ไวรัสโคโรนาสามารถแพร่กระจายจากสัตว์ป่าแช่แข็งที่ติดเชื้อได้จริงหรือไม่? วาระนี้เป็นที่ถูกพูดถึงในแวดวงนักวิทยาศาสตร์จีนและถูกนำเสนอแก่ประชาคมโลกเมื่อคณะจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เดินทางไปตรวจสอบและสืบสวนถึงต้นกำเนิดที่มาของไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19  ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในช่วงเดือนที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดการเดินทางไปเยือนจีนของทีม WHO ได้ในบทความ WHO เตรียมเผย ‘ต้นกำเนิดโควิด’ แง้มการแพร่ระบาดในช่วงต้นอาจกว้างกว่าที่เคยคาด)

Cold Chain Theory สมมติฐานจากจีนที่น่ากังวล

ในงานแถลงข่าว เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมงานขององค์การอนามัยโลกยังคงสรุปว่า ไวรัสดังกล่าวน่าจะมาจากค้างคาวและเผยแพร่สู่คนผ่านพาหะซึ่งเป็นสัตว์ที่มีชีวิต อย่างไรก็ตาม ตามบทความในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมงานยังระบุว่า การตรวจสอบว่าเนื้อสัตว์ป่าแช่แข็งที่มาจากฟาร์มของจีนปนเปื้อนเชื้อไวรัสหรือไม่นั้นยังคงเป็นสิ่งจำเป็น และหากมีเชื้อปนเปื้อนอยู่จริง นี่จะนำไปสู่ต้นกำเนิดการแพร่ระบาดครั้งแรกที่ตลาดอาหารทะเลฮัวหนาน (Huanan Seafood Market) ในอู่ฮั่นได้หรือไม่

โดมินิค ดเยอร์ (Dominic Dwyer) สมาชิกในทีมนักไวรัสวิทยาจากสถาบัน New South Wales Health Pathology  ออสเตรเลียกล่าวว่า

“เราทุกคนคิดว่า เครือข่ายของอาหารแช่แข็งนี้  (Cold chain theory) เป็นสมมติฐานที่สมเหตุสมผล ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพิจารณา”

อย่างไรก็ตาม ดเยอร์กล่าวว่า พวกเขายังต้องทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อหาว่าสัตว์ป่าแช่แข็งปนเปื้อนได้อย่างไร ทั้งนี้ ทีม WHO คาดว่าจะจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับสมมติฐานได้ในสัปดาห์หน้า

แม้จะเป็นเพียงการเรียกร้องให้ตรวจสอบเพิ่มเติม แต่ในประเทศจีน กลับมีการประโคมข่าวเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสผ่านการสัมผัสอาหารแช่แข็งในวงกว้าง สื่อในจีนพากันนำเสนอว่า ไวรัสที่ระบาดที่อู่ฮั่นมีต้นกำเนิดจากเนื้อสัตว์ป่าแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ เมืองท้องถิ่นเล็ก ๆ ที่มีการระบาดโควิดเองก็มีสาเหตุมาจากอาหารแช่แข็งเหล่านี้ด้วย และนักวิทยาศาสตร์จีนต่างพากันหาหลักฐานมาสนับสนุนสมมติฐานนี้กันอย่างมากมายอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์นอกประเทศจีนหลายคนให้เหตุผลว่า ทฤษฎีนี้เป็นไปได้ยาก แต่คำว่ายากนั้นแสดงว่ามันก็ยังเป็นไปได้ใช่หรือไม่?

งานวิจัยบางงานชี้ให้เห็นว่า การส่งต่อไวรัสผ่านพื้นผิวที่แช่แข็งมานั้นเป็นไปได้ มีงานของนักวิจัยสิงคโปร์ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ ซึ่งเขียนลงใน bioRxiv เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วระบุว่า ไวรัส SARS-CoV-2 สามารถติดเชื้อบนพื้นผิวของเนื้อสัตว์แช่แข็งหรือแช่เย็นได้นานกว่า 3 สัปดาห์

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

ติดเชื้อจากอาหารแช่แข็ง เป็นไปได้จริงหรือ?

2 เดือนต่อมานักวิจัยในจีนได้เชื่อมโยง การระบาดของโควิด 2 ครั้งในปักกิ่ง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมากับตลาดซินฟาตี (Xinfadi Market) ซึ่งเป็นตลาดในเมืองปักกิ่ง โดยกรณีแรก เกิดขึ้นหลังจากไม่ตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นเวลา 56 วัน แถมยังไม่มีการแพร่กระจายเชื้อตามชุมชน หรือในเมืองเลย ส่วนเชื้อที่พบนั้น ก็ยังเป็น SARS-CoV-2 สายพันธุ์ที่แตกต่างกันด้วย แต่นักวิจัยกลับพบอนุภาคไวรัสจากสายพันธุ์เดียวกันนี้ในปลาแซลมอนที่เก็บในห้องเย็นที่แผงขายของในตลาด ซึ่งแน่นอนว่า ทีมสอบสวนของ WHO ได้นำการค้นพบนี้มาพิจารณา

ปีเตอร์ ดัสซาค (Peter Daszak) ประธานหน่วยงาน EcoHealth Alliance องค์กรด้านสุขภาพระดับโลกที่ไม่แสวงหาผลกำไรในนิวยอร์ก หนึ่งในสมาชิกทีมผู้ตรวจสอบ WHO กล่าวว่า “เราใช้เวลาส่วนใหญ่ตรวจสอบหลักฐานที่มาจากตลาดซินฟาตี มันเป็นผลงานที่ดีมาก พวกเขาพยายามลงรายละเอียดค้นหาความเชื่อมโยงกับแหล่งที่มาอย่างมาก” 

ในการศึกษาครั้งที่ 3 ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งในประเทศจีนได้รายงานการพบเชื้อไวรัสบนบรรจุภัณฑ์ของปลาค็อดแช่แข็ง ซึ่งคาดว่าเป็นที่มาของการติดเชื้อในหมู่คนงานท่าเรือในเมืองชิงเต่า ในมณฑลซานตงทางตะวันออกในเดือนกันยายน

“เราไม่มีเหตุผลที่จะสันนิษฐานว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น” เออร์วิน ดูเซอร์ (Erwin Duizer) นักไวรัสวิทยาจากสถาบันสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเนเธอร์แลนด์กล่าว

และอาจด้วยเหตุนี้ ในเดือนพฤศจิกายน หน่วยงานที่น่าเชื่อถือในประเทศจีนจึงแนะนำให้ ทำการฆ่าเชื้อโรคสินค้าแช่แข็งที่นำเข้า เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากพื้นผิวของของแช่แข็งเหล่านั้น

ความคลุมเครือที่ยังต้องการคำตอบ

ทว่า ทีม WHO ไม่คิดว่าการระบาดของโรคนี้เริ่มต้นจากการแพร่เชื้อบนอาหารหรือบรรจุภัณฑ์ ผู้ตรวจสอบยังคงมองว่า สัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสอาจเป็นแหล่งที่มาของการระบาดครั้งใหญ่ในระยะเริ่มแรกที่ตลาดอาหารทะเลหัวหนานมากกว่า 

นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่า ผู้คนอาจเข้ามาในตลาดที่มีเชื้ออยู่แล้ว และทำให้เกิดการแพร่ระบาดในตลาด หรือไม่ก็อาจจะมีสินค้าติดเชื้อที่เข้ามาในตลาดก็ได้ มันยังคงเป็นเรื่องยากมากที่จะแน่ใจและพิสูจน์ได้

ก่อนที่ตลาดหัวหนานจะปิดในเดือนมกราคม 2020 แผงขายของ 10 ใน 653 แห่งขายสัตว์ป่าสดหรือแช่แข็งที่จับได้ในป่าหรือนำมาจากฟาร์ม สัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งแร็กคูนและเฟอร์เร็ตที่เป็นที่ทราบกันดีว่า มีความไวต่อโคโรนาไวรัสด้วย เมื่อนักวิจัยตรวจสอบตลาดหลังการปิดตลาด เมื่อสุ่มตัวอย่างมาตรวจ ก็ไม่พบว่ามีเนื้อสัตว์ สัตว์ใด หรือซากแช่แข็งใดมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ อย่างไรก็ตาม ดเยอร์กล่าวว่า อาจเป็นไปได้ที่การสุ่มตัวอย่างนั้นไม่เพียงพอ

แอนดรูว์ เบรด (Andrew Breed) นักระบาดวิทยาสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในบริสเบนกล่าวว่า “หากซากสัตว์ที่แช่แข็งหรือละลายแล้วติดเชื้อไวรัส การจัดการกับเนื้อสัตว์นั้นอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ที่ถูกเลี้ยงมา เช่น วัว หรือหมูป่า ซึ่งมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไวรัสในปริมาณมากเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของพวกมันไม่ได้รับการปรับให้เข้ากับการป้องกันการติดเชื้อ 

อย่างไรก็ตามยังมีอีกสิ่งหนึ่งต้องคำนึง นั่นคือ สภาพของอาหารระหว่างการขนส่งไปยังตลาด เบรดเสริมว่า “การแช่แข็งและการละลายจะช่วยลดความเป็นไปได้ของไวรัสบางประเภทรวมทั้งไวรัสโคโรนาด้วย” 

พนักงานส่งอาหารหยิบอาหารแช่แข็งจากร้านค้าในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2020
Credit: Xinhua

ดูเซอร์และสมาชิกทีมคนอื่น ๆ ให้เหตุผลว่า มีความเป็นไปได้มากกว่าที่ SARS-CoV-2 จะส่งผ่านสัตว์ที่มีชีวิตไปสู่ผู้คน

คริส วอลเซอร์ (Chris Walzer) แพทย์สัตวแพทย์จากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าในนิวยอร์กกล่าวว่า สัตว์ป่าส่วนใหญ่ที่ซื้อขายในจีนยังมีชีวิตอยู่ ส่วนชวงหง วัง (Qiuhong Wang) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอก็กล่าวว่า “เมื่อคุณนำสิ่งมีชีวิตที่อยู่ห่างไกลตามธรรมชาติเหล่านั้นมาไว้ในที่เดียวกัน ก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่มันจะฟักตัวและสร้างไวรัสใหม่ขึ้นมา” 

ดเยอร์กล่าวว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องไปสำรวจหาว่า คนงานในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ามีแอนตี้บอดี้ที่เกิดจากการติดเชื้อโควิดหรือไม่ นั่นจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะตอบโจทย์ได้ว่าต้นกำเนิดโควิดแท้ที่จริงแล้วมาจากที่ใดกันแน่ 

ในเมื่อยังมีความเสี่ยง WHO เองก็ยังไม่มั่นใจนัก ทางที่ดีเราควรกินอาหารปรุงสุกและล้างมือก่อนกินอาหารทุกครั้งไว้จะดีกว่า จะไปซื้อของสด ของแช่แข็งหรืออะไรมา ก็อย่าลืมล้างมือก่อนนำมาจับหน้าตานะคะทุกคน

ขอบคุณภาพประกอบจาก Xinhuathai

อ้างอิง

Nature

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส