เรียกว่าสถานการณ์ของ dtac ตอนนี้ต้องลุ้นกันทุกวัน เมื่อคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ที่ dtac ถือครองนั้นกำลังจะหมดสัมปทานในวันที่ 15 กันยายนนี้ ซึ่ง dtac กำลังจะเผชิญปัญหาขาดคลื่นในย่านต่ำ และผู้ใช้บางส่วนก็จะใช้งานต่อไม่ได้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนซิม และล่าสุดกสทช. ได้มีมติออกมายืนยันว่าจะไม่คุ้มครองคลื่น 850 MHz ของดีแทค เนื่องจากไม่เข้าข่ายของกสทช.

Play video

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงสรุปผลการประชุมคณะกรรมการกสทช. ในวาระพิเศษประจำวันที่ 12 ก.ย. 2561 ว่าที่ประชุมมีมติ 4:2 ไม่ให้เข้าสู่มาตรการเยียวยา เพราะจำนวนลูกค้าที่คงเหลืออยู่ในระบบที่ดีแทคกล่าวอ้างว่ามีประมาณ 94,000 ราย ซึ่งแบ่งเป็นลูกค้าทั่วไป 60,000 เลขหมายและที่เหลือเป็นเลขหมายสำหรับใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นั้นไม่เข้าข่ายมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งกสทช. ร้องขอให้ดีแทคส่งข้อมูลว่าผู้ใช้ทั่วไปกว่า 60,000 เลขหมายนั้นยังมีการเคลื่อนไหวอยู่หรือไม่ ก็ไม่ได้รับคำตอบจากกสทช.

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

นอกจากนี้ที่ dtac อ้างว่าคลื่น 850 MHz มีการนำไปโรมมิ่งเพื่อให้ลูกค้าของบริษัท ดีแทคไตรเน็ต จำกัด ใช้อีกกว่า 1 ล้านเลขหมายใช้ด้วยเป็นคำขอที่ไม่มีน้ำหนัก เพราะมาตรการเยียวยาจะใช้เฉพาะลูกค้าดีแทคที่กำลังจะหมดสัญญาเท่านั้น

ประกาศไม่คุ้มครองคลื่น 850 MHz ครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับคลื่น 1800 MHz ที่ดีแทคเป็นผู้ชนะการประมูลด้วย ทำให้ดีแทคมีสิทธิ์ใช้งานช่องสัญญาณเดิมของคลื่น 1800 MHz ไปได้อีก 30 วัน ซึ่งกสทช. จะพิจารณาการใช้คลื่นอีกครั้ง

ส่วนฝั่ง dtac ก็มีแถลงการณ์สั้นๆ โดย นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ว่า “ดีแทคได้รับทราบตามที่วันนี้บอร์ด กสทช. มีมติไม่คุ้มครองลูกค้าดีแทคบนคลื่น 850 MHz หลังสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2561 ทั้งนี้ ดีแทคได้ยื่นศาลปกครองกลางเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวลูกค้าที่ใช้งานมือถือได้อย่างต่อเนื่องบนคลื่นความถี่ 850MHz หลังสิ้นสุดสัมปทาน เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา และขณะนี้ เรายังอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาของศาล”