Release Date

09/06/2021

ความยาว

6 ตอน

[รีวิวซีรีส์] Loki: ‘ตัวแปร’ สำคัญสู่เฟส 4 ของจักรวาลมาร์เวล ไม่ดูไม่ได้จริง ๆ
Our score
9.5

Loki

จุดเด่น

  1. ความบันเทิงแบบอัดแน่นทุกตอน สนุก น่าติดตาม โปรดักชันคุณภาพสูงแบบภาพยนตร์ ดารามีเสน่ห์กันทุกคน แล้วยังบรรดาอีสเตอร์เอ้กที่เยอะมาก ๆ ด้วย

จุดสังเกต

  1. มีแค่ 6 ตอน อาจไม่ค่อยสาแก่ใจแฟน ๆ นัก
  • บท

    9.0

  • โปรดักชัน

    9.0

  • การแสดง

    9.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    10.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    10.0

เรื่องย่อ: โลกิ เทพแห่งการหลอกลวง ฝืนชะตาจากการต้องถูกคุมขังไปแอสการ์ดทำให้เส้นเวลาผิดเพี้ยน จนหน่วยงานผู้พิทักษ์เส้นเวลาต้องเข้ามาจับกุม โดยยื่นเงื่อนไขหากเขาช่วยกอบกู้เส้นเวลาที่ผิดเพี้ยนต่าง ๆ กลับมาปกติได้ จะได้รับการไว้ชีวิต โลกิต้องเอาตัวรอดจากชะตากรรมใหม่นี้ พร้อมไขปริศนาว่าผู้อยู่เบื้องหลังของทุกสิ่งอย่างนี้คือใครกันแน่

แม้ก่อนหน้านี้จะมี ‘WandaVision’ และ ‘The Falcon and the Winter Soldier’ ออกมาสร้างปรากฏการณ์ซีรีส์มาร์เวลในเฟส 4 ก่อนแล้ว แต่สำหรับ ‘Loki’ ที่แม้มาทีหลังแต่ก็มีความพิเศษไม่แพ้กัน โดยเป็นซีรีส์จากมาร์เวลที่ชาวไทยได้รับชมแบบพร้อมทั่วโลกผ่านทาง Disney+ Hotstar เป็นเรื่องแรก และยังเป็นซีรีส์ที่วัดกันด้วยความรู้สึกส่วนตัวคือ คุณภาพสูง สนุก น่าติดตาม และน่าจะส่งผลกับเฟส 4 ของจักรวาลมาร์เวลได้น่าสนใจที่สุดเรื่องหนึ่งด้วย

Loki

น่าสนใจว่า ครีเอเตอร์ของซีรีส์นี้คือ ไมเคิล วัลดรอน (Michael Waldron) ซึ่งเราอาจไม่ค่อยคุ้นหู แต่ว่าด้วยฝีมือเขาเคยเป็นโปรดิวเซอร์แอนิเมชันซีรีส์เล่าเรื่องสนุกอย่าง ‘Rick and Morty’ ช่วงปี 2019 ซึ่งชนะรางวัลไพรม์ไทม์เอมมีอวอร์ดส์ไปด้วย

และสำหรับสาวกมาร์เวลก็ยังน่าสนใจว่า เขาคือคนที่คิดเรื่องและร่วมเขียนบท (written by) หนัง ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ อย่างที่ทราบกันดีว่าจะเป็นอีกจุดสำคัญเกี่ยวกับเรื่องราวมิติต่าง ๆ และเวทมนตร์ในจักรวาลมาร์เวลที่ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาของเฟส 4 จริง ๆ จัง ๆ ขึ้นด้วย และอาจกล่าวได้ว่าเป็นครึ่งทางของเฟส 4 แล้วเมื่อดูจากไทม์ไลน์ของหนังและซีรีส์ที่จะปล่อยมาทั้งหมด ยังไม่พูดถึงว่าหมอแปลกเป็นตัวละครสำคัญในทีมฮีโรชุดปัจจุบันที่เหลืออยู่ และน่าจะกำหนดชะตาของเฟส 4 จักรวาลหนังมาร์เวลด้วย

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

ถึงได้บอกว่าซีรีส์ ‘Loki’ มีความสำคัญไม่น้อยทีเดียว เพราะในเรื่องโลกิต้องเล่นเกี่ยวกับการแตกแขนงของมิติเวลาต่าง ๆ และการโยงว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังของการควบคุมเส้นเวลาก็น่าสนใจทีเดียวว่าจะโยงไปต่ออย่างไรในเรื่องอื่น ที่แน่ ๆ อย่างน้อยก็ในซีรีส์ ‘What If…?’ และหนังอย่าง ‘Spider-Man: No Way Home’ กับ ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ ที่ล้วนแต่เล่นเรื่องของมิติคู่ขนานทั้งสิ้น

ซีรีส์นี้จึงมีพื้นที่เปิดกว้างมากสำหรับการหยอดนู่นนี่ลงไปในจักรวาลมาร์เวลที่เรารู้จัก ว่ายังมีอีกสถานที่ที่เคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับเรื่องราวปกติที่เราเคยดูมา ทั้งองค์กรผู้พิทักษ์เวลาที่มีกฎระเบียบข้อห้ามหลายอย่างที่น่าสนใจว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลัง การด้อยค่าเหล่าอัญมณีที่พลังมากสุดในจักรวาลมาร์เวลเหลือเป็นเพียงที่ทับกระดาษ การมีอยู่ของผู้คุมกาลเวลาที่กำหนดว่า ตัวแปร อะไรคืออยู่ในเส้นเวลาศักดิ์สิทธิ์และอะไรที่ไม่ใช่

Loki
เทพจอมเจ้าเล่ห์สิ้นฤทธิ์อย่างง่ายดายในมือของผู้พิทักษ์กาลเวลา เปิดมาก็น่าสนใจเลย

แม้จะดำเนินเรื่องเหมือนหนังแนวตำรวจที่ต้องร่วมมือกับตัวร้ายเพื่อจับวายร้ายที่ยิ่งใหญ่กว่า ทว่าแต่ละตอนที่ซีรีส์พาเราไปมันเต็มไปด้วยความน่าสนใจ ที่สำคัญมันทำให้เราประหลาดใจอยากดูอยากรู้ไปหมด ทั้งตัวละครใหม่ ๆ การเปิดเผยหรือเฉลยความลับใหม่ ๆ บทสนทนาที่ชวนคิดต่อ รวมถึงเส้นเวลาตัวแปรที่อยู่นอกเส้นทางหลักสัมพันธ์อย่างไรกับไทม์ไลน์ปกติแบบในหนังนิยายไซไฟที่เล่นเรื่องเวลา

Loki

เหล่านี้คือสิ่งที่ ‘Loki’ มอบได้อย่างเข้มข้นมาก ๆ ถ้าวัดส่วนตัวแล้ว รู้สึกสนุกอยากดูตอนต่อ ๆ ไป เรื่อยไปทุกตอนไม่มีกราฟตกเลย เพราะบางตอนก็ใส่ความเป็นหนังผจญภัยวิบัติภัยถล่มโลก บางช่วงก็เป็นหนังแนวสายลับ ทั้งยังมีรสโรแมนติกคอมเมดี และรสต่าง ๆ ให้เสพแบบอิ่ม ๆ ในขณะที่ซีรีส์ 2 เรื่องก่อนหน้ายังไม่รู้สึกขนาดนี้ อาจด้วยเรื่องหนึ่งใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบทดลองที่หลายอย่างเราไม่ได้สนใจ และกับอีกเรื่องก็มีเรื่องราวการเมืองและอุดมการณ์นำหน้าความสนุกมากไปนิดหนึ่ง

แต่สำหรับ ‘Loki’ มันสำเร็จตั้งแต่การใช้ตัวละครอย่าง โลกิ ที่แสดงโดย ทอม ฮิดเดิลสตัน (Tom Hiddleston) มาเป็นตัวนำ เพราะเขาคือตัวละครสีเทาเปี่ยมเสน่ห์ที่อยู่ที่ไหนในจักรวาลมาร์เวล ก็เติมรสชาติทั้งเปรี้ยว หวาน ขม ได้หมด และแน่นอนผู้ชมรักตัวละครนี้ไม่แพ้เหล่าฮีโรตัวหลักเลย

Loki
โลกิกับความโรแมนติก คงเป็นองค์ประกอบมุ้งมิ้งที่ดูได้แค่ที่ซีรีส์นี้เท่านั้น

แถมรอบนี้ยังมีแจมด้วยตัวละครเจ๋ง ๆ อย่างเจ้าหน้าที่โมเบียส ที่แสดงโดยดาวตลกอย่าง โอเวน วิลสัน (Owen Wilson) ซึ่งเรารู้สึกแปลกตากับภาพลักษณ์ใหม่ของเขาพอ ๆ กับความซับซ้อนของตัวละครนี้ที่ไม่ดีและไม่ร้ายจนเกินไป ที่สำคัญชื่อที่หมายถึงวงเกลียวไร้จุดจบยังน่าสนใจด้วยว่าเขาเกี่ยวพันกับเบื้องหลังที่แท้จริงอย่างไร

Loki

ฝั่งสาว ๆ ก็ยังต้องยกให้ โซเฟีย ดิ มาร์ติโน (Sophia Di Martino) ที่มารับบท ซิลวี่ ตัวร้ายหลักในช่วงแรกของซีรีส์ได้แบบพราวเสน่ห์มาก ๆ เชื่อว่าหนุ่ม ๆ โดนตกกันไปหลายคน และที่อยากให้จับตาอีกคนคือ กูกู อึมบาทา รอว์ (Gugu Mbatha-Raw) ผู้รับบทผู้พิพากษา ราวอนนา เรนสเลเยอร์ เพราะถ้าอิงตามคอมิกเธอคือตัวเชื่อมไปยังวายร้ายคนสำคัญของเฟส 4 ที่มีชื่อจะปรากฏตัวในหนัง ‘Ant-Man and the Wasp: Quantumania’ มาก่อนแล้ว และมาปรากฏตัวเป็นที่เรียบร้อยในซีรีส์นี้ ก็คงต้องดูกันยาว ๆ ว่างานนี้มาร์เวลจะนำเสนอตัวละครนี้ในหนังเรื่องอื่น ๆ ที่จะออกมาก่อนอีกหรือไม่

Loki
Loki

เมื่อตัวละครนำเยี่ยม เรื่องราวเยี่ยม ซีรีส์นี้เลยประสบความสำเร็จได้แบบไม่ต้องสงสัยเลย

นอกจากนี้ใน ‘Loki’ ยังอุดมด้วยอีสเตอร์เอ้กจำนวนมากมาย ที่สายคอมิกสายตาไวต่าง ๆ ต้องชอบมาก ๆ และแม้จะไม่ใช่สาวกตัวกลั่นของมาร์เวลแต่อย่างไร เราก็จะยังได้ตื่นเต้นกับบรรดาตัวละครลับต่าง ๆ มากมายที่ใส่มาแน่ ๆ (น้อนโลกิภาคสี่ขา ไม่มีทางที่ใครดูแล้วจะไม่ว้าวแน่ ๆ) และการใส่ฉาก (อย่างปิรามิด หรือตึกอเวนเจอร์ส) วัตถุอุปกรณ์ (อย่างธานอสเฮลิคอปเตอร์) มิดเครดิตซีนที่ไม่ค่อยเห็นในซีรีส์มาร์เวล แถมใส่มาแบบชวนขนลุกได้เลย

Loki

พวกนี้ล้วนต่อยอดจินตนาการ การคาดเดาของแฟนมาร์เวลต่อเรื่องราวในภายภาคหน้านอกเหนือจากซีรีส์นี้ไปได้ไกลและเมามันอย่างมาก และนี่คืออีกความสำเร็จที่ซีรีส์นี้ทำได้ คือชักชวนให้แฟนมาร์เวลมาร่วมคุย ร่วมถกเถียงกับทฤษฎีต่าง ๆ อย่างสนุกสนานมากเหมือนตอนที่หนัง ‘Avengers: Infinity Wars’ เคยทำสำเร็จมาแล้ว และยังเป็นปัจจัยที่ต้องดูเก็บรายละเอียดกันเอง แบบที่ไปดูคลิปสปอยล์สรุปอะไรแบบนั้นไม่ได้เลย

ถ้าถามส่วนตัวคือเป็นซีรีส์แรกของมาร์เวลใน Disney+ ที่รู้สึกองค์ประกอบมาพร้อมสมบูรณ์มาก เสียดายที่มีแค่ 6 ตอน น้อยไปหน่อย และก็ทิ้งจบซีซันไว้แบบบีบหัวใจผู้ชมเหลือเกิน เพราะไม่รู้ซีซันที่ 2 จะมาเมื่อไหร่ แต่ก็พลาดไม่ได้อย่างยิ่งเลย

Loki

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส