อันที่จริงหากกล่าวว่าการซื้อดวงดาวมอบให้ศิลปินในดวงใจเป็นกระแสใหม่ถอดด้ามก็ไม่ถูกต้องนัก แรกเริ่มเดิมที ความทุ่มเทนี้เริ่มในฝั่งบรรดาคนรักศิลปินเกาหลีมากกว่า ทว่าด้วยไอดอลมากหน้าหลายตาที่บุกยึดครองใจแฟนคลับวงกว้างมากขึ้นทุกที ก็ยิ่งเพิ่มกระแสซื้อดวงดาวเพื่อสื่อรักมากขึ้น และแน่นอนว่ามันก็ทำให้เรารู้สึกว้าวทุกครั้งที่ได้ยิน แต่ภายในความว้าวย่อมเกิดข้อสงสัย ไฉนดวงดาวอันห่างไกล จึงสามารถ ‘ซื้อ’ และมอบให้กันได้ แล้วราคาที่จ่ายไป เราได้สิทธิ์อะไรในดวงดาวกันแน่

แด่ ‘เธอ’ ดาราที่คู่ควร

ในบรรดาของขวัญที่แฟนคลับหรือผู้ชื่นชอบศิลปินทั้งหลายตั้งใจมอบให้ “ดวงดาว” อาจจะฟังดูน่าว้าวและเวอร์วังสุด ๆ เพราะมันทั้งดูกิ๊บเก๋ ห่างไกลเกินเอื้อม ให้ความรู้สึกไม่ต่างกับ “ดารา” ตัวจริงที่มีชีวิตไม่ผิด ดังนั้นเมื่อมีการขายดาวและชื่อของมันขึ้นมา แน่นอนว่า ฟังดูน่าลงทุนน่าซื้อให้เป็นของแทนใจสุด ๆ ไปเลย 

ในขณะเดียวกันการที่จู่ ๆ มีแฟนคลับซื้อดาวให้ก็อาจจะบ่งชี้ถึงดีกรีความดัง หรือความนิยมของดาราคนนั้น ๆ เราเลยขอไปส่องสักหน่อยว่า ใครบ้างที่มีแฟนคลับพร้อมเปย์ให้ขนาดนี้ 

จะเห็นว่า อารมณ์น่าทึ่งน่าว้าวของมันมีพลังมากมายเพียงใด ใครได้ยินได้เห็นก็รู้สึกว่า แฟนคลับทุ่มกันได้ขนาดนี้เลยหรอ แต่อันที่จริงแล้วความทุ่มเทเปย์ที่ว่านี้ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นหรอกนะ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการซื้อดาวนี้ มันคืออะไรกัน

สำหรับการ ‘ซื้อดวงดาว‘ ที่ว่านี้ ไม่ใช่การซื้อขายในลักษณะของการครอบครอง ‘พื้นที่’ อย่างที่เราเข้าใจกันในแว่บแรกที่ฟัง แต่มันคือการซื้อ ‘สิทธิ์ในการตั้งชื่อ’ ของเว็บผู้ขายมาเป็นของผู้ซื้อ เพื่อมอบให้เป็นของขวัญแด่คนรัก คนที่เราอยากจะมอบให้ หรือ เพื่อความสุขส่วนตัวที่อยากตั้งชื่ออะไรสักอย่าง โดยเว็บที่ให้บริการในลักษณะนี้ก็มีหลากหลายมาก วิธีการซื้อก็ง่ายแสนง่าย ซื้อออนไลน์ โอนจ่ายก็ได้ แค่นี้เป็นเจ้าของดวงดาวและชื่อของมันได้แล้ว 

รวมข้อมูลประเภทของดาวและราคาของบริษัทค้าขายดวงดาวออนไลน์บริษัทหนึ่ง  
จากบทความ 5 ข้อควรรู้ – ซื้อดวงดาวคืออะไร? ขั้นตอนในการสั่ง ราคาเท่าไหร่

ราคาที่ว่า ก็ยังถือว่าไม่แพงระยับ ระดับเดียวกับป้ายโฆษณา แต่เดี๋ยวก่อน!! โลกนี้ไม่น่าจะมีอะไรได้มาง่ายดายขนาดนั้น  แม้จะรู้แล้วว่าการซื้อดวงดาวหรือสิทธิ์ตั้งชื่อนี้ไม่ใช่เรื่องอำ แต่ก็น่าสงสัยเหลือเกินว่า เราตั้งชื่อดาวได้จริงหรือไม่อย่างไร ถ้าอย่างนั้นเราไปทำความเข้าใจกันก่อนว่า ชื่อดวงดาวทั้งหลายในสากลโลกนั้น มันมีวิธีการตั้งอย่างไรบ้าง

จากอดีตสู่ปัจจุบัน กว่าจะได้ชื่อดาวแบบที่ใคร ๆ ก็ยอมรับ

การจัดทำรายชื่อดวงดาวนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก ๆ ตั้งแต่สมัยโบราณ วัฒนธรรมและอารยธรรมต่าง ๆ ทั่วโลกได้ตั้งชื่อเฉพาะให้กับดวงดาวในท้องฟ้ายามค่ำคืน บางชื่อก็มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง บางชื่อก็ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อโลกแห่งการสำรวจดาราศาสตร์ก้าวไกลขึ้นเรื่อย ๆ จึงมี ‘ระบบ’ การจัดทำรายชื่อดวงดาวขึ้น โดยดาวที่สว่างที่สุดและที่มีการศึกษามากที่สุด จะมีชื่อที่ใช้เป็นสากลที่เหล่าบรรดานักดาราศาสตร์และผู้คนทั่วโลกรับรู้ร่วมกัน

‘ระบบ’ ที่ว่า คือการใช้กฏชุดหนึ่ง เป็นแนวทางการตั้งชื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ทำให้เกิดรายชื่อหรือแค็ตตาล็อกของดวงดาว (Catalogues of stars) ขึ้น ตัวอย่างการจัดทำรายชื่อดวงดาวในอดีต ได้แก่ กฏของโจฮันน์ ไบเยอร์ (Johann Bayer) ในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งยังคงเป็นที่รู้จักแม้กระทั่งในปัจจุบัน ไบเออร์แทนชื่อดวงดาวในแต่ละกลุ่มดาวด้วยอักษรกรีกตัวพิมพ์เล็กตามลำดับความสว่างโดยประมาณ ส่วนใหญ่ ดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวจะมีคำนำหน้าว่า Alpha ดาวที่สว่างรองลงมาคือ Beta เช่นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) คือ Alpha Cygni (สังเกตการใช้ชื่อกลุ่มดาวภาษาละติน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Deneb และดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวสิงโต (Leo) คือ Alpha Leonis ก็มีอีกชื่อว่า Regulus เช่นกัน

แต่หลังจากเป็นที่นิยมอยู่นับร้อยปี การจัดระบบดวงดาวนี้ก็ยังมีปัญหาในเรื่องความแม่นยำ บางครั้งดาวที่สว่างที่สุดกลับมีคำนำเป็น Beta นอกจากนี้อักษรกรีกยังมีเพียง 24 ตัวอักษร ไม่เพียงพอต่อการตั้งชื่อกลุ่มดาวจำนวนมาก แม้ไบเออร์พยายามแก้ปัญหา แต่ในที่สุดก็มีระบบใหม่น่าสนใจอย่าง ‘ตัวเลขของเฟลมสตีด (Flamsteed numbers)’ ขึ้นมา ระบบนี้จะใช้ตัวเลขแสดงลำดับการเรียงตัวของดาวในกลุ่มดาวนั้น ๆ เช่น 61 Cygni หลังจากนั้น กฏนี้ก็ถูกใช้เป็นรากฐานแก่ชุดรายชื่อดวงดาวอื่น ๆ อีกมาก อย่างชุดรายชื่อของนักดาราศาสตร์นาม เบนจามิน โกลด์ (Benjamin Gould) ที่ปัจจุบันยังมีดาวจำนวนหนึ่งใช้กฏของโกลด์อยู่หลงเหลืออยู่ ได้แก่ 38G Puppis

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำในปัจจุบัน ทำให้เราพบดวงดาวใหม่จำนวนมหาศาล เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา การใช้ชื่อดาวหรือวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ (เช่น ดาวเคราะห์น้อย เนบิวลา กาแล็กซี ฯลฯ) ด้วยตัวอักษรและตัวเลข จึงกลายเป็นแนวทางปฏิบัติมาตรฐานในที่สุด อย่างไรก็ตามการใช้ตัวอักษรและตัวเลขนั้นไม่ได้เหมือนกับกฏในอดีตอีกซะทีเดียว ชุดรายชื่อของดวงดาวที่เป็นที่ยอมรับในแวดวงดาราศาสตร์นั้น มีอยู่หลายชุดหลากรูปแบบด้วยกัน อาทิ Smithsonian Astrophysical Observatory Catalog (SAO)/ Bright Star Catalog (Harvard Revised Photometry, HR) หรือ Position and Proper Motions Catalog (PPM) แม้เป็นดาวดวงเดียวกัน มาจากต่างชุดรายชื่อกัน หลายครั้งก็มีชื่อแตกต่างกัน เช่น บีเทลจุส (Betelgeuse) มีชื่อเรียกทั้ง Alpha Orionis/ HR 2061/ BD +7 1055/ HD 39801/ SAO 113271 และ PPM 149643

ดาวบีเทลจุส ดวงสีเหลืองส้มอยู่บริเวณซ้ายบนของภาพ
หนึ่งในดาว(ที่เคย)ส่องสว่างเป็นอันดับต้น ๆ ในกลุ่มดาวนายพรานหรือโอไรออน (Orion constellations)
ภาพนี้บันทึกด้วยฟิล์มเมื่อปี ค.ศ. 2003
Credit: Matthew Spinelli/apod.nasa.gov

แม้การกำหนดตัวอักษรและตัวเลขจะสะดวกต่อการศึกษาอย่างเป็นทางการ แต่ในหลายกรณี การใช้ชื่อสามัญของดวงดาวที่เป็นที่รู้จักอย่างดี ซึ่งเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ก็ง่ายและสะดวกกว่า และที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ก็มักตั้งชื่อดาวที่ค้นพบด้วยชื่อของของตนเองอีกด้วย เพื่อลดความสับสนที่เกิดขึ้น สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ หรือ IAU (International Astronomical Union) จึงได้จัดตั้งคณะทำงานตั้งชื่อดาว (Working Group on Star Names: WGSN) เมื่อปี 2559 เพื่อจัดทำรายการชื่อของดวงดาวอย่างเป็นทางการโดยเริ่มจากดาวที่สว่างที่สุดและเป็นที่รู้จักที่สุด คณะทำงานประกอบด้วยนักดาราศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลกที่นำมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกันมาสู่การตัดสินใจ 

เพื่อให้ได้ชุดรายชื่อดาวที่เป็นสากล WGSN ต้องศึกษาเจาะลึกประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทางดาราศาสตร์ทั่วโลก เพื่อดูว่าชื่อใดที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างบ้าง นอกจากการจัดทำบันทึกชื่อดวงดาวอย่างเป็นทางการแล้ว WGSN ยังมุ่งเน้นสร้างรูปแบบ สำหรับกฎเกณฑ์และกระบวนการที่สามารถยอมรับได้จากนักดาราศาสตร์และจากประชาชนทั่วไปด้วย (ลองดูตัวอย่างรายชื่อดวงดาวที่ได้รับการอนุมัติจาก IAU ได้ที่นี่)

อย่างล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยเองก็ได้รับสิทธิ์ตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT ในฐานะหน่วยงานดาราศาสตร์ของประเทศ เป็นผู้จัดกิจกรรม “ตั้งชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ” ให้ประชาชนได้เสนอชื่อเพื่อตั้งชื่อให้กับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b และดาวฤกษ์แม่ WASP-50 เบื้องต้นชื่อที่เสนอ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ IAU ตั้งไว้ เช่น เป็นชื่อที่ออกเสียงได้ ไม่ใช่คำหยาบคาย ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง หากเป็นชื่อบุคคลต้องเสียชีวิตแล้วไม่น้อยกว่า 100 ปี มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นต้น

จากนั้นชื่อที่ผ่านเงื่อนไขดังกล่าว จะผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เหลือ 3 รายชื่อสุดท้าย แล้วนำไปเปิดให้ประชาชนร่วมโหวตชื่อที่ถูกใจที่สุด ซึ่งชื่อที่มีคะแนนโหวตสูงสุด ได้แก่ “เจ้าพระยา (Chaophraya) – แม่ปิง (Maeping)” เมื่อได้ผลโหวตแล้ว NARIT ก็เสนอชื่อนี้ต่อสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ทำให้ชื่อได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ในที่สุด

แบนเนอร์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมโหวตตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ
ในกิจกรรม “ตั้งชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ” ของ NARIT

ชื่อดาวนี้คือเธอ และจะเป็นเธอตลอดไป?

เอาละ กลับมาที่การตั้งชื่อดาวให้ดารากันอีกครั้ง ถ้าจากเงื่อนไขต่าง ๆ ในการตั้งชื่อจะเห็นว่ากว่าจะได้ชื่อของดวงดาวที่เป็นที่ยอมรับนั้นไม่ง่ายเลย ดังนั้นการซื้อดาวเพื่อนำมาตั้งชื่ออย่างอิสระนั้นดูแล้วก็ไม่น่าจะทำได้สิ เพื่อไขข้อข้องใจให้กระจ่างสุดทาง เราจึงลองค้นหาคำตอบจากหน่วยงานด้านอวกาศระดับโลกอย่างนาซา และหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตั้งชื่อดาวอย่าง IAU เกี่ยวกับการซื้อดวงดาวดู และทั้งคู่ก็มีคำตอบเช่นนี้

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

NASA

“เมื่อคุณพูดถึง “การซื้อดาว” เพื่อตัวคุณเองหรือมอบให้คนอื่น ก็มักหมายถึงการกล่าวอ้างของบริษัทต่าง ๆ ที่ให้สัญญากับคุณว่าจะทำเช่นนั้นให้คุณด้วยเงินของคุณ แน่นอนว่าคุณสามารถจ่ายเพื่อมันได้ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ได้การยอมรับอย่างเป็นทางการ ชื่อของคุณจะไม่ถูกจัดอยู่ในบันทึกใด ๆ ยกเว้นในบันทึกของบริษัทผู้ขายเท่านั้น และอันที่จริง บริษัทเหล่านั้นบางแห่งเคยมีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้กระทำผิดฐานโฆษณาหลอกลวงประชาชนด้วยซ้ำ” 

IAU

“การซื้อขายดวงดาวและชื่อเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะมีคนมากมายอยากจะได้เงินของคุณอยู่แล้ว แต่เราจะไม่บอกหรอกนะว่ามีที่ไหนบ้าง เพราะมันคือการค้าขายสิ่ง ‘สมมติ’ ที่ไม่มีอยู่จริง ขัดกับแนวคิดของหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์อย่างเรา…หลังจากซื้อคุณจะได้ประกาศนียบัตรสวย ๆ ที่ทำด้วยกระดาษราคาแพง และความสุขชั่วครั้งชั่วคราว 

“..ส่วนที่บริษัทอ้างว่า ชื่อนี้จะเป็นหนึ่งเดียวเป็นเอกลักษณ์ (unique) ที่คงอยู่ตลอดไปนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะในความเป็นจริง อาจจะเป็นชื่อเดียวเฉพาะในเว็บที่คุณซื้อเท่านั้น และเพราะชื่อเหล่านั้นไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการทั้งจากหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์และประชาชนคนทั่วไป ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป มันก็จะถูกสังคมลืมเลือนและหายไปในที่สุด …”

“นอกจากนี้ เมื่อเวลาผ่านไปเว็บเหล่านั้นก็อาจจะเอาดาวไปขายต่ออีกก็ได้ ถึงตอนนั้นคุณจะไปฟ้องร้องก็ได้ แต่ทนายก็อาจจะหัวเราะแล้วบอกกับคุณว่าเอาเงินไปลงทุนทำอย่างอื่นน่าจะดีกว่า”

สรุปประโยชน์ของการซื้อดวงดาวที่ว่าก็คือ กระดาษราคาแพงที่ระบุชื่อดาว (ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย) และความสุขชั่วครั้งชั่วคราว (ที่เกิดจากความเข้าใจไปว่าได้ครอบครองดาว) เท่านั้น และจากคำตอบของทั้งสองหน่วยงาน ก็น่าจะช่วยเน้นย้ำให้เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วว่า แม้กระทั่งหน่วยงานที่มีอำนาจตั้งชื่ออย่างแท้จริงก็ยังไม่เห็นด้วยกับการซื้อขายดาวเลย

ถ้าไม่สนับสนุนให้ซื้อแล้วจะทำยังไงได้บ้างล่ะ ก็ใจมันอยากให้นิ!

สำหรับนี้เรื่องนี้ IAU ก็ให้คำตอบที่แจ่มว้าวโดนใจเรามาก (เพราะแอบคิดว่าน่าจะทำแบบนี้อยู่เหมือนกัน) นั่นก็คือ การพิมพ์ใบประกาศรับรองออกมาเองซะเลย แต่จู่ ๆ พิมพ์ออกมามันก็ยังรู้สึกหลอก ๆ ใช่ไหม ถ้างั้นทำไมไม่ลองสร้างโลกแห่งดวงดาวของตัวเองขึ้นมาล่ะ

วิธีการที่ว่าก็แสนจะง่าย คือเข้าไปดาวน์โหลดแผนที่ดาวดิจิทัลออนไลน์ จากเว็บ worldwidetelescope.org แล้วพริ้นต์ออกมา จากนั้นก็เลือกดวงดาว อยากให้ชื่อว่าอะไรก็ตั้งไป เป็นการสร้างจักรวาลแห่งดวงดาวของตัวเองไปเลย แล้วนำแผนที่นี้มาทำใบประกาศ ใส่ชื่อลงไป จะทำสวยเริ่ดหรูแค่ไหนก็ทำตามใจชอบได้เต็มที่ และอยากมอบให้ใครก็จัดไปได้เลย และอันที่จริงแล้วแผนที่ดาวดิจิทัลนี้นี่แหละคือฐานข้อมูลชั้นเยี่ยมอันเดียวกับที่บริษัทผู้ค้าดาวหลายแห่งนิยมใช้กันนั่นเอง

หน้าเว็บไซต์ worldwidetelescope.org แสดงตำแหน่งดาวและวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ
ซึ่งเราสามารถดาวน์โหลดแผนที่ดาวเหล่านี้มาตกแต่งเพิ่มเติมเองได้ด้วย

หลายคนอาจบอกว่ายุ่งยากจัง ยอมจ่ายให้บริษัทเหล่านั้นเพื่อลดขั้นตอนดีกว่า หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ยังคิดแบบนั้นเราก็ไม่อาจห้ามคุณได้ และคงเพราะยังมีคนที่คิดแบบนี้เป็นจำนวนมาก IAU เองจึงให้คำแนะนำทิ้งท้ายเพียงว่า คุณควรลงทุนไปกับสิ่งที่ครอบครองและจับต้องได้จริง ๆ จะดีกว่านะ

อืมมม… ถ้าคิดตามว่า นั่งทำใบประกาศและแผนที่จักรวาลแฮนด์เมด แล้วเอาเงินไปเปย์ซื้อของอย่างอื่นที่จับต้องได้ให้แทน ก็น่าจะคุ้มกว่าจริง ๆ นั่นแหละ  

อ้างอิง

IAU 1

IAU2

NASA

Promotion.co.th

NARIT

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส