อันที่จริงหากกล่าวว่าการซื้อดวงดาวมอบให้ศิลปินในดวงใจเป็นกระแสใหม่ถอดด้ามก็ไม่ถูกต้องนัก แรกเริ่มเดิมที ความทุ่มเทนี้เริ่มในฝั่งบรรดาคนรักศิลปินเกาหลีมากกว่า ทว่าด้วยไอดอลมากหน้าหลายตาที่บุกยึดครองใจแฟนคลับวงกว้างมากขึ้นทุกที ก็ยิ่งเพิ่มกระแสซื้อดวงดาวเพื่อสื่อรักมากขึ้น และแน่นอนว่ามันก็ทำให้เรารู้สึกว้าวทุกครั้งที่ได้ยิน แต่ภายในความว้าวย่อมเกิดข้อสงสัย ไฉนดวงดาวอันห่างไกล จึงสามารถ ‘ซื้อ’ และมอบให้กันได้ แล้วราคาที่จ่ายไป เราได้สิทธิ์อะไรในดวงดาวกันแน่
แด่ ‘เธอ’ ดาราที่คู่ควร
ในบรรดาของขวัญที่แฟนคลับหรือผู้ชื่นชอบศิลปินทั้งหลายตั้งใจมอบให้ “ดวงดาว” อาจจะฟังดูน่าว้าวและเวอร์วังสุด ๆ เพราะมันทั้งดูกิ๊บเก๋ ห่างไกลเกินเอื้อม ให้ความรู้สึกไม่ต่างกับ “ดารา” ตัวจริงที่มีชีวิตไม่ผิด ดังนั้นเมื่อมีการขายดาวและชื่อของมันขึ้นมา แน่นอนว่า ฟังดูน่าลงทุนน่าซื้อให้เป็นของแทนใจสุด ๆ ไปเลย
ในขณะเดียวกันการที่จู่ ๆ มีแฟนคลับซื้อดาวให้ก็อาจจะบ่งชี้ถึงดีกรีความดัง หรือความนิยมของดาราคนนั้น ๆ เราเลยขอไปส่องสักหน่อยว่า ใครบ้างที่มีแฟนคลับพร้อมเปย์ให้ขนาดนี้
จะเห็นว่า อารมณ์น่าทึ่งน่าว้าวของมันมีพลังมากมายเพียงใด ใครได้ยินได้เห็นก็รู้สึกว่า แฟนคลับทุ่มกันได้ขนาดนี้เลยหรอ แต่อันที่จริงแล้วความทุ่มเทเปย์ที่ว่านี้ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นหรอกนะ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการซื้อดาวนี้ มันคืออะไรกัน
สำหรับการ ‘ซื้อดวงดาว‘ ที่ว่านี้ ไม่ใช่การซื้อขายในลักษณะของการครอบครอง ‘พื้นที่’ อย่างที่เราเข้าใจกันในแว่บแรกที่ฟัง แต่มันคือการซื้อ ‘สิทธิ์ในการตั้งชื่อ’ ของเว็บผู้ขายมาเป็นของผู้ซื้อ เพื่อมอบให้เป็นของขวัญแด่คนรัก คนที่เราอยากจะมอบให้ หรือ เพื่อความสุขส่วนตัวที่อยากตั้งชื่ออะไรสักอย่าง โดยเว็บที่ให้บริการในลักษณะนี้ก็มีหลากหลายมาก วิธีการซื้อก็ง่ายแสนง่าย ซื้อออนไลน์ โอนจ่ายก็ได้ แค่นี้เป็นเจ้าของดวงดาวและชื่อของมันได้แล้ว


จากบทความ 5 ข้อควรรู้ – ซื้อดวงดาวคืออะไร? ขั้นตอนในการสั่ง ราคาเท่าไหร่
ราคาที่ว่า ก็ยังถือว่าไม่แพงระยับ ระดับเดียวกับป้ายโฆษณา แต่เดี๋ยวก่อน!! โลกนี้ไม่น่าจะมีอะไรได้มาง่ายดายขนาดนั้น แม้จะรู้แล้วว่าการซื้อดวงดาวหรือสิทธิ์ตั้งชื่อนี้ไม่ใช่เรื่องอำ แต่ก็น่าสงสัยเหลือเกินว่า เราตั้งชื่อดาวได้จริงหรือไม่อย่างไร ถ้าอย่างนั้นเราไปทำความเข้าใจกันก่อนว่า ชื่อดวงดาวทั้งหลายในสากลโลกนั้น มันมีวิธีการตั้งอย่างไรบ้าง
จากอดีตสู่ปัจจุบัน กว่าจะได้ชื่อดาวแบบที่ใคร ๆ ก็ยอมรับ
การจัดทำรายชื่อดวงดาวนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก ๆ ตั้งแต่สมัยโบราณ วัฒนธรรมและอารยธรรมต่าง ๆ ทั่วโลกได้ตั้งชื่อเฉพาะให้กับดวงดาวในท้องฟ้ายามค่ำคืน บางชื่อก็มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง บางชื่อก็ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อโลกแห่งการสำรวจดาราศาสตร์ก้าวไกลขึ้นเรื่อย ๆ จึงมี ‘ระบบ’ การจัดทำรายชื่อดวงดาวขึ้น โดยดาวที่สว่างที่สุดและที่มีการศึกษามากที่สุด จะมีชื่อที่ใช้เป็นสากลที่เหล่าบรรดานักดาราศาสตร์และผู้คนทั่วโลกรับรู้ร่วมกัน
‘ระบบ’ ที่ว่า คือการใช้กฏชุดหนึ่ง เป็นแนวทางการตั้งชื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ทำให้เกิดรายชื่อหรือแค็ตตาล็อกของดวงดาว (Catalogues of stars) ขึ้น ตัวอย่างการจัดทำรายชื่อดวงดาวในอดีต ได้แก่ กฏของโจฮันน์ ไบเยอร์ (Johann Bayer) ในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งยังคงเป็นที่รู้จักแม้กระทั่งในปัจจุบัน ไบเออร์แทนชื่อดวงดาวในแต่ละกลุ่มดาวด้วยอักษรกรีกตัวพิมพ์เล็กตามลำดับความสว่างโดยประมาณ ส่วนใหญ่ ดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวจะมีคำนำหน้าว่า Alpha ดาวที่สว่างรองลงมาคือ Beta เช่นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) คือ Alpha Cygni (สังเกตการใช้ชื่อกลุ่มดาวภาษาละติน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Deneb และดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวสิงโต (Leo) คือ Alpha Leonis ก็มีอีกชื่อว่า Regulus เช่นกัน
แต่หลังจากเป็นที่นิยมอยู่นับร้อยปี การจัดระบบดวงดาวนี้ก็ยังมีปัญหาในเรื่องความแม่นยำ บางครั้งดาวที่สว่างที่สุดกลับมีคำนำเป็น Beta นอกจากนี้อักษรกรีกยังมีเพียง 24 ตัวอักษร ไม่เพียงพอต่อการตั้งชื่อกลุ่มดาวจำนวนมาก แม้ไบเออร์พยายามแก้ปัญหา แต่ในที่สุดก็มีระบบใหม่น่าสนใจอย่าง ‘ตัวเลขของเฟลมสตีด (Flamsteed numbers)’ ขึ้นมา ระบบนี้จะใช้ตัวเลขแสดงลำดับการเรียงตัวของดาวในกลุ่มดาวนั้น ๆ เช่น 61 Cygni หลังจากนั้น กฏนี้ก็ถูกใช้เป็นรากฐานแก่ชุดรายชื่อดวงดาวอื่น ๆ อีกมาก อย่างชุดรายชื่อของนักดาราศาสตร์นาม เบนจามิน โกลด์ (Benjamin Gould) ที่ปัจจุบันยังมีดาวจำนวนหนึ่งใช้กฏของโกลด์อยู่หลงเหลืออยู่ ได้แก่ 38G Puppis
(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)