หลายคนอาจเคยได้ยินคดีปริศนา Dyatlov Pass ซึ่งเป็นการเสียชีวิตที่แปลกประหลาดของนักปีนเขา 9 คน ใน Dyatlov Pass, รัสเซีย ผู้คนต่างวิเคราะห์ ตั้งทฤษฎีกันไปต่าง ๆ นานา ว่านักปีนเขาทั้ง 9 เสียชีวิตได้อย่างไร แต่ในตอนนี้เทคโนโลยีสามารถไขคำตอบที่ยาวนานกว่า 62 ปีได้แล้ว

ปริศนา Dyatlov เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเทือกเขา Ural ของรัสเซียในปี 1959 นักปีนเขา 9 คนถูกพบเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา เพราะไม่สามารถหาสาเหตุการเสียชีวิตได้อย่างแน่ชัด ศพของนักปีนเขาทั้ง 9 ถูกพบกระจายอยู่ตามแนวเขา บางศพกระโหลกศีรษะแตก บางร่างเหมือนถูกฉีกทึ้ง บางร่างก็มีอวัยวะไม่ครบ สร้างความประหลาดใจ และสยดสยองให้กับทีมสืบสวนเป็นอย่างมาก สภาพการเสียชีวิตของแต่ละคนดูเหมือนจะไม่สามารถหาสาเหตุที่เชื่อมโยงกันได้เลย การสอบสวนทางอาญาในเวลานั้นกล่าวว่าพวกเขาเสียชีวิตด้วย ‘พลังเหนือธรรมชาติ’ และระบบราชการของสหภาพโซเวียตก็ทำให้คดีเงียบลง ทำให้เกิดทฤษฎีต่างสมคบคิดหลายหลายถึงสาเหตุการตายของพวกเขาเหล่านี้

บางคนกล่าวว่านี่คือฝีมือของเยติ ไม่ก็สัตว์ประหลาด หรือแม้กระทั่งสิ่งลี้ลับ แต่อีกหนึ่งทฤษฎีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดอย่างหิมะถล่มกลับถูกปฏิเสธไป เพราะจากลักษณะภูมิประเทศไม่เอื้อให้เกิดหิมะถล่มที่มีความรุนแรงจนถึงขั้นกระดูกหัก และเนื้อเยื่อของผู้เสียชีวิตก็ไม่ตรงกับบาดแผลที่เกิดจากหิมะถล่ม

และหลังจากผ่านมากว่า 62 ปี วารสาร Communications Earth and Environment ที่เขียนโดย Alexander Puzrin วิศวกรธรณีเทคนิคของ ETH Zürich และJohan Gaume หัวหน้าห้องปฏิบัติการจำลองหิมะถล่มที่ EPFL ก็ได้นำคดีนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่ง Gaume กล่าวว่าก่อนหน้านี้เค้ารู้สึกประทับใจกับการเคลื่อนไหวที่สมจริงของหิมะใน Frozen มากจึงได้แนวคิดที่จะเทคโนโลยีดังกล่าวมาจำลองการเกิดเหตุการณ์หิมะถล่มในคดี

หลังจากทั้งคู่รวบรวมข้อมูลลักษณะภูมิประเทศได้แล้ว จึงเดินทางมายัง Hollywood เพื่อนำมาจำลองการเกิดหิมะถล่มโดยใช้ Animation Code ที่ใช้สร้างหิมะจากเรื่อง Frozen เพื่อพิสูจน์ว่าหิมะถล่มนี่แหละเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของนักปีนเขาทั้ง 9 ผลปรากฏว่าด้วยลักษณะภูมิประเทศในหุบเขาสามารถทำให้เหตุการณ์หิมะถล่มที่บดกะโหลกศีรษะ และฉีกเนื้อเยื่อของมนุษย์ออกได้อย่างง่ายดาย

เทคโนโลยีภาพยนตร์ได้กลายมาเป็นพระเอกในการปิดคดีปริศนาที่ยาวนานได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่แน่ในอนาคตเราอาจสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในทางนิติวิทยาได้อีกมากมายเลยทีเดียว

อ้างอิง Nationalgeographic

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส