นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี เริ่มใช้มาตรการนี้เพื่อป้องกันการโกงและฟอกเงิน เนื่องจากไม่เคยมีกฎหมายออกมารองรับ ซึ่งในสัปดาห์หน้าน่าจะมีความชัดเจนเรื่องของอัตราการเก็บภาษี วิธีการ เนื่องจากมีการนำทรัพย์สินดิจิตอลมาใช้ในการประกอบธุรกิจและการกระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศแล้ว ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วมาก จึงต้องเร่งด่วนในการดำเนินการ ซึ่งต้องมีการออกกฎหมายภายในเดือนมีนาคมนี้

โดยเบื้องต้นจัดให้มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิตอล เช่นเดียวกันกับผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินอื่นๆ และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่นๆ

การกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิตอลในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรดังนี้

  1. ทรัพย์สินดิจิตอล หมายความว่า
    1. คริปโทเคอร์เรนซี “Cryptocurrency”
    2. โทเคนดิจิตอล
    3. ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด
  2. ส่วนเพิ่มประเภทย่อยของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากรอีก 2 ประเภทสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิตอลดังนี้
    1. มาตรา 40(4)(ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากทรัพย์สินดิจิตอล
    2. มาตรา 40(4)(ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิตอล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
  3. จะมีการเก็บภาษีการซื้อขายหรือธุรกรรมทางทรัพย์สินดิจิตอล 15% ณ ที่จ่าย หากนักลงทุนมีรายได้จากการลงทุนในทรัพย์สินดิจิตอล ก็จะต้องนำมาคำนวนหักภาษี 15% และต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

แต่ตอนนี้ยังไม่เปิดเผยว่าร่างกฎหมายที่ว่านี้จะถูกบังคับใช้เมื่อใด และยังมีสิ่งที่เป็นข้อสงสัยคือหากไม่ได้ซื้อ-ขาย ผ่านเว็บเทรด จะตรวจสอบและจัดเก็บภาษีได้อย่างไร และมีการยืนยันยืนยันจะไม่นำอำนาจ ม.44 มาใช้กับเรื่องนี้ ซึ่งก็ต้องติดตามดูต่อไป

อ้างอิง: ไทยรัฐ, ThaiPBS, ไทยโพสต์, ข่าวสด, Siamblockchain

ภาพประกอบ: Pixabay (1, 2, 3)