จากรายงานของ The Global E-waste Monitor 2020 (United Nation University) พบว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกอยู่ที่ 53.6 ล้านเมตริกตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียง 17.4% เท่านั้น ที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ในขณะที่ 82.6% ที่เหลือไม่สามารถติดตามได้ และเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดมลพิษและสารเคมีตกค้างในธรรมชาติ โดยทวีปเอเชียเป็นภูมิภาคที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดคือ 24.9 ล้านเมตริกตัน และหากคิดเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 3.5 ล้านเมตริกตัน โดยประเทศที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดในภูมิภาคนี้คือ อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ

จากแนวโน้มของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ประกอบกับการเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายที่มีนัยยะสำคัญในการเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทาง เอไอเอส จึงได้จัดทำโครงการ “คนไทยไร้ E-waste” ที่ได้ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 โดยในวันนี้ (2 กันยายน 2563) เอไอเอสเปิดตัวแคมเปญ “E-waste ทิ้งรับพอยท์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ได้เปิดโอกาสให้ลูกค้าและประชาชนที่สนใจนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งที่จุดรับภายในเอไอเอสชอป โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ชิ้น มีค่า 5 พอยท์ โดยเบอร์เอไอเอส 1 หมายเลข สามารถรับพอยท์ได้สูงสุด 10 พอยท์ต่อวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึง 31 ตุลาคม 2563

E-waste ทิ้งรับพอยท์

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมแคมเปญ “E-waste ทิ้งรับพอยท์” ได้ที่เอไอเอสชอปทุกสาขา โดยอุปกรณ์ที่สามารถนำมาทิ้งได้คือ โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, สายชาร์จ, หูฟัง และพาวเวอร์แบงก์ โดยก่อนการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ควรปฏิบัติดังนี้

  1. ลบข้อมูลและภาพออกจากโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต  (Format and Factory Reset)
  2. ถอดเมมโมรีการ์ดออกออกก่อนทิ้งทุกครั้ง
  3. หากโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต แบตเตอรี่มือถือ และพาวเวอร์แบงก์ มีลักษณะผิดปกติ เช่น บวม หรือ เปลี่ยนสี  ให้นำไปแช่น้ำทิ้งไว้ ประมาณ 5 ชั่วโมง เพื่อลดประจุพลังงาน และนำใส่ถุงหรือห่อกระดาษก่อนนำไปทิ้ง

ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ ถือเป็นการปฏิบัติตามหลักสากลเพื่อความปลอดภัย

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า “ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่นอกจากจะมุ่งมั่นสร้างสรรค์บริการที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทุกเจเนอเรชันแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะใช้ขีดความสามารถของบริษัทและการพัฒนานวัตกรรมร่วมจัดการปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการดำเนินงานที่รัดกุมทั้งระบบ ตั้งแต่ภายในองค์กร คู่ค้า รวมไปถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนในระยะยาว ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่นอกจากจะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแล้ว หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีก็จะเกิดการรั่วไหลของสารเคมีลงสู่แผ่นดินและแหล่งน้ำอันจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก”

E-waste ทิ้งรับพอยท์
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส