“แบงก์ชาติ” แจงปัญหาสกิมมิ่ง เผยบอร์ด กรช. ช่วงที่ผ่านมาได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์ปรับระบบให้บริการผ่านตู้และบัตรเอทีเอ็มใหม่ โดยหันมาใช้ระบบ “ชิพการ์ด” แทนระบบแถบแม่เหล็ก ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลได้มากขึ้น พร้อมมีมติให้ตู้เอทีเอ็มทั้งหมดปรับมาใช้ชิพการ์ดภายในสิ้นปี 2558 ส่วนบัตรเอทีเอ็มที่ออกใหม่ตั้งแต่ม.ค. 2559 ต้องใช้ระบบชิพการ์ดแทนทั้งหมด

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีปัญหาการโจรกรรมข้อมูลผ่านบัตรเอทีเอ็มในช่วงที่ผ่านมานั้น ธปท.เองไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) ของ ธปท. ได้มีมติให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปรับระบบการให้บริการผ่านตู้เอทีเอ็ม โดยหันมาใช้ระบบชิพการ์ดซึ่งเป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูงกว่าระบบแถบแม่เหล็กที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับการปรับระบบดังกล่าวนั้น กรช.มีมติให้ตู้เอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องปรับมาใช้ระบบชิพการ์ดทั้งหมดภายในสิ้นปี 2558 ส่วนบัตรเอทีเอ็มใหม่ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ก็ต้องหันมาใช้ระบบชิพการ์ดแทนทั้งหมด ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้กับบัตรใหม่ที่ออกตั้งแต่เดือนม.ค. 2559 เป็นต้นไป

“ระบบชิพการ์ดน่าจะช่วยให้การทำสกิมมิ่ง (การโจรกรรมข้อมูลผ่านบัตรเอทีเอ็ม) ทำได้ยากขึ้น เพราะในต่างประเทศที่เขาใช้ระบบชิพการ์ดก็มีการพิสูจน์แล้วว่า เป็นระบบที่สามารถป้องกันการสกิมมิ่งได้ดีกว่าระบบแถบแม่เหล็ก” นางรุ่ง กล่าว

เธอกล่าวด้วยว่า การป้องกันการโจรกรรมข้อมูลนั้น นอกจากการปรับระบบการให้บริการโดยหันมาใช้ระบบชิพการ์ดกับบัตรและตู้เอทีเอ็ม แทนระบบแถบแม่เหล็กแล้ว ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์เองก็มีระบบป้องกันการตรวจจับทุจริตต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยตอบสนองได้เร็วต่อสถานการณ์ที่มากขึ้น

ขณะเดียวกัน หากธนาคารพาณิชย์ตรวจสอบพบว่า ความเสียหายที่เกิดกับลูกค้าเกิดจากการสกิมมิ่ง หรือระบบที่มีปัญหาของธนาคารพาณิชย์เอง เขาก็พร้อมที่จะรับผิดชอบดูแลลูกค้า ทั้งหมดนี้จึงน่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการได้

“ที่ผ่านมา ศคง. (ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน) ไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องเหล่านี้เท่าไรนัก แต่ก็ได้ย้ำเตือนไปยังผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปให้ระมัดระวัง เพราะว่าการโจรกรรมข้อมูลไม่ได้เกิดเฉพาะกับการสกิมมิ่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีทั้งในรูปแบบคอลล์เซ็นเตอร์ หรือ รูปแบบต่างๆ ด้วย ขณะเดียวกันได้ขอให้ลูกค้าหรือประชาชนช่วยสังเกตความผิดปกติตามตู้เอทีเอ็มด้วย หากพบความผิดปกติใดๆ ก็ขอให้รีบแจ้งไปยังผู้ให้บริการของตู้เอทีเอ็มนั้นๆ” นางรุ่ง กล่าว

สำหรับคณะกรรมการ กรช. ประกอบด้วย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. ในฐานะประธานกรรมการบอร์ด กรช. และ นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ในฐานะรองประธานกรรมการบอร์ด กรช. และ นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธปท. ในฐานะกรรมการบอร์ด กรช.

นอกจากนี้มี นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ ที่ปรึกษากรมบัญชีกลาง ในฐานะกรรมการบอร์ด กรช. นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานหอการค้าไทย ในฐานะกรรมการบอร์ด กรช. นายชาติศิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะกรรมการบอร์ด กรช. นายรอม หิรัญพฤกษ์ ในฐานะกรรมการบอร์ด กรช. และ นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการบอร์ดกรช.

ที่มา : Bangkokbiznews