บทความนี้น่าจะตอบข้อสงสัยของบรรดาทาสแมวให้กระจ่างชัดสักที ทาสแมวบางคนอาจจะไม่แน่ใจว่าตกลงแล้วเจ้าเหมียวมันจำชื่อที่เราเรียกมันได้มั้ยนะ บางทีเรียกแล้วเหมียวก็มา แต่บ่อยครั้งกว่าที่เรียกแล้วมันก็ดูเฉยเมยไม่แยแสเหมือนไม่ได้ยินซะงั้น เพื่อหาคำตอบที่แน่ชัดให้กับทาสแมวทั่วโลก เราต้องขอบคุณ ดร.อัตซึโกะ ไซโตะ นักจิตวิทยาทางการรู้คิด ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เธอได้ทำการค้นคว้าและหาคำตอบให้กับข้อสันนิษฐานนี้อย่างจริงจัง แล้วเธอก็ประกาศผลการทดลองของเธอในชื่อว่า “การทดลองครั้งแรกที่มีหลักฐานยืนยันว่า แมวสามารถเข้าใจการสื่อสารจากน้ำเสียงของมนุษย์” และเผยแพร่เป็นสาธารณะทางเว็บไซต์เมื่อเดือนเมษายน 2019 ที่ผ่านมานี้

ผลการทดลองของ ดร.อัตซึโกะ พบว่า “แมวจำเสียงของทาสได้” แต่เธอก็ยังหาคำตอบต่อเนื่องลึกลงไปอีกว่า “เหมียวจะจำชื่อของมันได้ไหม” เธอกับทีมงานจึงไปหาเหมียวมาได้ถึง 78 ตัว เพื่อหาคำตอบนี้กัน ทีมงานได้บันทึกเสียงเรียกไว้ 4 คำ โดย 3 คำแรก จะเป็นคำที่ออกเสียงใกล้เคียงกับชื่อของเหมียวแต่ละตัว แล้วคำสุดท้ายถึงจะเป็นชื่อของเหมียวตัวนั้น เมื่อเปิดเสียงที่บันทึกไว้ แล้วทีมงานก็เฝ้าสังเกตปฏิกิริยาของเหมียวอย่างใกล้ชิด เมื่อ 3 คำแรกถูกกระจายเสียงออกไป เหมียวก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับเสียงที่ส่งออกมา ดร.อัตซึโกะ ได้ตอกย้ำว่าการแสดงออกเช่นนี้เป็นผลทางจิตวิทยาในการ “เพิกเฉยต่อสิ่งเร้า” เกิดขึ้นกับทั้งมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ที่เลือกจะไม่ตอบสนองต่อสัญญาณต่าง ๆ ที่ตระหนักได้ว่าสัญญาณนั้นไม่ส่งผลทั้งในด้านดีและด้านร้ายกับตัวเอง

แต่เมื่อเสียงสุดท้ายที่เป็นชื่อของเหมียวตัวนั้นถูกส่งออกไป แมวเหมียวจะมีอากัปกิริยาตอบสนอง หลาย ๆ ตัวจะกระดิกหูแล้วก็หันหน้ามาทางทิศทางเดียวกับเสียงเรียก แมวเหมียวจะมีอาการตอบรับกับชื่อของมันแม้ว่าจะเป็นเสียงจากคนแปลกหน้า ไม่ใช่เสียงที่เหมียวคุ้นเคยก็ตาม ดร.อัตซึโกะ ให้สมมติฐานเพิ่มเติมถึงอาการนี้ว่า เหมียวจะตอบสนองต่อชื่อของมันก็เพราะความคุ้นเคยเวลาที่ถูกเรียกชื่อ เหมียวมักจะได้รับของชอบ เช่น อาหาร , ขนม ได้เล่นกับทาส หรือแม้แต่ผลที่ตามมาในด้านลบเช่นการถูกทำโทษ หรือกิจกรรมที่เหมียวไม่ชอบที่สุด คือการโดนหิ้วไปร้านสัตวแพทย์

แต่ข้อสรุปที่ว่าเหมียวจะจำชื่อตัวเองได้นี้ ไม่สามารถนำมาระบุชัดกับบรรดาเหมียวในคาเฟ่แมวได้ จากการทดลองแบบเดียวกัน การกระจายเสียงเรียก 4 คำและลงท้ายด้วยชื่อเหมียวกับไม่มีผลต่อแมวในคาเฟ่ เพราะในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแมวเหมียวมากมาย แล้วผู้คนแปลกหน้าก็มากมายเช่นกัน เหมียวไม่สามารถจำแนกได้ว่าเสียงไหนคือชื่อตัวเอง เสียงไหนคือชื่อเพื่อนแมว และกิจวัตรที่ทำให้เหมียวคุ้นเคยคือเวลาที่ลูกค้าในคาเฟ่เรียกหาเหมียว ไม่ว่าแมวตัวไหนที่ไปถึงตัวลูกค้าก่อนก็มักจะได้กินขนม ทำให้บรรดาเหมียวไม่สามารถเรียนรู้จดจำหรือจำแนกเสียงที่เป็นชื่อของมันได้ ผลการทดลองในคาเฟ่แมวนี้เป็นเพียงสมมติฐานที่ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดเพราะทำการทดลองไปเพียงคาเฟ่แมวเดียว

มีผลการศึกษาจากนักวิทยาศาสตร์รายอื่นมาสมทบในหัวข้อนี้ด้วยเช่นกัน มิเคล เดลกาโด แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เขาทำการศึกษาพฤติกรรมสัตว์และให้ข้อสรุปว่า การที่เหมียวมีปฏิกิริยาตอบรับต่อชื่อนั้น ไม่ได้เหมือนคนเราที่เข้าใจว่าเสียงนี้คือชื่อเฉพาะของมัน แต่เป็นเสียงที่เหมียวคุ้นเคยว่า ถ้าได้ยินเสียงนี้แล้วสิ่งที่จะตามมาก็คือ อาหาร การเค้าคลอจากทาส หรืออะไรก็ตามแต่ที่เหมียวพึงพอใจ และความสามารถนี้ก็สามารถพบได้ในสัตว์ประเภทอื่นเช่นกัน

อีกสักคนที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จอห์น แบรดชอว์ นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ให้ข้อมูลเสริมว่า ไม่ใช่ว่าแมวทุกตัวที่เราเรียกชื่อแล้วจะวิ่งมาหา อย่างมากเหมียวก็จะแสดงอาการรับรู้เพียงแค่กระดิกหู หรือหันหน้ามาหาเท่านั้น จะมีแมวน้อยกว่า 10% ที่จะลุกแล้ววิ่งมาหาเวลาที่ทาสเรียกหา “ที่จริงแล้วแมวก็มีความสามารถในการเรียนรู้ได้พอ ๆ กับหมานั่นล่ะ เพียงแต่แมวมันไม่อยากแสดงออกให้ทาสเห็นว่าที่จริงมันก็รู้อะไรเยอะ” ช่างเป็นคุณสมบัติที่ยืนยันถึงความยะโสของเหมียวจริง ๆ

ปิดท้ายด้วยความเห็นของ ดร.อัตซึโกะ ไซโตะ ผู้ทำการทดลองนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง เธอบอกว่าตัวเธอเองก็เป็นทาสแมว เหมียวของเธอชื่อ โอคาระ เวลาที่เธอเรียกหาเจ้าโอคาระ มันก็ไม่ค่อยมาหาเธอเช่นกัน ซึ่งเธอก็พอเข้าใจได้ว่าแมวเป็นสัตว์ที่เจ้าอารมณ์ แต่ก็ยังเป็นสัตว์ที่น่าเอ็นดู และเป็นที่รักของมนุษย์ทั่วโลก “พวกมันน่ารักมาก ๆ แต่พวกมันก็ช่างเห็นแก่ตัวด้วยค่ะ”

คนเขียนก็เป็นทาสแมว ยืนยันอีกเสียงว่า จริงครับ

 

อ้างอิง