ROG Phone 5s Pro ตัวอัปเกรดล่าสุดของ ROG Phone 5 ซีรีส์ มาครั้งนี้เพื่อย้ำความเป็นผู้นำวงการเกมมิงสมาร์ตโฟนอีกครั้ง กับเครื่องแรกในไทยที่ใช้ชิปเซต Snapdragon 888+ แพนไม่แน่ใจว่าควรจะเรียกว่าเป็นสมาร์ตโฟนเกมมิง หรือเครื่องเล่นเกมที่โทรออกได้กันแน่ เอาเป็นว่าสมควรได้บทบาทไหน เดี๋ยววันนี้แพนไปแบไต๋ให้ดูกันครับ

ดีไซน์

เรามาเริ่มที่ดีไซน์กันก่อนเลยละกันครับ รุ่นที่เรานำมารีวิวนี้คือรุ่น Pro ตัวท๊อปสุดของ ROG Phone 5s ซีรีส์นะครับ โดยจุดขายที่รุ่นอื่นยังเป็นไฟ RGB เฉย ๆ คือตรงนี้ครับ นี่ที่เห็นอยู่นี้คือจอสีเมทริกซ์ที่เรียกว่า ROG Vision ที่จะแสดงผลแอนิเมชันของแอ็กทิวิตี้ต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์เสริม, สายโทรเข้า, ชาร์จแบตเตอรี่, เข้าเกม, เปิดหน้าจอเฉย ๆ และการเข้าสู่โหมดที่พร้อมถวายสมาธิเพื่อการเล่นในชื่อ X Mode ที่ยังสามารถปรับแต่งการแสดงผลให้เป็นสไตล์เรามากที่สุด

ในขณะที่ลวดลายก็จะมีความเป็นเส้นตัดแบบคม ๆ ให้ฟีลลิ่งล้ำ ๆ นึกถึงเกมไซเบอร์พังก์ ส่วนวัสดุที่ใช้ทั้งฝาหลังและหน้าจอตรงนี้จะเป็น Corning Gorrila Glass Victus ทนทานกว่า Gorilla Glass 6 อยู่ที่ 2 เท่า ส่วนตัวกรอบเครื่องจะเป็นอลูมิเนียม ซึ่งพอรวม ๆ กันแล้วก็ดูอึดถึกสมบุกสมบันสไตล์เกมเมอร์ดีครับ

หน้าจอ

จอของ Rog Phone 5s Pro มีขนาดอยู่ที่ 6.78 นิ้ว มีความละเอียดแบบ FHD+ 2448 x 1080 โดยเป็นจอ Samsung E4 AMOLED และมีอัตรารีเฟรชเรตอยู่ที่ 144 Hz ยังมีไม่หมดครับ จอยังมีความเร็วการตอบสนองต่อการกดของหน้าจอที่ 360 Hz ไถโซเชียลคือนุ่มมาก เล่นเกมคือแตะปั๊บ เรสปอนด์ปุ๊บ นอกจากนี้ในแง่ของการนำไปดูหนังเองก็ยังดีนะครับ เพราะรองรับมาตรฐาน HDR10+

ระบบเสียง

ส่วนลำโพงสเตอริโอที่ตำแหน่งบนและล่างของเครื่องก็ถูกดีไซน์ให้ยิงหันเข้าหน้าผู้ใช้งาน โดยใช้ชิปเสียงเป็น DAC/AMP ESS Sabre ES9219C X2 รองรับระบบเสียง Hi-Res Audio พร้อมเทคโนโลยี Dirac HD Sound ที่ช่วยจัดการคุณภาพเสียงให้อยู่ในระดับออดิโอไฟล์ได้

ผลลัพธ์คือไม่เพียงแต่จะเป็นลำโพงที่ใช้ในการดูหนังได้อรรถรสแล้ว ในแง่ของการเล่นเกมก็ยังสามารถแยกแยะทิศทางของเสียงได้เป็นอย่างดี การันตีคุณภาพเสียงได้จากคะแนนทดสอบจากทาง DXOMark ในส่วนของ Audio ได้คะแนนสูงถึง 79 คะแนน เรียกได้ว่าเป็นสมาร์ตโฟนที่ให้เสียงดีติดอันดับ 1 ใน 3 ของสมาร์ทโฟนที่เสียงดีที่สุดในเวลานี้เลยครับ เอาเป็นว่าแพนจะให้ทุกคนลองฟังเสียงของลำโพงนี้กันเองละกันครับ

ปุ่ม พอร์ต ซิม

ส่วนถาดใส่ Sim จะสังเกตได้ง่าย ๆ ที่บริเวณสีแดงตรงนี้ครับก็จะรองรับ Nano Sim ได้ 2 อัน ไม่รองรับ MicroSD นะครับ ในขณะที่ด้านล่างยังคงมีช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรมาให้อยู่ ส่วนตรงนี้เป็นพอร์ต Type-C สำหรับการชาร์จหรือเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยจะมีอีกหนึ่งช่องที่ข้าง ๆ ปุ่มเปิด/ปิดหน้าจอ ก็ไว้สำหรับการชาร์จหรือเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทั้งหลายโดยไม่ต้องไปเกะกะมือเราฝั่งใดฝั่งหนึ่งนั่นเองครับ เขาคิดมาแล้วเพื่อเกมเมอร์

สเปก

เรื่องต่อมาคือสเปก นี่เรายังต้องพูดเรื่องนี้กันจริงหรอ!? งั้นสปอยล์เลยละกันว่าโคตรแรง โคตรเอา 99% ของการเอาไปทดสอบเล่นเกมคือไม่มีอาการกระตุก หรือเฟรมเรตวงเลย ก็เป็นผลมาจากชิปประมวลผลตัวแรงอย่าง Snapdragon 888+ 5G ซึ่งเป็นชิปประมวลผลที่แรงที่สุดของสมาร์ตโฟนในฝั่งแอนดรอยด์ในขณะนี้ ส่วนทางด้าน RAM ให้มา 18 GB LPDDR5 และพื้นที่ความจุมาที่ 512GB

แต่ถ้าเป็นในรุ่น 5s ธรรมดา ก็จะมีการลดหลั่นสเปกลง รุ่นแรกจะมี RAM 12 GB Storage 256GB และอีกรุ่นจะมี RAM 16 GB Storage 512GB

ทดสอบ

แรงไม่แรง ตอนเอาไปเทสต์บน 3DMark ตัวแอปยังบอกให้ไปเทสต์ผ่านโหมดอื่นที่ไม่ใช่ Sling Shot เลยเพราะตัวสมาร์ตโฟนสเปกดุดันไป ก็เอาเป็นว่า งั้นตามนั้นครับ เรารันผ่านโหมด Wild Life Stress Test เพื่อดูความอึดของสมาร์ตโฟนหากต้องถูกใช้ยาวนานติดต่อกัน ผลสรุปคือในลูปที่ดีที่สุดทำคะแนนไปได้ที่ 5748 ลูปที่ต่ำที่สุดทำไป 5375 เฉลี่ยความคงที่ของการใช้งานอยู่ที่ 93.5%

ถัดมาอีกแอปกับ Geekbench 5 ครับ ได้คะแนน Single Core ที่ 1134 และ Multi Core อยู่ที่ 3492 ซึ่งทั้งสองค่านี้ ได้คะแนนเยอะกว่าสมาร์ตโฟนทุกรุ่นเลยครับ

ส่วนการทดสอบด้านการเล่นเกม ก็จัดให้ไปเลยกับเกมกินแห่งยุคตอนนี้ทั้งหลาย แต่ก่อนอื่นเพื่อฟอร์มที่สมบูรณ์ (ใส่ AeroActive Cooler 5) พร้อมแล้วครับ

เริ่มกันที่เกมแรกครับ Marvel Future Revolution ปรับทุกอย่างให้สุดไปเลยทั้งกราฟิกและเฟรมเรต ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ โดยปกติแล้วจะอยู่ที่ 50 – 60 fps นะครับ แต่จะมีหล่นลงราว ๆ 30 fps เมื่อต้องเจอกับผู้เล่นคนอื่นในแผนที่ แต่ที่แพนว่าทำได้ดีคืออุณหภูมิระหว่างการเล่นนะ คือจะอยู่ที่ราว ๆ 40 องศา บวกลบ 1 – 2 องศา เป็นตัวเลขที่เหมาะกับเกมที่เน้นการฟาร์มแบบนี้ดีครับ

ต่อไปเป็น Pokemon Unite เกมที่เพิ่งจะทำให้ออมหัวร้อนไปในไลฟ์ TGS มาครับ ปรับสุดทุกอย่าง ลองสักแมตช์ ภาพรวมเฟรมเรตคือทำได้ 60 fps มีตกบ้าง 1 – 2 fps ส่วนอุณหภูมิยังคงเส้นที่ที่ 40 องศาครับ

เกมถัดมาครับ PUBG Mobile ปรับทุกอย่างให้สุด เฟรมก็สุด ป่ะ ไปโดดร่มกันครับ ภาพรวมเฟรมเรตนะครับจะอยู่ที่ราว ๆ 38 – 40 fps ไม่แย่เลยนะครับสำหรับการตั้งค่าที่อัดสุดทั้งหมด ส่วนอุณหภูมินี่ก็อยู่ราว ๆ 40 องศา บวกลบ 1 – 2 องศาเหมือนกันครับ

แต่ที่แพนจะนำเสนอคือฟีเจอร์นี้ครับ Air Triggers เราสามารถตั้งค่าให้บริเวณนี้ที่ถูกเรียกว่า Ultrasonic Buttons เป็นการออกคำสั่งตามที่เราต้องการในเกมนั้น ๆ ได้ อารมณ์เหมือนปุ่ม L1 R1 เลยครับ อย่างในกรณีเกม PUBG Mobile แพนจะเซตให้ฝั่งซ้ายเป็นเล็ง และขวาเป็นยิง

และแพนก็อยากจะบอกว่าไม่ใช่แค่โซนตรงนี้ที่เราตั้งค่าให้เป็นปุ่มคำสั่งในเกมได้นะครับ นี่ครับ AeroActive Cooler 5 ก็สามารถใช้ฟีเจอร์นี้ได้แถมถูกออกแบบมาให้เหมือนกับการกดไกปืนจริงกว่าด้วย โดยแพนได้ทำการตั้งค่าเป็นที่เรียบร้อยแล้วในเกม Call of Duty Mobile ซึ่งบอกเลยว่าเข้ากันสุด ๆ

ซึ่งนอกเหนือจากโซนซ้ายและขวาตรงนี้ ฟีเจอร์ Air Triggers ยังสามารถเซ็ตให้การ gesture ต่าง ๆ เป็นการออกคำสั่งในเกมได้อีกด้วยในชื่อ Motion Control เช่นใน Call of Duty Mobile ที่แพนตั้งค่าให้ Motion Control เป็นการรีโหลดกระสุนผ่านการเขย่าตัวเครื่อง

ส่วน Rear Touch ก็เจ๋งเหมือนกันครับ จะเป็นเซนเซอร์ที่อยู่ข้างหลังตัวเครื่องให้อารมณ์เหมือน L2 R2 แต่วิธีการออกคำสั่งจะเป็นการสไลด์เอาครับ แต่ในรุ่น 5s ธรรมดาจะไม่มีนะ

ซึ่งทุกการบังคับในรูปแยย Air Triggers สามารถตั้งค่าให้ใช้งานพร้อมกันได้ทั้งหมด บอกเลยว่าถ้าบังคับจนชิน ฟีลเหมือนเล่นเครื่องเล่นเกมแฮนด์เฮลด์อย่างไรอย่างนั้นเลย

AeroActive Cooler 5

AeroActive Cooler 5 ที่ทางเว็บไซต์ออฟฟิเชียลระบุสามารถช่วยลดอุณหภูมิตัวเครื่องได้ราว ๆ 15 องศา แต่พอเอาไปใช้งานจริงผ่านเงื่อนไขชีวิตประจำวัน เช่นห้องที่ไม่ได้เปิดแอร์บ้าง หรือภายนอกอาคารบ้าง องศาที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดจะอยู่ที่ประมาณ 5 – 10 องศา ครับ แต่ว่าจริง ๆ แล้วความสำคัญของอุปกรณ์เสริมตัวนี้ คือการทำให้ผู้ใช้งานเล่นเกมได้ต่อเนื่องมากกว่าครับ

Armoury Ctrate

อีกหนึ่งสิ่งที่จะเพิ่มให้ประสบการณ์การเล่นเกมของเราให้ฟินยิ่งขึ้น คือแอป Armoury Ctrate ที่จะเป็นการให้ผู้ใช้งานปรับค่าสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกับเล่นเกมโดยละเอียด ย้ำว่าละเอียด เพราะทำได้ตัังแต่การเซตให้แต่ะละเกมมีกราฟิกทีสวยและสมูทขึ้น ความไวต่อการสัมผัสมากขึ้น

โหมดต่าง ๆ

Console ศูนย์กลางที่ใช้ในการเช็กสถานะสำคัญการเล่นเกม เช่นระดับอุณหภูมิของ CPU และ GPU, องศาของเครื่อง, แสดงผลระยะเวลาคงเหลือว่าใช้ได้อีกนานแค่ไหน และยังสามารถเลือกปรับโหมดประสิทธิภาพของเครื่องให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ต้องการ เช่น

X mode ที่ตัวเครื่องจะเร่งประสิทธิภาพทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่การ overclock เพื่อให้เล่นเกมได้จัดเต็ม แต่โหมดนี้แพนนำว่าควรเปิดเฉพาะตอนเล่นเกมนะครับ เพราะมันค่อนข้างกินแบตพอสมควร

Dynamic ที่จะเรียนรู้การใช้งานของผู้เล่นและปรับประสิทธิภาพตามการใช้งาน

Ultra Durable สำหรับใครที่กังวลว่าจะใช้ไม่ได้ทั้งวัน ก็สามารถเปิดโหมดนี้ได้แบตก็จะอยู่ได้นานขึ้น

Advance เอาไว้ให้ผู้ใช้ปรับค่าต่าง ๆ เองได้

ระบายความร้อน

นอกจากนี้ทางด้านการระบายอากาศของตัวสมาร์ตโฟนเองก็ถูกดีไซน์มาให้แยกชิ้นกันมากที่สุด เพื่อไม่ให้ความร้อนกระจุกอยู่ที่ใดที่หนึ่ง รวมไปถึงแผงระบายความร้อนโดยตรงอย่าง Vapor Chamber จะใช้รูปทรงที่มากกว่าและหนากว่า ซึ่งในแง่การใช้งานจริง อุณหภูมิความร้อนจะถูกทำให้ค่อย ๆ ขึ้นอย่างช้า ๆ นั่นเองครับ

แบตเตอรี่

ส่วนทางด้าน แบตเตอรี่ของ ROG Phone 5s Pro ให้มาที่ 6000 mAh เยอะมากนะครับ ถ้านำไปใช้ไถโซเชียลหรือดูยูทูบ ดู Netflix ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องชาร์จแบตระหว่างวันเลยครับ แต่หากนำไปใช้เล่นเกมอันนี้ขึ้นอยู่กับการตั้งค่ากราฟิก รวมไปถึงการแสดงผลเสริมต่าง ๆ จากทางตัวสมาร์ตโฟน เช่น รีเฟรชเรต, ความสว่างหน้าจอ หรือการตั้งค่าโหมดใช้ประสิทธิภาพสูงที่สุด

แต่ทาง ROG ก็แก้ปัญหาตรงนี้ด้วย HyperCharge ที่มีส่งกำลังไฟได้สูงสุด 65 วัตต์ แบบ Type-C to Type-C จาก 0 – 100% ประมาณ 1 ชั่วโมงครับ

กล้อง

ROG Phone 5s Pro มีกล้องหน้าความละเอียดอยู่ที่ 24 ล้านพิกเซลนะครับ

ส่วนกล้องหลังตัวหลักใช้เป็น Sony IMX686 ความละเอียด 64 ล้านพิกเซล f/1.8 ซึ่งคุณภาพของภาพถ่ายต้องบอกว่าอยู่ในระดับที่ดีครับมีความคม สว่าง สีที่ได้เป็นธรรมชาติ

ถัดมาเป็นกล้อง Ultra wide มุมกว้าง 125 องศา ความละเอียด 13 ล้านพิกเซล f/2.4

และปิดท้ายด้วยกล้องมาโคร ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล f/2.0

ทดสอบถ่ายวิดีโอด้วยกล้องหน้าที่ถ่ายได้สูงสุดที่ 1080p 60 fps นะครับ ไม่แย่นะ ใช้เป็นกล้อง Vlog จำเป็นได้อยู่

ส่วนนี้คือการทดสอบการถ่ายวิดีโอด้วยกล้องหลังนะครับ สิ่งนึงที่แพนชอบคือเราไม่ต้องเข้าหน้าตั้งค่าเพื่อเลือกถ่ายวิดีโอในเลโซลูชันต่าง ๆ แต่สามารถกดจากui ในโหมดวิดีโอได้เลย ซึ่งก็จะมีตั้งแต่ 720p 30 fps, 1080p 30 หรือ 60 fps ก็ได้ แต่ความน่าสนใจคือความละเอียด 4K ที่ถ่าย 60 fps ได้ แต่ว่าต้องเป็นกล้องหลักนะครับ ถ้าเป็นกล้องรองจะได้แค่ 4K 30 fps และก็สามารถถ่ายวิดีโอได้ที่ความละเอียดได้สูงสุด 8K 30 fps แต่แพนไม่ค่อยแนะนำให้ใช้ถ่ายนาน ๆ หรือถ่ายในที่แจ้งนะครับ เพราะการถ่ายในความละเอียดนี้เครื่องจะร้อนและกินแบตมาก ๆ

ซึ่งคุณภาพของวิดีโออยู่ในระดับที่โอเค ส่วนระบบกันสั่น 3 แกนแบบซอฟต์แวร์ก็ถือว่านิ่งใช้ได้ ในขณะที่เสียงเองหากอยู่ในที่ ๆ มีเสียงรบกวน ปานกลาง – น้อย ก็ถือว่าบันทึกเสียงได้เคลียร์ดีครับ

โดยภาพรวมของกล้องหน้าและหลังของ ROG Phone 5s Pro ต้องบอกว่ามีการพัฒนาขึ้นนะครับก็น่าหยิบมาสแนปภาพหรือว่าถ่ายวิดีโอในโมเมนต์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น

ข้อสังเกต

และแล้วก็มาถึงข้อสังเกตที่กองบรรณาธิการแบไต๋จะฝากให้คุณผู้ชมไว้เสมอ โดยสำหรับ ROG Phone 5s Pro คือตรงนี้ครับ ตัวเครื่องไม่สามารถเพิ่มความจุภายนอกหรือว่าใส่ MicroSD ได้

กับอีกข้อสังเกตคือในรุ่น ROG Phone 5s Pro มีแค่สีเดียวให้เลือกคือดำ Phantom Black ขาดสีขาว Storm White ไป ซึ่งถ้าใครอยากได้สีขาวก็ต้องไปซื้อ ROG Phone 5s ในรุ่น Ram 12 Storage 256GB แทนครับ

ราคา

รีวิวที่ดีต้องมีราคา! ROG Phone 5s Pro สนนราคาอยู่ที่ 39,990 บาท

ส่วนรุ่นรองลงมาอย่าง ROG Phone 5s เฉยๆ จะใช้ชิปเซต Snapdragon 888+ เหมือนกับในรุ่น 5s Pro แต่จะไม่ได้มีหน้าจอ ROG Vision และปุ่มสัมผัส Rear Touch มาให้ที่บริเวณด้านหลังตัวเครื่อง ซึ่งในรุ่น Ram 12GB Storage 256GB จะอยู่ที่ 25,990 บาท ซึ่งจะมี 2 สีให้เลือก คือสีดำ Phantom Black และสีขาว Storm White และในรุ่นที่มี Ram 16GB Storage 512GB อยู่ที่ 30,990 บาท จะมีสีดำ Phantom Black เพียงสีเดียวครับ

ส่วนอุปกรณ์เสริมอย่าง AeroActive Cooler 5 ถ้าเป็นรุ่น 5s Pro จะมีมาให้เลยในกล่อง แต่ถ้าซื้อแยกจะอยู่ที่ 1,490 บาท ส่วน Lighting Armor Case ต้องซื้อแยกเลยไม่มีแถมให้ในรุ่นไหน ก็สนนราคาที่ 1,490 บาทเช่นเดียวกัน นอกจากจะปกป้องเครื่องได้อย่างแข็งแกร่งเหมือนเกราะแล้ว ก็แสดงผลไฟ RGB ได้ด้วยนะ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส