เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วย US Marshals Service สังกัดกระทรวงยุติธรรม เมือง ‘คลิฟแลนด์’ (Cleveland) รัฐโอไฮโอ (Ohio) สหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงข่าวรายงานการทำคดีจับกุมอดีตนายธนาคาร ซึ่งเป็นผู้ร้ายคดีปล้นทรัพย์ที่หนีคดีหลังจากก่อเหตุมานานกว่า 52 ปี หลังจากก่อคดีปล้นเงินจากธนาคารเป็นจำนวนเงิน 215,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7 ล้านบาท)

ปล้นธนาคาร
‘ธีโอดอร์’ หรือ ‘เท็ด คอนราด’ (Theodore ‘Ted’ Conrad)

โดยคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ 52 ปีที่แล้ว หรือเมื่อวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 1969 ‘ธีโอดอร์’ หรือ ‘เท็ด คอนราด’ (Theodore ‘Ted’ Conrad) วัย 20 ปี ทำงานเป็นพนักงานหน้าเคาน์เตอร์ในธนาคาร ‘โซไซตี เนชันแนล แบงก์’ (Society National Bank) ที่ตั้งอยู่บนถนนหมายเลข 127 เมืองคลิฟแลนด์ ในวันนั้นเขาได้ตัดสินใจขโมยเงินจำนวนกว่า 215,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7 ล้านบาท) หรือ 1,700,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 55 ล้านบาท) ในปัจจุบัน ใส่ลงในถุงกระดาษและหายตัวไป

จนถึงเช้าวันจันทร์ ธนาคารพบว่าคอนราดไม่ได้เข้าทำงานเหมือนอย่างปกติ และเมื่อธนาคารได้ตรวจสอบห้องนิรภัย และพบว่าเงินจำนวนหนึ่งหายไปด้วย ธนาคารจึงเชื่อว่าคอนราดน่าจะเป็นคนที่ทำการขโมยเงินไป ธนาคารจึงได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วย US Marshals Service เพื่อให้ดำเนินการในคดีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการก่อเหตุปล้นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเมืองคลิฟแลนด์

เจ้าหน้าที่สืบสวนพบข้อมูลว่า เขาได้หลบหนีโดยย้ายไปที่เมืองบอสตัน (Boston) รัฐแมสซาชูเซตส์ และใช้ชื่อปลอมว่า ‘โธมัส แรนเดล’ (Thomas Randele) ที่น่าบังเอิญก็คือ หนึ่งปีก่อนเกิดเหตุปล้นธนาคาร คอนราดชื่นชอบภาพยนตร์นีโอ-นัวร์ (Neo-Noir) เรื่อง ‘The Thomas Crown Affair’ (1968) ที่นำแสดงโดยดารา ‘สตีฟ แม็กควีน’ (Steve McQueen) ซึ่งเนื้อเรื่องว่าด้วยตัวละคร ‘โธมัส’ ที่ทำการปล้นเงินจากธนาคารบอสตัน โดยเขาได้เคยบอกกับเพื่อน ๆ ของเขาไว้ว่า การนำเงินออกจากธนาคารนั้นง่ายมาก และถึงขั้นที่ว่าเขาได้บอกกับเพื่อน ๆ ว่า เขาเองก็มีแผนว่าจะนำเงินออกจากธนาคารด้วย

ภาพยนตร์เรื่อง ‘The Thomas Crown Affair’ (1968) ที่นำแสดงโดย ‘สตีฟ แม็กควีน’ (Steve McQueen)

เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาสืบสวนการหลบหนีของคอนราดมาอย่างยาวนาน โดยออกไล่ตามหาไปในหลาย ๆ ภูมิภาคทั่วสหรัฐอเมริกา ก่อนจะพบว่า โธมัส แรนเดล แห่งเมืองบอสตัน คือธีโอดอร์ คอนราดที่ย้ายไปอยู่ที่บอสตันเมื่อปี 1970 นั่นเอง แล้วก็ให้บังเอิญว่า คอนราด เปลี่ยนมาใช้ชื่อปลอมว่าโธมัส เหมือนกับตัวละครในภาพยนตร์ และย้ายไปอยู่บ้านที่เขตบอสตัน แถมยังย้ายไปอยู่บ้าน ณ บริเวณที่เคยเป็นกองถ่ายทำภาพยนตร์ ‘The Thomas Crown Affair’ มาก่อนอีกต่างหาก

ปล้นธนาคาร
คอนราด ที่เปลี่ยนชื่อมาใช้ชื่อปลอมว่า โธมัส แรนเดล

ด้วยการใช้ชื่อปลอมและใช้ชีวิตแบบเงียบ ๆ ของคอนราด ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมืดแปดด้านในการสืบหาตัวมานานกว่า 50 ปี แต่แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเอกสาร โดยพบความเชื่อมโยงของเอกสารของคอนราดในปี 1960 กับเอกสารของโธมัส เรนเดล รวมทั้งเอกสารที่ระบุชื่อเรนเดล ที่ทำการยื่นขอล้มละลายในศาลรัฐบาลกลางแห่งเมืองบอสตันในปี 2014 ซึ่งเอกสารทั้งหมดนี้ยืนยันชัดเจนว่า โธมัส เรนเดล กับคอนราด เป็นคนคนเดียวกัน

ปล้นธนาคาร
ภาพล่าสุดของโธมัส หรือคอนราด

โธมัส เรนเดล หรือคอนราด เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยระบุวันเกิดปลอมว่าเขาเกิดวันที่ 10 กรกฎาคม 1947 แต่จริง ๆ แล้วเขาเกิดวันที่ 10 กรกฎาคม 1949 นั่นจึงทำให้เขาเสียชีวิตจริง ๆ เมื่ออายุได้ 71 ปี

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีบทบาทสำคัญในการตามสีบสวนคดีนี้ก็คือ ‘จอห์น เค. เอลเลียต’ (John K. Elliott)
รองผู้กำกับการตำรวจแห่งเมืองคลีฟแลนด์ และเคยมีบ้านพักที่อยู่ใกล้ ๆ กับบ้านของคอนราดในช่วงปี 1960 เขาไม่เคยลดละในการตามหาตัวผู้ร้ายในคดีนี้เลยตั้งแต่ที่เขาดำรงตำแหน่งเมื่อปี 1968 จนกระทั่งเกษียณในปี 1990 และจนกระทั่งจากไปเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา โดยมี ‘ปีเตอร์ เจ. เอลเลียต’ (Peter J. Elliott) บุตรชายผู้เป็นตำรวจมารับหน้าที่สืบสวนคดีต่อจากพ่อ

ปีเตอร์กล่าวถึงการสืบสวนคดีนี้ในแถลงข่าวว่า “คดีนี้เป็นคดีที่พ่อผมรู้ดีมาก ๆ และยังคงให้ความสนใจแต่เนิ่น ๆ พ่อไม่เคยหยุดค้นหาคอนราดเลย และต้องการจะปิดคดีนี้ จนกระทั่งเขาเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว”

“ผมหวังว่า พ่อคงจะได้พักผ่อนจริง ๆ เสียที หลังจากการสืบสวนของพ่อ ทำให้สามารถปิดคดีปริศนาที่ยาวนานคดีนี้ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตจริง มันไม่ได้เหมือนกับในภาพยนตร์เสมอไปหรอก”


อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส