Lenovo Yoga 6 โน้ตบุ๊ก 2-in-1 ที่ใช้ได้หลากหลาย พิมพ์ก็ได้ พับก็ดี เขียนก็ง่าย แถมทัชจอได้ มาพร้อมขุมพลังของ AMD ที่แรงส์และใช้งานได้ยาวนานเป็นวัน ๆ แบบไม่ง้อที่ชาร์ต ที่สำคัญฝาหลังยังหุ้มผ้ามาด้วยนะคะ บอกเลยว่าน่าใช้ แต่จะสักแค่ไหน เดี๋ยวคลิปนี้ออมแบไต๋ให้ดู

ดีไซน์

จุดแรกของ Lenovo Yoga 6 ที่ออมอยากให้ทุกคนดูนั่นก็คือ ฝาหลังที่หุ้มด้วยผ้าตรงนี้เลย! ออมว่าฝาหลังแบบนี้ดูดีนะคะ อีกมุมก็ดูน่ารักไม่เหมือนใคร เวลาคนเห็นก็มาทักว่าน่าใช้ตลอด

สำหรับสีของฝาหลังที่หุ้มผ้าจะเป็นสีเขียว Dark Teal พื้นผิวลูบแล้วสาก ๆ เหมือนผ้ายีน ทำให้เวลาจับแล้วไม่ลื่นค่ะ ส่วนใครที่กังวลว่าจะเลอะง่ายไหม จากที่ลองถือใช้มาก็ต้องบอกว่าไม่ง่ายนะคะ เพราะเขาเคลือบสารป้องกันคราบและน้ำไว้ อันนี้พี่หนุ่ยเคยเทสให้ดูในเจนเนอเรชันที่แล้ว

รู้หรือไม่คะว่า เห็นเป็นผ้าสวย ๆ แบบนี้ ส่วนประกอบ 50% มาจากพลาสติกรีไซเคิลด้วยนะคะ แบบนี้รักษ์โลกเลยค่ะ

พูดถึงเรื่องดีไซน์ภาพรวม Lenovo Yoga 6 ในปีนี้ก็ต่างจากปีก่อนอยู่นิดหน่อยค่ะ ตรงที่ข้างเครื่องจะเปลี่ยนจากขอบคม ๆ ให้กลายเป็นขอบมน ๆ แบบนี้ ลูบแล้วไม่รู้สึกบาดมือเลยค่ะ!

ด้านการพกพาก็ทำได้ค่อนข้างสะดวก เพราะมีขนาดใกล้เคียงกับ A4 เลยค่ะ ส่วนความหนาก็อยู่ที่ 1.73 ซม. และหนัก 1.39 กก. ซึ่งแน่นอนต้องนับรวมอะแดปเตอร์ด้วยคะ น้ำหนักก็จะอยู่ที่ 1.6 กก. เลย

โดยรวมความกะทัดรัดออมว่าโอเค พกพาสะดวก แต่ความหนาและหนักอาจมากไปสักหน่อยเวลาต้องถือมือเดียวในโหมดแท็บเล็ตค่ะ

พูดถึงการใช้งานในรูปแบบอื่น ๆ Lenovo Yoga 6 ก็สามารถเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ถึง 4 แบบเลยค่ะ

ทั้งการปรับมาใช้งานเหมือนโน้ตบุ๊กทั่วไป ปรับเป็นโหมดเต็นท์หรือโหมดสแตนด์สำหรับวาดเขียน หรือถ้าอยากได้ความคล่องตัวหยิบจับง่ายก็พับเป็นแท็บเล็ตได้ค่ะ!

อันนี้ออมว่าน่าจะเหมาะกับคนอยากได้การใช้งานที่ยืดหยุ่น ใช้ได้หลายสถานการณ์ เป็นโน้ตบุ๊กพิมพ์งานก็ได้ เป็นกระดานวาดเขียนก็ดี หรือถือจดโน้ตแบบแท็บเล็ตอันนี้ก็น่าสนใจค่ะ

หน้าจอ

สำหรับสเปกหน้าจอของ Lenovo Yoga 6 ก็เป็นจอ IPS ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด WUXGA ในสัดส่วน 16:10 ที่มีพื้นที่บนและล่างเยอะกว่าจอปกติ ส่วนความสว่างก็อยู่ที่ 300nits และการแสดงสีก็เป็นแบบ 100% sRGB เลย

ออมลองใช้จอนี้วาดรูป หรือใช้จดงานดู ถือว่าโอเคเลยนะคะ ใช้นิ้วทัชหน้าจอแทนเมาส์ได้ และปากกา Lenovo Active Pen ที่เขาแถมมาให้ในกล่อง สามารถลากเส้นตามน้ำหนักมือได้เลยค่ะ แต่เสียดายหัวปากกาค่อนข้างฝืด ทำให้เขียนไม่ค่อยลื่นเท่าไร และไม่มีแม่เหล็กในตัว ถ้าแก้สองจุดนี้ได้จะดีมากเลยค่ะ

นอกจากการใช้งานแล้ว ถ้าเอาไปดูหนังหรือฟังเพลงก็ดีด้วยเช่นกัน เพราะเขาใส่ระบบภาพและเสียง Dolby Vision และ Dolby Atmost มาเพิ่มความสมจริงให้ด้วยค่ะ บอกเลยว่าฟินมาก

คีย์บอร์ดและทัชแพด

มาพูดถึงคีย์บอร์ดและทัชแพดกันบ้างค่ะ ออมว่าให้สัมผัสที่ดีทั้งคู่เลยนะคะ คีย์บอร์ดก็นุ่ม เด้งนิ้ว พิมพ์สนุก แถมมีไฟใต้ปุ่มสำหรับใช้ในที่มืดด้วยค่ะ

ด้านทัชแพดก็มีขนาดใหญ่ ให้สัมผัสที่ลื่นนิ้วเวลาจะลากไฟล์ไกล ๆ แทบไม่ต้องยกนิ้วขึ้นเลยค่ะ เวลากดคลิกก็รู้สึกเลยว่าแน่น

ส่วนช่องที่อยู่มุมนี้ คือเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ เอาไว้ปลดล็อกเครื่องค่ะ การปลดล็อกก็ทำได้รวดเร็วแบบนี้เลย นอกจากนี้กล้องเว็บแคม IR ก็ปลดล็อกได้รวดเร็วเช่นกันนะคะ

กล้องเว็บแคม

พูดถึงกล้องเว็บแคม Lenovo Yoga 6 ก็เลยใส่กล้อง 1080p มาที่มีคมชัดกว่ากล้องทั่วไปค่ะ นอกจากนี้ยังมี Privacy Shutter ไว้ปิดกล้องเพื่อความเป็นส่วนตัวด้วยคือดีเลย

สเปก

มาพูดถึงความแรงกันบ้าง Lenovo Yoga 6 เลือกใช้ซีพียู AMD Ryzen™ 7 5700U ที่จับคู่มากับการ์ดจอ AMD Radeon™ ในตัว จุดเด่นของรุ่นนี้คือ จากเทคโนโลยีการผลิต 7 นาโนเมตร ที่อัตราการกินไฟน้อยมากๆ ทำให้เราสามารถพกเจ้าเครื่องนี้ไปใช้งาน ด้านนอกสถานที่ได้แบบยาว ๆ ทั้งวันไม่ต้องกังวลเรื่องแบตหมด อีกทั้ง iGPU ของเครื่องรุ่นนี้ยังรองรับงานออกแบบ , เขียนแบบประเภท (blender , sketchup) ได้อย่างลงตัว ที่สำคัญสุดๆอุณหภูมิของตัวเครื่องก็ไม่สูง นี่แหล่ะ hybrid work latop รุ่นใหม่ที่คุณต้องมี++ประหยัดไฟ ในขณะเดียวกันก็ยังได้ประสิทธิภาพที่ดี

ออมลองทดสอบซีพียูด้วย Geekbench 5 ได้คะแนน Single Core ไป 1163 และ Multi Core 6,533 คะแนนค่ะ โดยรวมถือว่าโอเคกับการใช้ในชีวิตประจำวันเลย จะดูหนังก็ลื่น พิมพ์งานก็สะดวก หรือจะวาดรูปแต่งรูปเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็พอได้น้าแบบที่เห็นเลย

ส่วนแรมที่เขาให้มาก็มีขนาด 16GB ซึ่งเพียงพอกับการที่จะเปิดหลาย ๆ แท็บได้โดยไม่หน่วงค่ะ ในขณะเดียวกันพื้นที่เก็บข้อมูลก็เป็น SSD ขนาด 512GB ค่ะ ซึ่งมีความเร็วในการอ่านอยู่ที่ 3586 MB/s และการเขียนอยู่ที่ 2515MB/s ค่ะ ถือว่าเร็วเลยนะคะ

ประสิทธิภาพโดยรวมของ Lenovo Yoga 6 กับการใช้งานทั่วไปในออฟฟิศหรือใช้ในการเรียนการสอนเลย ออมให้ผ่านค่ะ

แบตเตอรี่

ทีนี้เรามาพูดถึงเรื่องแบตเตอรี่กันบ้าง ออมได้ลองเอาไปใช้งานนอกสถานที่อยู่ราว ๆ หนึ่งอาทิตย์ก็พบว่า แบตของ Lenovo Yoga 6 ที่ให้มา 59Wh สามารถใช้งานได้ราว ๆ 8 ชั่วโมง ถือว่าอึดพอใช้ทั้งวันเลย ทำให้ไม่จำเป็นต้องติดอะแดปเตอร์ไปชาร์จค่ะ

พอร์ตเชื่อมต่อ

มาพูดถึงพอร์ตเชื่อมต่อกัน ตรงนี้จะมี USB-C 3.2 Gen 2 สองช่อง ที่รองรับการโอนถ่ายข้อมูล ต่อหน้าจอแยก และเสียบชาร์จค่ะ ซึ่งเสียบช่องไหนก็ได้นะคะ ถัดมาเป็นช่อง HDMI ที่ชาวออฟฟิศน่าจะชอบกันเพราะต่อจอเวลาต้องพรีเซนต์งานได้เลย ไม่ต้องผ่านอะแดปเตอร์

ส่วนถัดมาเป็นช่องหูฟัง 3.5 mm. ค่ะถัดมาอีกฝั่งเขาก็มีช่อง USB-A 3.2 Gen 1 สองช่อง และมีช่องอ่าน MicroSD Card ด้วยนะคะ โดยรวมพอร์ตของ Lenovo Yoga 6 ให้มาครบเลยนะคะ ส่วนการเชื่อมต่อไร้สายก็เป็น WiFi 6 ค่ะ
ด้านซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งมาให้ตั้งแต่โรงงานก็จะมี Windows 11 Home และ Microsoft Office Home & Student 2021 ที่ประกอบด้วย Word, Excel, PowerPoint เรียกว่าเปิดเครื่องมาก็ใช้งานได้เลย สายเรียนสายทำงานน่าจะชอบกันนะคะ

ข้อสังเกต

มาพูดถึงข้อสังเกตกันบ้างค่ะ ออมมีมาฝากสองจุดค่ะ เรื่องแรกคือความหนาและน้ำหนักที่มากไปสักหน่อยสำหรับการใช้มือเดียวค่ะ และอีกจุดคือบานพับค่อนข้างแข็ง ทำให้เราไม่สามารถเปิดเครื่องได้ด้วยมือเดียวค่ะ แต่ทั้งสองจุดออมว่าไม่กระทบการใช้งานในภาพรวมนะคะ

รีวิวที่ดีต้องมีราคา

Lenovo YOGA 6 สเปก AMD Ryzen™ 7 5700U แรม 16GB หน่วยความจำ SSD 512GB มีค่าตัวอยู่ที่ 34,990.- บาทค่ะ

ซึ่งราคานี้จะได้ประกันแบบ Premium Care และประกันอุบัติเหตุ Accidental Damage Protection (ADP) ที่อาจเกิดขึ้นได้ มีไว้ยังไงก็อุ่นใจกว่าค่ะ

ใครที่อยากได้ Lenovo YOGA 6 โน้ตบุ๊กยุคใหม่ที่ครบจบในตัว ก็ไปจัดกันที่ร้านค้าพาร์ทเนอร์ของเลอโนโวชั้นนำทั่วประเทศ อย่าง Blue Shop / JIB ได้เลย