หลายคนน่าจะคุ้นหน้าคุ้นตาเจ้าเมียร์แคตจากสารคดีชีวิตสัตว์โลกอย่าง NationalGeographic หรือทางช่อง Discovery Channel แต่ทั่วโลกรู้จักเมียร์แคตกันมากขึ้นก็เพราะเจ้า “ทีโมน” จากหนัง The Lion King นี่ล่ะ ที่จำลองภาพลักษณ์ของเมียร์แคต มาให้เป็นตัวโจ๊กพูดมากที่คอยเกาะอยู่บนหลัง “พุมบา” หมูป่าเพื่อนซี้ ที่รวมแก๊งสามเกลอกับ “ซิมบา”

ทีมงานสร้าง The Lion King ทั้ง 2 เวอร์ชัน ก็ทำงานด้วยความตั้งใจในการถอดบุคลิกลักษณะเด่นของ เมียร์แคต มาใส่ในตัวทีโมนได้อย่างเด่นชัด โดยเฉพาะเวลาที่มันยืนสองขา เมียร์แคต เป็นสัตว์ที่มีความน่ารักน่าเอ็นดูตั้งแต่แรกเห็น ด้วยความที่เป็นสัตว์ตัวเล็กดูมีความกระตือรือร้นสอดรู้สอดเห็นอยู่ตลอดเวลา หน้าตาของเมียร์แคตจะเหมือนพังพอนบ้านเรา ก็เพราะเป็นสัตว์ในวงศ์เดียวกัน เมียร์แคตจะพบมากใน ทะเลทรายคาลาฮารีทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมียร์แคตเติบโตเต็มที่จะมีความสูงที่ 50 ซม. และหนักประมาณ 1 กิโลกรัมเท่านั้น ตัวเบามาก มีขนสั้นสีน้ำตาล

อาหารโปรดของเมียร์แคตคือแมลงที่อยู่ในพื้นดิน ธรรมชาติเลยออกแบบมาให้เมียร์แคตมีกรงเล็บที่แหลมคมเพื่อใช้ในการขุดดิน พวกมันมีสัมผัสการรับกลิ่นที่ไวมาก เลยรู้ว่ามีแมลงอยู่ตรงไหน เมียร์แคตยังกินพวกสัตว์มีพิษได้อีกหลายหลายชนิดทั้งงู แมงป่อง และตะขาบ คุณสมบัติข้อนี้ดีนะครับ น่าเอามาเลี้ยงที่บ้านจังเลย

นอกจากจมูกไวและเมียร์แคตยังหูไวด้วย เนื่องด้วยเป็นสัตว์ตัวเล็กป้องกันตัวเองไม่ค่อยได้ ธรรมชาติเลยให้ประสาทสัมผัสพิเศษทางหูมา เพื่อระแวดระวังตัวเองได้รวดเร็ว เมียร์แคตสามารถได้ยินเสียงในรัศมีรอบตัวที่ 50 เมตร เมื่อมีภัยมา มันจะหนีลงรูที่เป็นที่อยู่อาศัยของมัน เมียร์แคตจะอยู่กันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 30 ตัว อยู่ในโพรงลึกที่เชื่อมต่อเข้ากันหลายทิศทาง ทำให้มีทางหนีทีไล่หลายช่องทาง เมียร์แคตจะโตเต็มที่เมื่อายุ 1 ปี และสามารถแพร่พันธุ์ได้ จะตั้งท้องประมาณ 11 สัปดาห์ คลอดลูกทีละ 2-5 ตัว แม้หน้าตาภายนอกจะดูน่ารัก น่าเอามาอุ้มเล่น แต่ตัวจริงของเมียร์แคตนั้นไม่ค่อยน่ารักเหมือนทีโมนในหนังหรอกนะ วิถีชีวิตของพวกมันก็ช่างแปลกประหลาดพอดู มีเรื่องราวที่น่ารู้น่าสนใจอีกมากเกี่ยวกับเมียร์แคตที่เอามาฝากกันครับ

1.เมียร์แคตจำเสียงพวกเดียวกันได้

เมียร์แคตจะอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ แต่ละกลุ่มก็เป็นครอบครัวเดียวกัน มีนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองเรื่องการจำแนกเสียงของพวกมัน โดยเปิดเสียงร้องของเมียร์แคตผ่านลำโพง เป็นเสียงของเมียร์แคตที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน และต่างกลุ่ม ถ้าเมียร์แคตได้ยินเสียงของพวกเดียวกันก็จะยืดคอเงี่ยหูฟัง “ไหน แกอยู่ตรงไหน” แต่ถ้าเป็นเสียงเมียร์แคตต่างฝูงก็จะเฉย ๆ ไม่แยแส

2.เมียร์แคตหมู่ ร่วมกันเราแข็งแรง

เมียร์แคตจะไม่ออกอาหารเพียงตัวเดียว หรือสองตัว แต่จะออกหาอาหารด้วยกันเป็นกลุ่มปลอดภัยกว่า และในการล่าหาเหยื่อของพวกมันจะมีรูปแบบการโจมตีที่เหมือนมีการออกแบบวางแผนมาแล้ว มีการหมุนเวียนเปลี่ยนตำแหน่งกันไปมา แกมาตรงนี้บ้าง เดี๋ยวชั้นไปตรงนั้น ส่งเสียงสื่อยุทธวิธีกันระหว่างจัดการเหยื่อ ถ้าเหยื่อเป็นสัตว์มีพิษ เช่นงูพิษ ก็ต้องระวังหน่อย ตายก่อนก็อดอร่อย เมียร์แคตก็จะทำการโอบล้อมเหยื่อด้วยความระมัดระวัง ผลัดกันเข้าไปกัดหรือตะปบจนเหยื่อตาย

3.เป็นพี่ต้องเลี้ยงน้องนะ

เมื่อผู้ใหญ่ต้องออกไปหาอาหาร แต่ในครอบครัวยังมีเมียร์แคตทารกต้องดูแล หน้าที่เลี้ยงทารกจะตกเป็นของบรรดาพี่ ๆ หมายถึงเมียร์แคตรุ่นพี่ที่โตแล้วแต่ยังไม่เต็มวัยก็ต้องรับหน้าที่ดูแลเด็กน้อยกันไป แต่หน้าที่พี่เลี้ยงเด็กก็ดีอยู่อย่างตรงที่ไม่ต้องออกไปหาอาหาร พ่อแม่ที่ออกไปหาอาหารก็จะกลับมาพร้อมอาหารให้กับพี่เลี้ยงเด็ก

4.สอนเด็กหาอาหาร

เมียร์แคตที่โตเต็มวัยจะมีภูมิคุ้มกันพิษจากสัตว์ที่มีลำตัวเป็นปล้อง อย่างเช่น แมงป่อง ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของเมียร์แคตที่ต้องล่าสัตว์มีพิษเหล่านี้เป็นอาหาร ถึงแม้ว่าจะมีภูมิคุ้มกันพิษแต่เมียร์แคตผู้ใหญ่ก็ต้องใช้ความเชี่ยวชาญระมัดระวังในการเข้าโจมตีสัตว์ประเภทนี้ อย่าได้ประมาท เมียร์แคตอาจจะยืนหัวเราะใส่ “ไอ้แมงป่องพิษแกทำอะไรข้าไม่ได้หรอก” ว่าแล้วแมงป่องก็เอาก้ามใหญ่มากอดรัดเมียร์แคต……….แอ้บ ไม่โดนพิษตายแต่โดนก้ามรัดตาย การที่บรรดาเมียร์แคตเด็ก ๆ จะเติบโตมาแล้วหาอาหารเป็นนั้น ก็ต้องผ่านการอบรมดูแลจากเหล่าเมียร์แคตที่เรียกว่า “ผู้ฝึกสอน”

ตอนที่เมียร์แคตยังเป็นทารก ผู้ฝึกสอนจะเอาสัตว์และแมลงที่ตายแล้วมาให้กิน พอโตขึ้นหน่อยก็จะเอาพวกสัตว์มีพิษที่ปางตายขยับเขยื้อนไม่หวแล้วมาให้กิน ถ้าเป็นแมงป่อง ผู้ฝึกสอนก็จะกัดเอาส่วนหางที่มีเหล็กไนทิ้งไป แต่พอโตขึ้นหน่อย ผู้ฝึกสอนก็จะพาออกไปหาอาหาร และสอนการเข้าโจมตีสัตว์ที่มีพิษประเภทต่าง ๆ

5.ตัวเมียเป็นใหญ่ คุณสมบัติข้อนี้ไม่ค่อยน่ารักเลยครับ

เมียร์แคตจะอยู่กันเป็นฝูง ฝึงหนึ่งก็จะมีสมาชิกประมาณ 40 – 50 ตัว แล้วจะมีเมียร์แคตคู่หนึ่งเป็นหัวหน้าฝูง สมาชิกในฝูงส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวดองเป็นญาติหรือสืบเชื้อสายมาจากคู่จ่าฝูงนี่ล่ะ แม้จะจ่าฝูงเป็นคู่ แต่อำนาจการปกครองแท้จริงแล้วจะมาจากจ่าฝูงตัวเมีย (เฮ้ออออ) แล้วเจ้าแม่เมียร์แคตนี่ก็ไม่ค่อยจะใจดีนักหรอกนะ เธอจะยึดอำนาจในการแพร่พันธุ์แต่เพียงผู้เดียว ถ้าตัวเมียในฝูงเกิดคลอดลูกขึ้นมา เจ้าแม่ก็จะฆ่าลูก ๆ ของตัวอื่นแล้วก็จะขับไล่ตัวแม่ออกจากฝูงไป (โคตรใจร้ายอำมหิต) ก็มีตัวเมียบางตัวที่น่าสงสาร ไม่รู้จะไปไหน ก็เลยใช้วิธีประจบประแจงเจ้าแม่ด้วยการมาช่วยเลี้ยงลูก ๆ ของเจ้าแม่ เผื่อเจ้าแม่จะเห็นใจยกเลิกคำสั่งขับไล่ (ละครชัด ๆ)

6.เจ้าแม่เมียร์แคตจอมเผด็จการ

ยังไม่หมดนะครับ กับความอำมหิตของเจ้าแม่เมียร์แคต ถ้าเจ้าแม่จะต้องเสด็จออกจากโพรงเพื่อเดินทางไกล (จะไปไหนของมัน) ขบวนเสด็จจะไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ แล้วถ้าเจอถนนขวางหน้า หรือสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามที่ดูน่าอันตรายไม่ไว้วางใจ เจ้าแม่จะถอยกลับไปอยู่หลังกลุ่ม แล้วออกคำสั่งให้สมาชิกเพศเมียในกลุ่ม เป็นหน่วยกล้าตายนำหน้าไปก่อน ถ้าปลอดภัยเจ้าแม่ก็จะตามไป

7.ท้องของเมียร์แคตเก็บสะสมความอบอุ่น

ทั่วร่างของเมียร์แคตจะมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ยกเว้นบริเวณช่วงท้องของมันที่จะมีเพียงขนบาง ๆ ปกคลุม ตรงส่วนนี้เราสามารถมองเห็นผัวหนังสีดำของมันได้ชัดเจน ในตอนเช้าพอดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว เหล่าเมียร์แคตก็จะออกจากโพรงมายืนแอ่นพุงรับแสงแดด กิจวัตรเช่นนี้จะทำให้เมียร์แคตเก็บสะสมความอบอุ่นไว้ในร่างกาย พอตกกลางคืนเมียร์แคตก็จะกลับไปขดตัวในโพรงที่หนาวเย็น แต่ได้อาศัยความอบอุ่นที่สะสมไว้ในช่องท้องทำให้เมียร์แคตนอนหลับสบาย

8.นกแซงแซวหางเว้าลึกเลียนเสียงเมียร์แคตได้

เป็นวิธีการที่ฉลาดและแยบยลมาก นกแซงแซวเป็นนกเล็กพวกมันไม่ได้ล่าเมียร์แคตเป็นอาหารหรอกนะ แต่มันจ้องขโมยอาหารจากเหล่าเมียร์แคตด้วยวิธีง่าย ๆ , นกแซงแซวจะเฝ้าสังเกตการณ์กลุ่มเมียร์แคต ถ้ากลุ่มไหนหาอาหารมาได้เยอะ นกแซงแซวจะร่อนไปแอบใกล้ ๆ ฝูงเมียร์แคตแล้วก็จะส่งเสียงล่อหลอก เสียงที่นกแซงแซวเลียนมานั้นจะเป็นเสียงสัญญาณที่เมียร์แคต รปภ. จะร้องเตือนเหล่าสมาชิกว่ามีสัตว์อันตรายเข้ามาใกล้แล้ว พอฝูงเมียร์แคตได้ยินสัญญาณเตือนภัยก็จะหนีกันกระเจิดกระเจิง ไปแต่ตัวอาหารไม่เอาไป เสร็จเจ้านกแซงแซวเลยอิ่มท้องไม่ต้องออกแรง

9.ทารกเมียร์แคตร้อง “หิวว้อย หิวว้อย”

อีกกรณีศึกษาว่าเมียร์แคตสื่อสารกันด้วยเสียงหลากหลายความหมาย ธรรมชาติของเหล่าเมียร์แคตผู้ใหญ่ ทุกตัวจะล้วนมีความเอ็นดูต่อเหล่าเมียร์แคตรุ่นเยาว์ เหมือนว่าเมียร์แคตเด็กก็จะเรียนรู้สัญชาตญาณข้อนี้โดยธรรมชาติ เมื่อยังเป็นเด็กน้อยก็จะใช้วิธีการกรีดร้องเสียงแหลม ๆ ยิ่งเด็กมากก็จะยิ่งเสียงแหลมมาก น่าจะสื่อความหมายได้ว่า “หิวว้อย เอาอะไรมาให้กินที” เสียงร้องของเมียร์แคตเด็กจะกระทบโสตสัมผัสของเมียร์แคตผู้ใหญ่ได้ดี แล้วจะวิ่งไปกระทบต่อมเมตตาเด็ก เมียร์แคตผู้ใหญ่จะหยุดกินทันทีแล้วเอาอาหารมาป้อนเด็ก ตอนนี้ยังอยู่ในวัยเรียกร้องได้ ก็ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ เพราะโตกว่านี้อีกหน่อยก็จะถูกจับฝึกให้หาอาหารกินเองแล้ว

10.ยกพวกตีกัน

เมียร์แคตรักครอบครัว รักสถาบัน รักฝูงของตัวเอง แต่ละฝูงก็มีพื้นที่หากินแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน แต่ก็มีบ่อยครั้งที่หากินทับถิ่นกัน ก็ต้องจบลงด้วยสงคราม เมียร์แคตจะยกพวกตีกันกับแก๊งในพื้นที่ข้างเคียงแทบทุกปี ศึกเมียร์แคตจะเริ่มต้นด้วยการยืนประจัญหน้ากันระหว่าง 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายจะแสดงท่าทางดุดันน่าเกรงขามพร้อมกับส่งเสียงขู่แก๊งตรงข้าม ถ้าศึกจบลงด้วยเสียงขู่ก็แยกย้ายกันไป แต่ถ้าขู่แล้วไม่สำเร็จก็ต้องนองเลือดกันล่ะ เห็นตัวเล็ก ๆ แบบนี้แต่ถึงรบไม่ขลาด ศึกเมียร์แคตจะใช้เวลาไม่นานแต่ดุเดือดเลือดพล่านถึงชีวิต แล้วก็รู้ผลแพ้ชนะ ในแต่ละปีเมียร์แคตผู้ใหญ่ต้องสังเวยชีวิตในสงครามไปมากกว่าครึ่ง

เกิดเป็นเมียร์แคตไม่ง่ายนะครับ

อ้างอิง