[รีวิวซีรีส์] Trese: ดีงามเกินคาด แอนิเมชันนัวร์แฟนตาซีจากฟิลิปปินส์ดีไซน์เยี่ยม

Release Date

11/06/2021

ความยาว

6 ตอนจบ ตอนละประมาณ 30 นาที

[รีวิวซีรีส์] Trese: ดีงามเกินคาด แอนิเมชันนัวร์แฟนตาซีจากฟิลิปปินส์ดีไซน์เยี่ยม
Our score
8.5

Trese

จุดเด่น

  1. บทดี รายละเอียดการสร้างโลกของเรื่องดีมาก ชอบในความสร้างสรรค์ประยุกต์เอกลักษณืเฉพาะถิ่นได้สากล แล้วดูเท่ ดูแตกต่างแม้จะมีความคล้ายผลงานเรื่องดังอื่น ๆ อยู่ก็ตาม

จุดสังเกต

  1. ดีไซน์ลาสต์บอสธรรมดาไปหน่อย กับการคลี่คลายในตอนจบช่วง 10 นาทีท้ายก็มีบางตรรกะที่เอาง่ายไปหน่อย ซีรีส์เน้นเด็กโตถึงไม่มีฉากเรื่องเพศแต่ความรุนแรงก็ถือว่าสูงอยู่ เด็กเล็กถ้าเปิดดูเองก็ควรมีผู้ใหญ่แนะนำ
  • บท

    9.0

  • โปรดักชัน

    8.5

  • งานพากย์

    7.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    8.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    8.5

เรื่องย่อ: ถ้าเจองานเหนือธรรมชาติเมื่อไหร่ ตำรวจเรียกหา อเล็กซานดรา เตรเซ ได้ทันที ด้วยฉากหลังในกรุงมะนิลาจะพาคุณไปพบกับตำนานสยองขวัญฉบับฟิลิปปินส์อย่างที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน

ต้องบอกว่าส่วนตัวไม่ได้นิยมแอนิเมชันสไตล์อเมริกันนัก จึงออกอาการอคติล่วงหน้าตั้งแต่ดูตัวอย่าง ทว่าเมื่อดูซีรีส์จริงต้องบอกว่าเกินความคาดหมายไปหลายอย่าง และทำให้เกิดอารมณ์สองอย่างที่ขนานกันไประหว่างดู คืออดชื่นชมในความพิถีพิถันทางความคิดของชาวฟิลิปปินส์ที่ถ่ายทอดเรื่องนี้ออกมาไม่ได้ กับอีกความรู้สึกคือเทียบกับไทยแล้วเราก็ไม่ได้มีอะไรด้อยกว่าเลย เป็นความรู้สึกเสียดายแทนโอกาสของยอดฝีมือในประเทศเราไปพร้อม ๆ กัน

‘Trese’ เป็นผลงานที่ได้ต้นธารความคิดที่ดีมาตั้งแต่ต้น เพราะดัดแปลงจาก komik ที่เป็นชื่อเฉพาะของคอมิกจากฟิลิปปินส์ที่ได้รางวัลหนังสือระดับชาติมาหลายปี จากผลงานการแต่งเรื่องของ บัดเจต แทน (Budjette Tan) และวาดโดย คาโจ บัลดิซิโม (Kajo Baldisimo) จนมากลายเป็นผลงานแอนิเมชันสไตล์ตะวันตกด้วยฝีมือการปรุงของ เจย์ โอลิวา (Jay Oliva) ผู้กำกับเชื้อชาติฟิลิปปินส์-อเมริกัน ที่มีผลงานเบื้องหลังในส่วนงานศิลป์ของแอนิเมชันดังหลายเรื่องทั้งฝั่งค่ายมาร์เวลและค่ายดีซี รวมถึงเคยมีผลงานกำกับแอนิเมชันในซีรีส์ ‘ฺBatman’ มาหลายเรื่อง โดยล่าสุดกำลังจะมีผลงานคือสปินออฟหนัง ‘Army of the Dead’ ฉบับแอนิเมชันที่ชื่อ ‘Army of the Dead: Lost Vegas’ ที่จะลงเน็ตฟลิกซ์ในปีนี้ด้วยเช่นกัน เรียกว่าการรันตีฝีมือไม่ไก่กาแน่นอน

Trese
เตรเซในฉบับคอมิก ลายเส้นจะดิบกว่าแอนิเมชัน และดีไซน์ผมของตัวเตรเซจะทำให้ไรผมสองข้างแหลมเหมือนเธอมีเขาแบบมารชัดเจนกว่าด้วย

เนื้อหาของ ‘Trese’ ว่าด้วย อเล็กซานดรา เตรเซ หญิงสาวทายาทของ ลาคาน หรือผู้ควบคุมสมดุลระหว่างมนุษย์ ปีศาจ ภูติ ผี และเทพ ที่อยู่ร่วมกันบนโลกมนุษย์ หลังจากพ่อของเธอที่เป็นลาคานคนก่อนเสียชีวิต เธอจึงต้องรับหน้าที่นี้แทน และนั่นก็ทำให้เธอเข้าไปพัวพันกับปัญหาระดับโลกที่กำลังก่อตัว เมื่อมีความพยายามจากเงามืดลึกลับที่จะทำลายข้อตกลงสันติภาพระหว่างมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย

Trese
อเล็กซานดรา เตรเซ ให้เสียงพากย์โดยดาราสาว ลิซ่า โซเบราโน (Liza Soberano) สวยไม่แพ้กันเลยทีเดียว

ด้วยจำนวน 6 ตอนของซีรีส์ ก็ใช้ไปอย่างคุ้มค่า เพราะแม้จะเหมือนการสืบแก้ไขคดีสไตล์ฟิล์มนัวร์ที่แตกต่างกันไปแล้วจบในตอน ทั้งคดีฆาตกรรมปริศนาทั่วเมือง นักซิ่งที่ถูกเทพลักพา คนดังที่ถูกวิญญาณตามฆ่า หรือสำนักงานตำรวจที่ถูกซอมบี้คลั่งแค้นล้อมบุก ทว่าในทุก ๆ ตอนที่ดำเนินไปกลับมีคำใบ้ที่คอยเชื่อมโยงเรื่องราวปัญหาใหญ่ที่กำลังก่อตัวซึ่งถูกอ้างอิงเสมอว่าเป็น พายุที่กำลังใกล้เข้ามา ได้อย่างน่าติดตาม และเมื่อจบทั้ง 6 ตอนซีรีส์ก็ตอบทุกสิ่งที่หยอดรายละเอียดไว้ระหว่างทางได้อย่างลงตัวดีทีเดียว

Trese

แม้ดูแล้วตัวแอนิเมชันจะชวนให้นึกถึงคอมิกดังอย่าง ‘Doctor Strange’ ของฝั่งมาร์เวล และ ‘Constantine’ ของฝั่งดีซี อยู่เหมือนกัน ทว่าตัวซีรีส์ก็ใช้เอกลักษณ์แบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะตำนานฉบับฟิลิปปินส์มาทำให้รสชาติแตกต่างจนโดดเด่นขึ้นมาได้ ไม่ว่ารูปแบบของภูติผี ปีศาจ เทพ ตลอดจนความเชื่อผสมผสานระหว่างศาสนาคริสต์ ลัทธิพื้นเมือง และพิธีคุณไสยมนต์ดำ ทว่าก็ผสมกับฉากหลังที่เป็นโลกปัจจุบันได้อย่างลงตัวดูเป็นสากลไม่หนักความเป็นฟิลิปปินส์จนคนต่างวัฒนธรรมเสพยาก เป็นจุดที่น่าเรียนรู้สำหรับผลงานที่อยากขายความเป็นไทยเหมือนกัน

Trese

สิ่งที่ชื่นชมมาก ๆ ตั้งแต่ชื่อรีวิวแล้วก็คือ การดีไซน์ที่คิดไตร่ตรองมาดีมาก จนโลกของเตรเซนั้นดูละเอียด สมจริง และที่สำคัญตื่นตาตื่นใจคนต่างวัฒนธรรมได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเทพแห่งสายฟ้าที่อยู่ปะปนกับมนุษย์ในตำแหน่งผู้บริหารการไฟฟ้ามะนิลา มนุษย์ลมที่ชื่นชอบการแข่งรถ ปีศาจขายข่าวสารที่มุดซอกซอนไปตามท่อระบายน้ำของเมืองและมีหัวติดกับฝาท่ออย่างกลมกลืน (นึกภาพคล้ายกัปปะที่หัวเป็นฝาท่อระบายน้ำ) เป็นต้น

ไม่ใช่เพียงดีไซน์รูปลักษณ์ที่เข้ากับพลังและบุคลิก แต่การดีไซน์ปฏิสัมพันธ์ของแต่ละตัวละครก็ยังมีความน่าสนใจไม่น้อย เช่นแก๊งนางเอกที่จะมีฝาแฝดอมนุษย์ใบหน้ายิ้มกับใบหน้าเศร้าคอยติดตาม ก็ใส่เรื่องความเป็นครอบครัวมาอย่างมีมิติ เป็นต้น คือพวกนี้มันเกินกว่าพลอตดีน่าติดตามแล้ว เพราะมันคือบทดีที่ทำให้รู้สึกเชื่อในโลกที่ไม่มีอยู่จริงได้ ซึ่งบทหนังทุกเรื่องควรทำให้ได้ก่อนจะไปคาดหวังเรื่องความดีเลิศในด้านอื่น

Trese

นอกจากนั้นแอนิเมชันนี้ก็จับกลุ่มเด็กโตชัดเจน ทำให้งานภาพเน้นความรุนแรงได้อย่างสะใจ ทั้งฉากการต่อสู้ ซากชิ้นส่วนร่างกายขาดแหว่ง เหวอะหวะ เลือดสาด ไม่เพียงเท่านั้นตัวซีรีส์ยังเล่าเรื่องที่เกี่ยวพันกับอาชีพคนมีสีและคนมีตำแหน่งสูงอย่างพวกนักการเมืองที่เกี่ยวพันกับปัญหาภาพใหญ่ได้อย่างน่าสนใจดีด้วย และข้อดีของการเน้นเด็กโตไปเลยก็คือวิธีการเล่าเรื่องสามารถมีความซับซ้อนได้มากขึ้น อย่างการที่ปะหัวแต่ละตอนด้วยเหตุการณ์ในอดีตที่จะค่อย ๆ เข้าใจในภายหลัง หรือการใช้ศัพท์เฉพาะที่เป็นภาษาตากาล็อกเรียกชื่ออมนุษย์ต่าง ๆ แบบไม่ต้องอธิบาย ก็จะสามารถทำได้ก็เพราะเด็กโตจะปรับตัวรับได้ง่ายกว่าเด็กเล็กนั่นเอง ซีรีส์เลยขายทั้งความเป็นสากลและขายวัฒนธรรมได้พร้อมกันแบบไม่ต้องกั๊กเลย

Trese

แม้จะชื่นชมอยู่หลายอย่าง และมองข้ามความไม่นิยมส่วนตัวต่อสไตล์แอนิเมชันฝรั่งไปได้ ทว่าก็มีหลายจุดที่ยังคงต้องติอยู่บ้างนั่นคือ ดีไซน์บางตัวละครสำคัญดูน่าจะพิถีพิถันได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะลาสต์บอสที่ดูธรรมดาไปนิด และอีกประการคือช่วง 10 นาทีสุดท้ายของตอนจบ ก็รีบอัดเหตุผลห้วน ๆ ให้คลี่คลายปัญหาได้ไว ๆ แบบที่เราชอบแซวว่าใช้พลังมิตรภาพแบบนั้น ให้ชวนเอ๊ะอยู่เหมือนกัน แต่โดยรวมเป็นแอนิเมชันที่รู้สึกภูมิใจแทนเพื่อนร่วมโซนอย่างคนฟิลิปปินส์แทนเลย และก็รู้สึกอยากให้ไทยเอาจริงเอาจังด้านนโยบายขายวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์แบบเน้นประสิทธิผลได้เสียที

Trese

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส