หากใครยังไม่รู้จัก BYD แบรนด์รถยนต์สัญชาติจีน ที่เป็นผู้นำส่วนแบ่งทางตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก Tesla และ Toyota วันนี้ BYD ก้าวขาลงมาสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย พร้อมส่งรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก BYD ATTO 3 และดำเนินงานตั้งโรงงานผลิตจริงจังที่จังหวัดระยอง ด้วยเป้าหมายที่ยึดมั่นเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์ของไทยอันดับ 5 ในเวลา 5 ปีอีกด้วย แบไต๋ได้มีโอกาสไปทดสอบรถยนต์ไฟฟ้า BYD ATTO 3 ที่สนามปทุมธานี สปีดเวย์ จึงขอเก็บความประทับใจมาเล่าให้ฟังครับ

ก่อนอื่นเลย BYD ย่อมาจาก Build your dreams เป็นบริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1995 โดยแรกเริ่มเป็นบริษัทผลิตแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ปัจจุบัน BYD ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด 4 สาขา นั่นคือ

  • แบตเตอรี่ ที่เป็นเทคโนโลยีที่อีลอน มัสก์อยากครอบครอง
  • รถยนต์ ผู้ครองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับ 3 ของโลก
  • ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าตามบ้าน
  • รถราง ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดเพื่อสิ่งแวดล้อม

BYD ประเดิมธุรกิจในประเทศไทย ด้วยการลงทุนซื้อที่ดินสำหรับก่อตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าด้วยงบประมาณกว่า 17,000 ล้านบาท และตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 150,000 คันต่อปี ซึ่งจะเริ่มผลิตได้ในปี 2024 ในช่วงนี้จะเป็นการนำเข้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากประเทศจีนเข้ามาขายก่อน โดยประเดิมที่รุ่น BYD ATTO 3 รถคอมแพ็กเอสยูวีพลังงานไฟฟ้า 100% ที่เราได้ไปทดสอบสมรรถนะจริงและระบบความปลอดภัยต่าง ๆ ในสนามเรียบร้อยแล้ว

ทดสอบอัตราเร่ง

การทดสอบแรกของ BYD ATTO 3 เป็นการทดสอบอัตราเร่ง ที่มีกำลังสูงสุด 201 แรงม้า มีอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายในเวลา 7.3 วินาที ทำความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งในฐานแรกเป็นการเหยียบคันเร่งจนสุดเพื่อทดสอบอัตราเร่งและทดสอบระบบเบรกในแต่ละโหมด ผู้ขับขี่สามารถเลือกได้ 3 โหมดด้วยกัน ได้แก่ Eco / Normal / Sport

ความแตกต่างในแต่ละโหมดก็คือความเร็วในการออกตัวนั่นเองครับ ไล่ตั้งแต่โหมด Eco ที่ให้ฟิลลิ่งค่อยเป็นค่อยไป ไต่ความเร็วไปเรื่อยๆ รวมถึงระบบเบรกก็ทำงานได้ค่อนข้างสมูธ โหมด Normal ก็ออกตัวได้เร็วขึ้นนิดนึง เหมาะกับการใช้งานทั่วไป ในขณะที่โหมด Sport ให้ความรู้สึกพุ่งทะยานได้ดี ออกตัวเร็ว เบรกแน่นหนึบ ฟิลลิ่งเร้าใจสมกับโหมดสปอร์ต

ทดสอบพวงมาลัย การเข้าโค้งและช่วงล่าง

BYD ATTO 3 มาพร้อม Blade Battery (แบตเตอรี่ลิเทียม โซเดียม ฟอสเฟต) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของ BYD ที่เขาว่าอีลอน มัสก์อยากได้นักอยากได้หนา เพราะต้นทุนที่ต่ำกว่าแบตเตอรี่เจ้าอื่น ๆ และที่สำคัญคือระบายความร้อนได้ดีมาก เนื่องจากตัวแบตเตอรี่เป็นแผ่นแบบบางเฉียบวางเป็นแนวตั้งซ้อนกัน

สำหรับ BYD ATTO 3 ใช้แบตเตอรี่ขนาดความจุ 60.48 kWh ขับขี่ได้ระยะทางสูงสุด 480 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง ตามมาตรฐานการทดสอบ NEDC ซึ่งในฐานที่ 2 เราได้ทดสอบการเข้าโค้งเป็นเลขแปด และการเข้าโค้งแคบ ๆ ในสนาม การหักหลบฉุกเฉินกรณีมีสิ่งกีดขวาง ไปจนถึงการขับขี่บนพื้นที่ต่างระดับ เพื่อทดสอบการเก็บเสียงและช่วงล่าง

ทำให้เห็นว่า BYD ATTO 3 มีวงเลี้ยวค่อนข้างแคบมาก สามารถกลับรถยูเทิร์นบนถนนเลนคู่ได้เลย รวมถึงพวงมาลัยค่อยข้างคม ตอบสนองได้ทันใจในการเข้าโค้งแคบและลึก มีอาการโยนเล็กน้อยเมื่อใช้ความเร็วสูง รวมถึงการเก็บเสียงก็ทำได้ดีแม้ขับขี่ในพื้นที่ไม่ราบเรียบ

ทดสอบ ADAS TEST และระบบความปลอดภัย

2 คันหลังคือ BYD ATTO 3 ส่วนคันหน้าคือ BYD E6 ที่น่าจะวางขายต่อไป

BYD ATTO 3 มาพร้อมระบบความปลอดภัยแบบรอบคัน ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่ รวมถึงอุ่นใจแก่ผู้โดยสารภายในรถและผู้ใช้รถบนท้องถนนด้วย ซึ่งการทดสอบระบบความปลอดภัยของ BYD ATTO 3 เริ่มตั้งแต่ระบบแจ้งเตือนเมื่อขับขี่ออกนอกเลน จะทำงานอัตโนมัติเมื่อความเร็วเกิน 60 กม./ชม. ซึ่งจะมีไฟสีแดงของเส้นถนนเด้งเตือนบนหน้าปัด รวมถึงช่วยสั่นพวงมาลัยเตือนด้วย แต่ทั้งนี้เซ็นเซอร์สามารถตรวจจับได้เฉพาะเส้นถนนทึบเท่านั้น

ในส่วนของระบบ Adaptive Cruise Control ช่วยควบคุมความเร็วรถและช่วยเบรกตามรถคันหน้า เพื่มความสบายเมื่อต้องขับขี่ระยะทางไกลหรือขับขี่เป็นเวลานาน สามารถปรับระยะได้หลายระดับ ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ที่ค่อนข้างกว้าง แม้กระทั่งในเวลาเข้าโค้งกว้างก็สามารถตรวจจับรถคันหน้าได้ แต่ไม่ถึงกับโค้งจนหายวับขนาดรถคันข้างหน้ายูเทิร์นกลับนะครับ ซึ่งอาจเกิดอันตรายเมื่อรถของเราจับรถคันหน้าไม่ได้ ทำให้ระบบจะเพิ่มความเร็วขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัวนั่นเองครับ ทั้งนี้ผู้ขับขี่ต้องเอามือจับพวงมาลัยไว้เสมอ เพื่อความปลอดภัยนะครับ

ความรู้สึกหลังการทดสอบ

โดยรวมการใช้งาน BYD ATTO 3 ถือว่าให้มาครบตามสเปกของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเลยครับ ซึ่งวางตัวเป็นคู่แข่งกับ MG ZS EV และตลาดเดียวกับ Honda HR-V และ Totyta Cross เรียกได้เหมาะกับการใช้งานภายในเมืองและใครที่ชอบเดินทางแน่นอน ฟังก์ชันและระบบความปลอดภัยครบครัน เรียกได้ว่าใช้งานกันไม่ครบ ส่วนสมรรถนะก็มาเต็ม ใช้งานได้ทั้งในเมืองและเดินทางไกลเวลาไปต่างจังหวัด ด้วยระยะทางสูงสุด 480 กิโลเมตร ครอบคลุมการเดินทางไปกลับเมืองใกล้ ๆ กรุงเทพฯ ได้สบายๆ หรือไกลกว่านั้นก็หาจุดแวะชาร์จกันได้

ข้อสังเกตของ BYD ATTO 3 แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะไม่มีเสียงเครื่องยนต์มารบกวน แต่ด้วยมาตรฐานที่ใช้ในบางประเทศส่งเสริมเรื่องความปลอดภัย ทำให้ BYD ATTO 3 จะมีเสียงเป็นเอกลักษณ์ตอนขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ ประมาณไม่เกิน 30 กม./ชม. ฟังแล้วคล้าย ๆ รถขายไอศกรีมขับผ่านเลยครับ น่ารักดีครับ

รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในตัวรถค่อนข้างดูทันสมัย อาทิ คันเกียร์รูปทรงคล้ายกับเกียร์ของเครื่องบิน ที่เปิดประตูรูปทรงประหลาด ๆ ที่ต้องเลื่อนมาข้างหลัง 2 ครั้งจึงจะเปิดประตูได้ หลังคาซันรูปขนาดใหญ่กินพื้นที่คนขับจนถึงผู้โดยสารตอนหลังเลยครับ มาพร้อมมาตรวัดแบบ Full Digital ขนาด 5.0 นิ้ว และหน้าจอสัมผัสบริเวณคอนโซลกลางขนาด 12.8 นิ้ว ที่สามารถหมุนเปลี่ยนแนวนอนได้ รวมถึงการดีไซน์เส้นสายกีตาร์ให้สามารถดีดเล่นระหว่างรอรถติดไปพลาง ๆ ได้ด้วย

มีบางจุดที่ขัดใจเรานิดหน่อย เช่น ตำแหน่งที่จับข้างประตูเหนือลำโพง ตำแหน่งยื่นลงมาต่ำไปนิดทำให้ชนกับเข่า รวมถึงเบาะที่นั่งโอบสรีระไม่พอดี เวลาเลี้ยวหลังแขนมักจะชนกับขอบเบาะนิดหน่อย ทั้งก็ขึ้นอยู่กับสรีระร่างกายของแต่ละคนด้วยครับ

โดย BYD ATTO 3 เปิดราคามา 1,199,900 บาทครับ ในรุ่น Extended Range ที่เคลมระยะ 480 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีรุ่น Standard Range หรือรุ่นเริ่มต้น ที่มีแบตเตอรี่เล็กลงขนาด 49.92 kWh และขับขี่ได้ระยะทางสูงสุด 410 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง (ตามมาตรฐาน NEDC) ในราคา 1,099,900 บาท (ราคานี้รวมการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว) ซึ่งรอติดตามความเคลื่อนไหวจากนี้และต่อไปของ BYD กันได้เลยครับ มีรุ่นอื่น ๆ ตามมาแน่นอน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส