[รีวิว] BURDEN – ให้รักนำทางไป ไปทลายกำแพงแห่งความเกลียดชัง

Release Date

25/06/2020

แนวภาพยนตร์

ดรามา

เรต

R

ความยาว

129 นาที

ผู้กำกับ

Andrew Heckler

[รีวิว] BURDEN – ให้รักนำทางไป ไปทลายกำแพงแห่งความเกลียดชัง
Our score
8.7

BURDEN

จุดเด่น

  1. ตัวหนังดูไม่ยาก แม้ว่าจะมีประเด็นซีเรียส
  2. มีส่วนผสมของหนังรักโรแมนติกอยู่นิดหน่อย แต่เป็นหนังโรแมนติกที่ดูแล้วไม่เอียน
  3. Forest Whitaker และ Garrett Hedlund เล่นกันได้สมบทบาททั้งคู่

จุดสังเกต

  1. ตัวหนังปูเรื่องยาวประมาณหนึ่ง แต่พอมาเชื่อมกันได้ก็ดูรู้เรื่องเลย
  2. คนที่ไม่อินเรื่องศาสนา อาจจะขัดใจกับประเด็นและบทสรุปที่อิงความเป็นศาสนา
  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    9.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    8.5

  • คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง

    8.5

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    8.5

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    9.0

เรื่องย่อ – “ไมก์ เบอร์เดน” (Garrett Hedlund) เป็นเด็กกำพร้าที่โตขึ้นมาในกลุ่ม “คูคลักซ์แคลน” (Ku Klux Klan) หรือกลุ่มลัทธิเหยียดสีผิวหัวรุนแรง ที่ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อบุญธรรมอย่าง “ทอม กริฟฟิน” (Tom Wilkinson) ที่พยายามจะเปิด “Redneck Shop” ร้านค้ากึ่งพิพิธภัณฑ์ของกลุ่มคนต่อต้านคนดำ แต่หลังจาก “จูดี” (Andrea Riseborough) แฟนสาวของเขาเกลี้ยกล่อมให้เขาคิดใหม่ และออกมาจากวังวนแห่งความรุนแรง ก็ทำให้กลุ่มของเขาเองไม่พอใจ เปลี่ยนสถานะจากมิตรกลายเป็นศัตรูที่ต้องโดนตามล่า นอกจากเบอร์เดนจะไม่เป็นที่ต้อนรับจากฝั่งของคนขาวหัวรุนแรง ในชุมชนคนดำองก็ไม่ต้อนรับเขาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม “สาธุคุณเคนเนดี” (Forest Whitaker) เป็นเพียงคนเดียวที่พยายามช่วยเหลือและเห็นใจเบอร์เดน แม้ว่ามันจะทำให้เขามีปัญหา ถูกคนในสังคมเดียวกันไม่พอใจตามไปด้วยก็ตาม

เรียกว่าหนังออกมาพอดีกับช่วงกระแสต้านการเหยียดผิว หรือที่มีแฮชแท็ก #blacklivesmatter ขึ้นมาแบบเหมาะเจาะพอดี แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ได้ใหม่ เพราะตัวหนังเองก็ตั้งแต่ปี 2018 โน่นแล้ว แถมบทหนังก็เริ่มเขียนกันมาตั้งแต่เมื่อ 15 ปีที่แล้วโน่นแน่ะ โดยนักแสดงที่ผันตัวมากำกับหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกอย่าง Andrew Heckler ได้ไปเจอเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการเหยียดผิวของกลุ่ม “คูคลักซ์แคลน” (Ku Klux Klan) ในหนังสือพิมพ์ในช่วงประมาณปี 1997 ในรัฐเซาท์คาโรไลนา

จนเขาได้ไปเก็บข้อมูลและใช้เวลาพัฒนาบท รวมถึงเจอกับเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากนักต่อต้านคนผิวดำ กลายเป็นมนุษย์ผู้มองคนเป็นคน และมาร่วมมือกับ Robbie Brenner ผู้อำนวยการสร้างหนังติดโผออสการ์อย่าง Dallas Buyers Club (2013) มาเป็นผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้ด้วย จนกลายมาเป็นหนังเรื่องนี้ ที่ได้มีโอกาสเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังซันแดนซ์ปี 2018 และยังได้รับรางวัล U.S. Dramatic Audience Award จากงานเดียวกันไปครองอีกด้วย

สำหรับตัวเนื้อเรื่อง จริง ๆ โทนโดยรวมของเรื่องแม้ว่าประเด็นที่เล่าจะซีเรียสมากในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องชื่นชมนะครับว่า ตัวหนังไม่ได้ดูยากเลย ตัวหนังเล่าแบบตรงไปตรงมามาก ๆ ซึ่งแน่นอนว่าผลพวงของการเล่าแบบตรงไปตรงมา มันก็จะส่งผลทำให้เดาเรื่องเดาทางได้ง่ายนิดหนึ่งแหละ ว่าบทสรุปมันจะไปทางไหน รวมถึงเรื่องราวของศาสนาที่นำโดยสาธุคุณเคนเนดี ที่ก็ต้องบอกว่ามันแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเลย คือในเรื่องมีเรื่องของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแน่นอนล้านเปอร์เซนต์

จะบอกว่าเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ทำให้พระเอกเปลี่ยนจากคนขาวที่เกลียดคนดำ เพียงเพราะสับสนในที่มาที่ไปของตัวเอง และไม่เข้าใจตัวเองสักทีว่าเป็นใคร กลายเป็นมนุษย์ผู้ได้รับการชำระบาปทางจิตวิญญาณด้วยศาสนา ซึ่งบทสรุปแบบนี้มันก็อาจจะทำให้คนที่ไม่ได้อินกับศาสนาพาลจั๊กจี้หรือดูแล้วเอียนได้เลยแหละ แต่ด้วยความที่หนังเรื่องนี้สร้างมาจากเรื่องจริง ตัวหนังก็เลยพอที่จะมีพลังและทำให้รู้สึกคล้อยตามไปได้

แต่เอาจริง ๆ ถ้าจะมองให้ลึก ศาสนาคริสต์ในเรื่องก็อาจเป็นเพียงตัวเร่งก็ได้นะครับ เพราะแท้จริงแล้ว สิ่งที่ทำให้ไมก์เปลี่ยนตัวตน และค้นหาความหมายของตัวเองเจอนั่นก็เป็นเพราะความรักต่างหาก คือถ้าไมก์ไม่ได้เจอรักครั้งแรกกับจูดี และไม่ได้พบกับความรักอันยิ่งใหญ่ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันของสาธุคุณเคนเนดี ที่คอยช่วยเหลือเขาไว้ แม้ว่าจะดูไม่น่าไว้ใจก็ตาม ไมก์ก็คงจะยังอยู่กับกลุ่ม KKK ทำงานยึดของผ่อนตามบ้าน ดูแลพิพิธภัณฑ์ KKK แล้วก็อาจจะรังแกหรือคร่าชีวิตคนผิวดำ ในขณะที่ตัวเองก็กลายเป็นคนกำพร้าที่เติบโตแต่ร่างกาย แต่ไม่ได้โตทางจิตวิญญาณ ความรัก การมองโลก มองคนอื่น ๆ ในมุมที่ดีเลยแม้แต่น้อย

ด้วยความรักจากแฟนสาว และความรักจากสาธุคุณเคนเนดี ผู้เป็นชายผิวดำ ทำให้หนุ่มกุ๊ยกำพร้าผู้เติบโตจากลัทธิเกลียดคนผิวดำกลายร่างเป็นคนใหม่ ที่ทั้งเข้าใจว่าคนทุกคนย่อมเหมือนกันไม่ว่าผิวสีใด และยังเข้าใจตัวเองว่า แม้สิ่งที่เขาได้ทำไปนั้นจะผิดมหันต์จนรู้สึกให้อภัยตัวเองไม่ได้ และเวียนวนไปกับความสับสนลักลั่นที่ไม่รู้ว่าชีวิตตัวเองเป็นของใคร หรือต้องทำอะไรกันแน่

ซึ่งในหนังเราจะได้เห็นความสับสนของไมก์ ที่ดูเหมือนว่าจะละทิ้งทางไหนก็ไม่ลง แล้วก็ลงเอยไปอยู่ในทางสามแพร่งที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครเอาเขา และครอบครัวของเขาซะด้วย แต่ด้วยความรักจากคนรอบข้าง ทั้งจูดี แฟรงคลิน และสาธุคุณเคเนดีล้วน ๆ นี่แหละที่ทำให้เขามองเห็นปัญหา มองกลับเข้ามาเห็นตัวเอง ยอมรับว่าตัวเองได้ทำผิดอะไรไว้บ้าง และสุดท้ายก็รู้จักที่จะรักคนอื่น ๆ ในแบบที่เขาได้รับได้ในที่สุด

และแม้ว่าตัวหนังจะพูดเรื่องประเด็นซีเรียสอย่างเรื่องของการเหยียดสีผิวเป็นหลัก แต่สิ่งที่ผมและผู้ชมน่าจะสังเกตได้คือ ด้วยความที่ตัวหนังเล่าถึงชีวิตรักและอุปสรรคการครองชีวิตคู่ระหว่างไมก์กับจูดี จากการที่โดนกีดกันและไม่ยอมรับจากสังคมทั้งสองฟากฝั่ง ในอีกมุมของหนังที่ใส่มาได้อย่างพอดีไม่ล้นเกินก็คือ ส่วนผสมของความเป็นหนังรักโรแมนติกระหว่างคู่ของไมก์และจูดีนี่แหละ ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นมุมมองความรักของคนทั้งคู่ (รวมถึงลูกชายของจูดีด้วย) เคล้าคลอไปตลอดทั้งเรื่องเลย

ซึ่งแม้ว่าทั้งสามคนจะต้องเจออุปสรรคมากมายขนาดไหน แต่สุดท้าย เราจะได้เห็นมุมที่น่าจะเป็นสิ่งที่คู่รักควรจะเป็นจริง ๆ คือช่วยกันโอบอุ้มและประคับประคองกันไป แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันตรงที่ไมก์ไม่ใช่รักแรกของจูดี ส่วนจูดีคือรักแรกของไมก์ แต่ด้วยความรัก (และขาดที่จะไป) ของไมก์ และความอดทนสุด ๆ ของจูดี นี่จึงเป็นส่วนผสมหลักที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีกลิ่นอายหนังรักโรแมนติกที่ไม่เลื่ยนเลยแม้แต่น้อย แถมยังเข้ามาทำให้เรื่องซีเรียสดูกลมกล่อมยิ่งขึ้นไปด้วย

อีกจุดที่ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ทำได้ดีก็คือ ตัวหนังที่พยายามจะทำให้เราได้เห็นมุมต่าง ๆ จากทั้งฝั่งคนขาว และคนดำ ที่เอาจริง ๆ ก็ไม่ได้มีใครดีเด่ไปกว่ากัน แม้ตัวหนังจะไฮไลต์เข้ม ๆ ไปที่ความเป็นปีศาจของคนขาว ที่พยายามจะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ KKK (ซึ่งหมายรวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเช่นตำรวจ ที่ก็มีความเลือกปฏิบัติ ช่วยเหลือคนขาว รังแกคนดำอยู่) และฝั่งสาธุคุณและศิษยานุศิษย์ที่พยายามต่อต้านพิพิธภัณฑ์นี้ และต่อต้านการเหยียดผิวด้วยการประท้วงแบบสันติวิธี (ซึ่งก็อาจะถูกมองว่าเป็นฝั่งดีงาม) ซึ่งที่จริงแล้วหนังพยายามจะเล่าถึงคน 4 แบบ ทั้งคนขาวที่ดี คนขาวที่ชั่ว ส่วนคนดำก็มีทั้งคนดำที่ดี และคนดำที่ชั่วไปพร้อม ๆ กันทั้งเรื่องด้วยเช่นเดียวกัน

หนังเรื่องนี้ปูเรื่องนานพอควรเลยนะครับ กว่าจะพอมองออกว่าใครทำอะไร เป็นอะไร อยู่ตรงไหน ก็ต้องใช้เวลาปูเรื่องกันพอสมควร ซึ่งแน่นอนว่ามันก็อาจจะทำให้รู้สึกว่าดูยากตั้งแต่แรก แต่พอตัวหนังสามารถลากให้ทุกอย่างมาเชื่อมโยงกันได้แล้ว ตัวเรื่องก็วิ่งไปฉิวเลย กลายเป็นหนังที่ดูได้ไม่ยาก มีความโรแมนติกอบอุ่นหัวใจสอดแทรกเป็นระยะ แต่ก็ยังทรงพลัง เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งการหยุดการเหยียดผิวได้แบบที่ก็สามารถที่จะดูให้มีความบันเทิงแบบ Feel good ไปด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนสองนักแสดงหลักอย่าง Forest Whitaker ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือจงใจนะครับ แต่ว่าบทบาทหลวงผู้ประนีประนอมกับการต่อต้านการเหยียดผิวในหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกไปถึงหนังที่ลุงเล่นอีกเรื่องคือ The Butler (2013) ที่ลุงก็ต้องรับบทพ่อบ้านทำเนียบขาวที่เลือกทำงานอย่างซื่อสัตย์และประนีประนอมเพื่อเอาชนะการเหยียดสีผิว (แถมยังมีลูกชายที่พยายามเอาชนะคนขาวที่เหยียดคนดำด้วยวิธีห่าม ๆ เหมือนกันอีกต่างหาก) ซึ่งสำหรับผม ผมว่าลุงเหมาะกับบทแบบนี้นี่แหละครับ ถ้าเรื่องต่อไปที่ลุงเล่นจะมีแบบนี้ก็ไม่แปลก ส่วน Garrett Hedlund จากหนุ่มน้อย แซม ฟลินน์ใน Tron: Legacy (2010) ก็กลายร่างมาเป็นหนุ่มกุ๊ยกำพร้า (ที่แอบแฝงความใจดี เป็นมิตร) ได้แบบเกรอะกรังสุด ๆ ไปเลย

แน่นอนว่า หนังเรื่องนี้อาจไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่สะท้อนความยากลำบากของคนผิวดำที่ถูกคนผิวสีกระทำอย่างโหดร้ายทารุณ แถมยังร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐในการรังแกคนดำโดยชอบธรรม (แต่ไม่เป็นธรรม) อีกต่างหาก แต่สารที่หนังเรื่องนี้พยายามจะเล่าก็คือ จากชีวิตของกุ๊ยเกรอะกรังที่ดูไร้จุดหมาย ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ไม่รู้ว่ามาจากไหน อยู่ดี ๆ ก็ถูกปลูกฝังให้เกลียดคนดำ โดยที่เอาจริง ๆ ก็ไม่รู้เหตุผลปัจจัยด้วยซ้ำว่าทำไปทำไม

แต่สุดท้ายแล้วด้วยความรักที่เขาได้รับจากจูดีในรูปแบบคนรัก รักจากแฟรงคลินในรูปแบบของการเป็นพ่อคน และรักจากสาธุคุณเคเนดี ในรูปแบบของความรัก ความเห็นใจ และเต็มใจช่วยเหลือที่มีให้ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ในแบบที่ไม่เอาสีผิวมาเป็นข้อแม้

ทำให้ไมก์ได้มีโอกาสกลับเข้าไปมองและเห็นตัวเอง รักในตัวเอง ยอมที่จะออกมาจากสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และกล้าพอที่จะเปลี่ยนตัวเองเพื่อความเติบโตทางจิตวิญญาณ ความเติบโตของเป้าหมายชีวิต ความเติบโตในเรื่องของการรักเพื่อนมนุษย์ และเติบโตพอที่จะรักและดูแลคนที่รัก และรักเพื่อนมนุษย์ทุกสี ทุกชนชั้นอย่างเต็มใจ

เพราะถ้าเราเปิดใจให้พบกับรัก

เดี๋ยวรักมันจะนำทางไปเอง…

BURDEN เข้าฉาย 25 มิถุนายน เฉพาะโรงภาพยนตร์ House Samyan

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส