หลังจากที่เราได้พบข่าวดีมาสักพักว่า “บอร์ด กกท. ยืนยันว่า E-Sports เป็นกีฬาแล้ว”

บอร์ด กกท. ยืนยัน! บรรจุ E-Sport เป็นกีฬาแล้วอย่างเป็นทางการ

ล่าสุดพบข่าวจากสำนักข่าว “The Bangkok Insight” ได้รายงานว่า “E-Sports ไม่ใช่กีฬา เหตุกระทบสุขภาพเด็ก” โดยมีเนื้อหาใจความว่า

ดร. ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ได้กล่าวว่า

“น่าห่วงตรงที่ประเทศไทยรับกระแสอีสปอร์ตอย่างรวดเร็วเหมือนกับที่เราอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก เช่น การใช้สติกเกอร์ไลน์อันดับของโลก หรือการใช้เฟซบุ๊กเป็นอันดับต้นๆ ของโลก”

เพราะว่าการนำ E-sports มาเป็นกีฬานั้นเกิดจากทางภาคธุรกิจและมีการโฆษณาเกินจริง ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นกีฬาที่แท้จริง ซึ่งหลักของกีฬาคือต้องเล่นแล้วสุขภาพดีขึ้น และต้องไม่เป็นการเอาลิขสิทธิ์ (ลิขสิทธิ์เกม) จากบริษัทใดเข้ามาเกี่ยวข้อง และ กกท. ก็รับรองเร็วเกินไป ทั้งที่มีคนเสนอให้ศึกษาอย่างละเอียด

นอกจากนี้รางวัลยังคือการนำเงินรางวัลมา “ล่อเด็ก” และจะมีสักกี่คนที่ไปถึงขั้นนั้น อีกทั้งวัยที่เล่นกันมากที่สุดคือ 13-18 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีการพัฒนาสมอง ทำให้ขาดการพัฒนา พอเลยวัยไปแล้วใครจะรับผิดชอบ

เร่งให้มีมาตรการควบคุม

ต้องการให้ กกท. หยุดแล้วกลับมาทบทวนกันก่อน สร้างกติกาและหาทางรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งทาง กกท. ก็พร้อมที่จะทบทวนอยู่แล้ว การจะเป็นกีฬาได้ ต้องเข้ากับองค์ประกอบ 3 เรื่อง

  • ต้องมีกฎกติกาที่ชัดเจน
  • ต้องไม่ไปสู่ความรุนแรง
  • ต้องมีคณะกรรมการมาดูแลหากเกิดการละเมิดข้อตกลง เช่น ผิดกติกาให้ออก หรืองดการแข่งขัน เป็นต้น

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ กล่าวว่า ไทยขาดองค์ประกอบเป็นผู้นำอีสปอร์ต การแข่งขันอีสปอร์ตทั่วโลกมีแค่ 1 ในล้าน ที่เป็นมืออาชีพ ที่เหลือคือเสพติดมากกว่า แต่บ้านเราโปรโมทว่าเป็นกีฬาแห่งอนาคต การเสพติดพฤติกรรมที่ไม่อาจควบคุมได้เหมือนติดพนัน เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นที่ตั้ง เด็กติดเกมเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ดังนั้นกลุ่มคนเล่นเกมและอีสปอร์ต คือคนกลุ่มเดียวกัน อยากให้คนที่ผลักดัน E-Sports เข้าไปดูเด็กที่ได้รับการบำบัดเพราะติดเกมบ้าง

ความเห็นจากผู้เขียนหลังจากอ่านข่าว

ส่วนตัวเห็นด้วยในด้านการควบคุมและทำให้เป็นระบบแบบแผนมากกว่านี้ และมีการกำหนดเป็นมาตรฐานว่า เล่นยังไงไม่ให้เสียสุขภาพ (เหมือนที่บางทีมเขามีการบริหารจัดการสมาชิกด้านนี้ด้วย) แต่ว่าไม่ควรเหมารวมว่า การ E-Sports กับเด็กติดเกม คือสิ่งเดียวกัน เพราะว่า คนที่เข้าสู่ E-Sports นั้น จะแบ่งเวลาเป็นอยู่แล้ว ดังนั้นแนะนำให้ทางกกท. ทำแบบแผนและประชาสัมพันธ์แนวทางการแบ่งเวลาจะเป็นการแก้อย่างถูกประเด็นกว่า และต้องทำให้เด็กๆ และประชาชนรู้ว่า ระหว่าง E-Sports กับติดเกม ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ส่วนเรื่องประเด็นการนำสิ่งที่มีลิขสิทธิ์เข้ามา เพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อธุรกิจ ขัดกับกฎของการเป็นกีฬา อันนี้มองว่าเกมต่างจากกีฬาทั่วไปตรงที่ เกมที่ถูกพัฒนาขึ้นมามีลิขสิทธิ์ในตัวเองโดยอัตโนมัติ แต่ว่าจะเล่นได้ฟรีหรือต้องซื้อหรือเติมเงิน ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละเกมว่าบริษัทที่พัฒนาเขามีนโยบายแบบไหน แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ แนะนำให้ปรึกษาหารือร่วมกันทั่วโลกว่า ในเมื่อเกมเป็นแบบนี้ ขัดกับกฎของการเป็นกีฬา จะต้องทำอย่างไรต่อไป

อ้างอิง: https://www.thebangkokinsight.com/38638

ผ่านทางเพจ Neolution E-Sport

ภาพประกอบ Pixabay (1, 2, 3)