ภาพรวมระยะยาวของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงแข็งแกร่ง โดยคาดว่าระหว่างปี 2563 – 2570 ไทยจะเติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 14 แซงหน้าตลาดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน อ้างอิงข้อมูลจากรายงานประจำปี SYNC Southeast Asia โดย Meta และ เบน แอนด์ คอมพานี เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลและอนาคตของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค

เพื่อทำความเข้าใจเทรนด์ในปัจุบันและทิศทางในอนาคต Meta และ เบน แอนด์ คอมพานี ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคดิจิทัลกว่า 16,000 คน และได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทต่าง ๆ กว่า 20 คนจากหกประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมไปถึง ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม

การวิจัยดังกล่าวต่อยอดมาจากรายงานฉบับก่อนหน้าของ Meta และ เบน แอนด์ คอมพานี ซึ่งได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2565 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีผู้บริโภคดิจิทัลกว่า 370 ล้านคนในขณะที่จะมีประชากรไทยกว่าร้อยละ 72 ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ภายในปีนี้ โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้บริโภคดิจิทัลในภูมิภาครวมกว่า 402 ล้านคนภายในปี 2570

การค้าดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยยังคงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคต้องการประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ผสมผสานระหว่างออนไลน์ ออฟไลน์ และประสบการณ์อื่น ๆ ได้อย่างลื่นไหลกว่าเคย โดยผู้บริโภคชาวไทยช้อปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์โดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 16.4 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเมื่อเทียบกับตัวเลขเฉลี่ยของภูมิภาคที่ร้อยละ 15.3

ยิ่งไปกว่านั้น ช่องทางอีคอมเมิร์ซทางเลือกอย่างการส่งข้อความเชิงธุรกิจและการช้อปผ่านวิดีโอไลฟ์ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในไทย หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 25 ของเม็ดเงินที่ใช้จ่ายทั้งหมดในประเทศ ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งระบุว่าโซเชียลมีเดียสร้างการค้นพบผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเป็นการค้นพบผ่านรูปภาพ (ร้อยละ 15) วิดีโอ (ร้อยละ 26) และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น การส่งข้อความ เป็นต้น (ร้อยละ 9)

การค้นพบผ่านการทดลองและการสร้างปฏิสัมพันธ์

งานวิจัยยังพบว่าผู้บริโภคมองหาการทดลองและปฏิสัมพันธ์ระหว่างการค้นพบที่จะต่อยอดไปเป็นการสั่งซื้อมากขึ้น โดยร้อยละ 63 ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าได้ส่งข้อความเชิงธุรกิจไปในปีที่ผ่านมา ในขณะที่โซเชียลมีเดียสร้างการค้นพบผ่านช่องทางออนไลน์ถึงเกือบครึ่งในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย โดยพบว่าคอนเทนต์วิดีโอในฐานะแพลตฟอร์มโซเชียลที่สร้างการค้นพบใหม่ ๆ มีการเติบโตต่อปีกว่าร้อยละ 50 ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563

งานวิจัยระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการเข้าถึงกระเป๋าเงินดิจิทัล (e-Wallet) สกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) และสินทรัพย์ดิจิทัล NFT (non-fungible tokens) มากกว่าตลาดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยร้อยละ 70 ของกลุ่มตัวอย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า ได้ใช้เทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเมตาเวิร์สอย่างน้อยหนึ่งอย่างไปในปีที่แล้ว ในขณะที่ร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยระบุว่าได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไปในปีที่ผ่านมา

คุณดิเรก เกศวการุณย์ พาร์ทเนอร์และผู้อำนวยการฝ่ายการดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีก เบน แอนด์ คอมพานี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “การพัฒนาใหม่ของผู้บริโภคยุคดิจิทัลนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ธุรกิจที่เสริมความแข็งแกร่งในภูมิภาค สร้างกลยุทธ์ช่องทางที่มีการบูรณาการอย่างแท้จริงและพัฒนาศักยภาพที่จำเป็น พัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้มีความเข้มแข็ง และใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภคดิจิทัล จะสามารถเอาชนะคู่แข่งอื่น ๆ ได้”

งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า ประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเมตาเวิร์ส เช่น augmented reality, virtual reality, virtual worlds, cryptocurrency และ NFT จะพัฒนาจากแอปสองมิติในปัจจุบัน สู่โลกเสมือนแบบสามมิติภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าการใช้งาน virtual reality สำหรับธุรกิจต่าง ๆ เช่น การอบรมและการพัฒนา ไปจนถึงการทำงาน การจัดงานอีเวนท์ต่าง ๆ ในโลกเสมือน จะสามารถเกิดขึ้นจริงได้ในภูมิภาคภายใน 10-15 ปีข้างหน้า

แพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย จาก Meta กล่าวว่า “การเปิดรับของผู้บริโภคต่อการทดลองและการสร้างปฏิสัมพันธ์ช่วยขับเคลื่อนพฤติกรรมใหม่ ๆ โดยร้อยละ 63 ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยใช้การส่งข้อความเชิงธุรกิจในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ในปัจจุบันผู้บริโภคตามหาการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เรายังได้พบเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยครีเอเตอร์ภายในภูมิภาค โดยมีครีเอเตอร์ที่เติบโตในฐานะแบรนด์และช่องทางค้าปลีกมากยิ่งขึ้น และการหาวิธีการทำการตลาดผ่านช่องทางเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อธุรกิจในปัจจุบัน”

“เห็นได้ชัดว่าแบรนด์จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคผ่านเนื้อหาในรูปแบบวิดีโอ ในขณะที่โซเชียลมีเดียยังคงเป็นช่องทางสำคัญที่ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้า ในขณะที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการสลับการใช้งานระหว่างช่องทางต่าง ๆ และแบรนด์ได้สร้างกลยุทธ์ช่องทางที่มีการบูรณาการ เนื้อหาในรูปแบบวิดีโอบนโซเชียลมีเดียจะทำหน้าที่เป็นเส้นด้ายที่เชื่อมต่อช่องทางที่หลากหลายตลอดเส้นทางการซื้อสินค้าเข้าไว้ด้วยกัน”

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการศึกษาฉบับเต็มเวอร์ชั่นออนไลน์ กรุณาเยี่ยมชม https://www.facebook.com/business/m/sync-southeast-asia