 2016 เรียกว่า Mondotrack WS เป็นยางที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความเร็วของมนุษย์โดยเฉพาะ ที่มีความยืดหยุ่นและตอบสนองสม่ำเสมอจากโครงสร้างตาข่ายด้านล่างของแผ่นยาง จึงช่วยลดอาการล้าและช่วยให้นักวิ่งวิ่งได้นิ่งขึ้นนั่นเอง โดยเฉพาะใน Tokyo Olympics 2020 ได้พัฒนายางชนิดใหม่เรียกว่า Mondotrack WSTY ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอีกด้วย จึงมีส่วนช่วยให้นักกีฬาทำความเร็วได้มากขึ้น 1-2% เลยทีเดียว (แค่ 0.01 วินาทีสามารถพลิกเหรียญเงินเป็นเหรียญทอง มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว) และแน่นอนว่าสามารถสร้างสถิติใหม่ให้กับตัวนักกีฬาได้เป็นจำนวนมากนั่นเอง

อ้างอิง, อ้างอิง, อ้างอิง, อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส