ภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งที่อาจไม่ปรากฎในข่าวช่วงนี้เพราะข่าวโรคระบาดและภัยพิบัติอื่นกลบกระแสไปนั่นคือ ภัยแล้งแถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งกับภัยพิบัติชนิดนี้ก็ดูเหมือนจะเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์มากกว่าเป็นเพราะธรรมชาติ รายงานข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยว่า เขื่อนแม่น้ำโขงในประเทศจีนอาจกักน้ำจำนวนมหาศาล ในขณะประเทศปลายน้ำเผชิญความแห้งแล้งรุนแรงในปี 2019 ที่ผ่านมา ในงานวิจัยของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จีนมีระดับน้ำของแม่น้ำโขงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของน้ำในแม่น้ำทั้งหมดที่มีความยาว 4,350 กิโลเมตร ขณะที่รัฐบาลของจีนได้โต้แย้งผลศึกษาดังกล่าวว่า ปีที่ผ่านมาจีนก็ประสบภาวะแล้งน้ำโดยมีระดับน้ำฝนต่ำในช่วงฤดูมรสุมเช่นกันประเทศอื่น ๆ

แม่น้ำโขงในวันนี้ที่แห้งขอดลงอย่างเห็นได้ชัด

แม่น้ำโขงในวันนี้ที่แห้งขอดลงจนแห็นแก่งโขดหินอย่างเห็นได้ชัด

ผลการศึกษาโดยบริษัท Eyes on Earth ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านน้ำ เปิดเผยผลการศึกษาที่สนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ถึงข้อมูลการจัดการแม่น้ำโขงระหว่างจีนและประเทศอื่น ๆ ที่เป็นผู้อุปโภคบริโภคและมีวงจรชีวิตเกี่ยวข้องกับแม่น้ำสายนี้กว่าา 60 ล้านคนในประเทศลาว เมียนมาร์ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยพบว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงตอนล่างส่งผลให้น้ำอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวบ้านและชาวประมงจนทำให้พบเห็นดินทรายแห้งขอดกลางแม่น้ำในหลายพื้นที่

Alan Basist นักอุตุนิยมวิทยา และประธานของบริษัท Eyes on Earth ที่ทำการศึกษาวิจัยในครั้งนี้เปิดเผยว่า ข้อมูลดาวเทียมที่วัดความชื้นของพื้นผิวในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งเป็นบริเวณของแม่น้ำโขงตอนบน ได้แสดงข้อมูลภาพให้เห็นว่า ในปี 2019 พื้นที่นั้นมีปริมาณน้ำที่อุดมสมบูรณ์กว่าปกติ รวมน้ำที่มาจากฝนและการละลายของหิมะ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนของจีน ในขณะประเทศปลายน้ำโขงกลับแห้งแล้งจนดินในแม่น้ำแตกระแหง ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงฝั่งชายแดนไทยลาวต่ำกว่าปกติถึง 3 เมตร “จีนไม่ปล่อยน้ำในช่วงฤดูฝน แม้รู้ว่าการกักน้ำจะส่งผลกระทบมหาศาลต่อความแห้งแล้งในปลายน้ำ” Basist ยืนยัน

ชาวบ้านแถบลุ่มแม่น้ำโขงในหลายประเทศ ได้รับผลกระทบจากการกักน้ำไว้ที่ต้นทางตามงานวิจัยของสหรัฐฯ (ภาพ REUTERS/Soe Zeya Tun/File Photo)

ชาวบ้านแถบลุ่มแม่น้ำโขงในหลายประเทศ ได้รับผลกระทบจากการกักน้ำไว้ที่ต้นทางตามงานวิจัยของสหรัฐฯ (ภาพ REUTERS/Soe Zeya Tun/File Photo)

การศึกษาของบริษัท Eyes on Earth  ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมที่มีเทคโนโลยีเฉพาะที่มีชื่อว่า Special Sensor Microwave Imager/Sounder (SSMI/S) สามารถตรวจสอบน้ำบนพื้นผิวที่มาจากฝนและการละลายของหิมะของแม่น้ำโขงบริเวณประเทศจีนตั้งแต่ปี 1992-2019 และนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลแม่น้ำโขงบริเวณอำเภอเชียงแสนของประเทศไทยซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้จีนที่สุด เพื่อตั้งโมเดลคาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำธรรมชาติ ในปี 2012 เมื่อจีนเริ่มเปิดเขื่อนพลังงานน้ำขนาดใหญ่ ตัวเลขของระดับน้ำเริ่มต่างจากเดิม ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่จีนเริ่มกักน้ำในฤดูฝนเพื่อนำมาใช้ในฤดูแล้ง โดยล่าสุดความแตกต่างนั้นปรากฎผลร้ายที่ชัดเจนมากที่สุดในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการศึกษาในปีที่แล้ว จำกัดเฉพาะเจาะจงไปที่น้ำที่ไหลจากจีน แต่ไม่ได้ศึกษาถึงปลายน้ำ อย่างในประเทศลาวที่ก็ได้เปิดดำเนินเขื่อนกั้นแม่น้ำ 2 แห่งในปลายปี 2019 เช่นเดียวกับจีน

ผลกระทบจากเขื่อนทั้งหมด 11 แห่งที่ตั้งอยู่ต้นแม่น้ำโขงของจีน เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนที่ชาวโลกรับรู้เป็นการทั่วไปนั้นมีน้อยมาก เพราะประเทศจีนไม่ทำการเปิดเผยข้อมูลการกักน้ำที่เขื่อนใช้ ซึ่งบริษัท Eyes on Earth ได้ให้ข้อมูลว่า เขื่อนทุกแห่งของจีนได้ทำการกักน้ำสูงถึงมากกว่า 47,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ประเทศจีนไม่มีสนธิสัญญาที่ตกลงการบริหารจัดการเรื่องน้ำอย่างเป็นทางการกับประเทศอาเซียนแถบแม่น้ำโขงตอนล่าง แม้เพียงสัญญาใจว่าจะร่วมจัดการน้ำ ก็ไม่ทำให้เกิดความโปร่งใสและเกิดการตรวจสอบสาเหตุความแห้งแล้งในปีที่ผ่านมาและปีต่อ ๆ ไป

ภาพแม่น้ำโขงที่แห้งขอด ปรากฎในหลายประเทศอาเซียนที่อยู่บนเส้นทางแม่น้ำโขงตอนล่าง

ภาพแม่น้ำโขงที่แห้งขอด ปรากฎในหลายประเทศอาเซียนที่อยู่บนเส้นทางแม่น้ำโขงตอนล่าง (ภาพจาก REUTERS/Panu Wongcha-um/File Photo)

ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนแย้งว่า คำอธิบายว่าการทำเขื่อนของจีนในแม่น้ำโขงที่จีนเรียกว่า “แม่น้ำล้านช้าง” (Lancang River) ส่งผลกระทบให้เกิดเป็นภัยแล้งในภูมิภาคอาเซียนนั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะมณฑลยูนนานของจีนก็ประสบปัญหาภัยแล้งเมื่อปีที่แล้วและระดับน้ำในเขื่อนก็ลดน้อยลงเช่นกัน โดยมีปริมาณน้ำต่ำที่สุดกว่าที่ผ่านมา พร้อมทั้งยืนยันว่าแม้ประสบภาวะเช่นนี้ จีนก็ยังคงพยายามปล่อยน้ำปริมาณที่เหมาะสมยังประเทศลุ่มน้ำตอนล่าง อย่างไรก็ตาม การติดตามข่าวนี้ก็ต้องใช้วิจารณญาณอยู่พอสมควร เพราะประเทศที่เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยคือประเทศที่มีกรณีสงครามการค้ากับประเทศจีนอยู่ด้วยนั่นเอง

อ้างอิง

อ้างอิง

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส