มาเรีย เรสซา (Maria Ressa) นักข่าวสาวคนเก่งของฟิลิปปินส์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พร้อมกับ ดมิตรี มูราตอฟ (Dimitry Muratov) บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ โนวายา กาเซตา (Novaya Gazeta) ของประเทศรัสเซีย ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของวงการสื่อหนังสือพิมพ์และภาคประชาสังคม ที่ได้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อและการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี

ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบล เบริต รีสส์ แอนเดอร์สัน (Berit Reiss-Anderson) ประกาศเกียรติคุณของผู้ที่ได้รับรางวัลว่า “งานข่าวที่อิสระ เสรี และตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงจะสามารถปกป้องการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมและการโฆษณาชวนเชื่อทำสงคราม”

น่าสนใจคือสถานการณ์สื่อสารมวลชนใน 2 ประเทศนี้ที่ทำให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลสนใจเป็นพิเศษ คือการเป็นนักข่าวในฟิลิปปินส์และรัสเซียต้องกล้าหาญมาก ๆ เพราะมีโอกาสที่จะถูกสังหารจากฝ่ายที่กุมอำนาจในท้องถิ่นและระดับประเทศ ได้ทุก ๆ นาที

ในอาเซียน ฟิลิปปินส์จัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสูงที่สุดมาเป็นเวลานานแล้ว หลังจากที่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ถูกพลังประชาชนโค่นล้มไปในปี 1988 ต้องหนีลี้ภัยที่เกาะฮาวาย นักข่าวในประเทศนี้มีจำนวนมากที่สุดในอาเซียน เนื่องจากมีสื่อทุกแพลตฟอร์ม คนฟิลิปปินส์ยังมีการใช้สมาร์ตโฟน ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ทั้งในการด้านการสื่อสารและติดตามข้อมูล

สำคัญที่สุดคือการส่งเงินกลับประเทศปีละหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานอาชีพหลากหลายอยู่ทุกหนทุกแห่งในโลกเกือบ 10 ล้านคน จึงไม่แปลกที่ประเทศนี้จะมีระบบการส่งเงินข้ามประเทศที่เร็วที่สุดในโลกและเสียค่าใช้จ่ายถูกที่สุดด้วย เนื่องจากมีการแข่งขันกันในตลาดการเงินอย่างดุเดือด

ต้องประนามประธานาธิดี โรดรีโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) ที่สร้างบรรยากาศอันเลวร้ายที่คุกคามอาชีพสื่อในประเทศฟิลิปปินส์ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนการเลือกตั้งตอนนั้นไม่มีสื่อในประเทศที่คาดเดาได้ว่า นักการเมืองเลว ๆ คนนี้ที่มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นผู้ว่าเมืองดาเวาในตอนใต้ของประเทศจะพลิกเกมการเมืองได้จนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

ตามปกติไม่ควรมีผู้นำแบบนี้ นักข่าวในฟิลิปปินส์มีปัญหามหาศาลอยู่แล้วใน 2 ประเด็นคือ หนึ่ง – อาชีพสื่อสารมวลชนรายได้ไม่ค่อยดี ตกเป็นเงินไทยไม่กี่พันบาทต่อเดือน ส่วนใหญ่มักมีเอี่ยวกับนักการเมือง รับสินบนช่วยเขียนเชียร์หรือด่าฝ่ายตรงข้าม ประเด็นที่สอง – อาชีพนี้อันตรายมาก มีอัตราถูกลอบสังหารโดยมือปืนมากที่สุดในโลก (นักข่าวประเทศอื่น ๆ ตายเพราะสงครามกลางเมืองและระหว่างประเทศ) นักข่าวที่โจมตีนักการเมืองที่ว่าจ้างให้มาด่าหรือเชียร์กัน มักจะถูกฝ่ายตรงข้ามแก้แค้นแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน โดยการจ้างมือปืนมาลอบฆ่าเป็นประจำ ข่าวใหญ่ดังลั่นไปทั่วโลกในปี 2009 คือข่าวสังหารหมู่นักข่าว 31 คนที่ไปทำข่าวในเมืองมาควินดาเวา (Maquindavao)

ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่มาเรียจะเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของผู้ทรงอำนาจในฟิลิปปินส์ เพราะตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมา มาเรียและพรรคพวกเธอใช้สำนักข่าวออนไลน์ที่ชื่อว่า เรปเพลอร์ (Rappler) เปิดโปงความชั่วร้ายของนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่เด็ดขาดคือการยิงทิ้งผู้ต้องหาที่ขัดขืน ซึ่งถูกยิงทิ้งจำนวนมากถึง 6,600 คน ภาคประชาสังคมรายงานว่าอาจจะมีผู้ต้องหาถูกยิงทิ้งมากกว่าจำนวนนี้ถึงสองเท่า

ประเทศรัสเซียก็ไม่เบาเพราะประธานธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ไม่เกรงใจนักข่าวที่ชอบรายงานข่าวสืบสวนเกี่ยวกับคอรัปชันในรัฐบาลของเขา ช่วงที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ของมูราตอฟชอบรายงานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเชชเนียมาโดยตลอด และเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวของรัสเซียที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้

รางวัลโนเบลที่มาเรียได้จะเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับนักข่าวรุ่นใหม่ในเอเซียว่าการรายงานข่าวโดยใช้ข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ต่อมนุษยชาติ ต่อต้านทรราช แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่มีใครออกมาแสดงความยินดีกับเธอเลย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส