พนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานมากกว่า 30 คนของ TT Games ผู้พัฒนา LEGO Star Wars: The Skywalker Saga เปิดใจต่อเว็บไซต์ Polygon ว่า TT Games มีปัญหาวัฒนธรรมการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานล่วงเวลาที่มากเกินไป ตารางการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่น และเครื่องมือที่ล้าหลัง ข้อเรียกร้องของพนักงานยังไม่ได้รับการเหลียวแล ทำให้พนักงานเกิดความเครียดสูงและลาออกไป

อดีตพนักงานบางคนถึงกับบรรยายประสบการณ์การทำงานที่ TT Games ว่าเป็นประสบการณ์ PPTSD (เป็นการผสมชื่อค่าย TT Games เข้ากับ PTSD ซึ่งเป็นอาการป่วยทางจิตที่เกิดขึ้นหลังพบกับเหตุการณ์สะเทือนใจ)

ปัญหาวัฒนธรรมการทำงานภายใน TT Games เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2548 เกิดจากแนวทางของบริษัทที่ต้องการออกเกม LEGO เกมใหม่ทุกปีได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการครันช์ นำไปสู่สภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นพิษ

เมื่อเริ่มการพัฒนาเกม The Skywalker Saga ในปี 2560 ทางผู้บริหารเคยสัญญาไว้ว่าจะมีการผ่อนคลายระยะเวลาการบริหารและเอนจินการพัฒนาใหม่ แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด เอนจินพัฒนาเกมใหม่ที่ได้รัับการพัฒนาเป็นการภายในชื่อว่า NTT ไม่ได้ดีอย่างที่คิด ขณะที่กรอบการทำงานที่ยาวขึ้นก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องครันช์ (crunch) หรือการทำงานล่วงเวลาที่สุดโต่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบต่อระยะเวลาการพัฒนา The Skywalker Saga ที่ใช้เวลานานกว่า 5 ปี และเลื่อนวางจำหน่ายไปถึง 3 ครั้ง มีพนักงานไหลออกบ่อยครั้งและมีการเปลี่ยนทีมบริหารตั้งแต่เริ่มพัฒนา

พนักงานที่เคยทำงานกับจอน เบอร์ตัน (Jon Burton) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ TT Games ระบุว่าเขามักจะตะคอกใส่ทีมงานที่พยายามจะเลิกงานตรงเวลาให้กลับไปนั่งทำงาน บางครั้งถึงกับตั้งคำถามถึงความภักดีต่อบริษัท อีกทั้งยังมีการตั้งกฎแปลก ๆ ที่มีมานานอย่างการห้ามไม่ให้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือการห้ามไม่ให้พนักงานรับโทรศัพท์ที่โต๊ะ

อดีตพนักงานหลายคนให้ความเห็นว่าวัฒนธรรมการครันช์กลายเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในตารางการทำงานตั้งแต่เริ่ม ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลาฉุกเฉินที่มีเหตุผิดพลาด

ในการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานทั่วทั้ง Warner Bros. (ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TT Games) ในปี 2551 พบว่า TT Games อยู่ในอันดับรั้งท้าย ด้วยเหตุนี้ เบอร์ตันจึงสัญญาว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครัั้งใหม่ แต่นอกจากการยกเลิกกฎคร่ำครึแล้วก็ไม่มีการแก้ไขปัญหาเรื้อรังอย่าง ค่าแรงที่ต่ำ หรือวัฒนธรรมการครันช์แต่อย่างใด ทั้งนี้ อดีตพนักงานจำนวนหนึ่งระบุว่าสภาพการทำงานหลังจากเบอร์ตันย้ายตำแหน่งไปก็ไม่ได้ดีขึ้น ผู้จัดการสตูดิโอหลังจากนั้นก็ยังรักษาวัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาไว้

การทำงานล่วงเวลาที่ TT Games ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์มากนัก แม้กระทั่งเงินก็ไม่ได้เพิ่ม อีกทั้งเป็นการยากที่จะปฏิเสธ เนื่องจากมีการเตือนและข่มขู่จากบริษัทตลอดเวลา พนักงานจำนวนมากที่ต้องทำงานมากถึง 80 – 100 ชั่วโมงใน 6 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลให้กำลังใจของพนักงานย่ำแย่ ป่วยทั้งกายและจิตใจ

นอกจากนี้ TT Games ยังมีปัญหาในเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เป็นมิตรต่อพนักงานสตรี บางคนโดนรังแก โดนวิจารณ์เรื่องรูปลักษณ์ และไม่ได้รับการตอบแทนที่เหมาะสมทั้งในเรื่องตำแหน่งและค่าตอบแทน ซึ่ง TT Games นั้นรั้งอันดับท้าย ๆ ของบริษัทเกมในสหราชอาณาจักรในเรื่องค่าตอบแทนพนักงานสตรี รายงานในเดือนเมษายน 2563 ระบุว่าพนักงานสตรีของ TT Games ที่ได้รับเงินเดือนสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 2.4 ของพนักงานทั้งหมดเท่านั้น และมีพนักงานสตรีเพียงร้อยละ 8.7 ที่มีค่าตอบแทนอยู่ในระดับดี

วัฒนธรรมการทำงานที่ย่ำแย่นี้ส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนา The Skywalker Saga โดยเฉพาะการตัดสินใจใช้ NTT ซึ่งไม่เสถียร ความอยากจะทำให้เกมยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาจนต้องบังคับให้พนักงานทำงานล่วงเวลาเป็นเวลาหลายปี มีการแก้ไขดีไซน์เกมบ่อยครั้ง บางครั้งก็อยากจะแก้เอาดื้อ ๆ จนเสียเวลาการทำงานหลายเดือนไปโดยเปล่าประโยชน์ พนักงานยังต้องทำงานทีละหลายโปรเจกต์ บางคนต้องถูกหมุนเวียนออกไปทำงานให้กับโปรเจกต์อื่น ซึ่งเป็นการสร้างภาระเพิ่มเติมให้กับทีมงานที่ยังเหลืออยู่

ในระดับบริษัทยังมีปัญหาเรื่องการแต่งตั้งพรรคพวกของตัวเองเข้ามาบริหารภายในบริษัท สร้างความไม่พอใจให้กับพนักงานที่ทำงานมานาน อย่าง อาร์เธอ พาร์สันส์ (Arthur Parsons) ที่ตัดสินใจลาออกจากบริษัทไป โดยนับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2564 มีพนักงานลาออกไปจากบริษัทรวมแล้วมากกว่า 40 คน (จากพนักงานทั้งหมด 400 คน)

TT Games ได้ออกมาแถลงว่า “บริษัทมุ่งสร้างสถานที่ทำงานที่เน้นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ยุติธรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน ในหลายปีที่ผ่านมามีความพยายามในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจและพัฒนาสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว”

Polygon ระบุว่าในหลายเดือนที่ผ่านมา TT Games ได้มีความพยายามพัฒนาคุณภาพการทำงานบ้างแล้ว โดยจะยุติการใช้ NTT ในโปรเจกต์ต่อ ๆ ไป และจะกลับไปใช้ Unreal Engine เหมือนเดิม อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับปัญหาการทำงานล่วงเวลาด้วย

ที่มา Polygon

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส