คณะคสช. ประกาศใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เปิดช่องให้สามารถคืนใบอนุญาตประกอบการได้ ไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลที่เหลือ พร้อมทั้งยืดระยะเวลาในการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ตซ์ ให้กับค่ายมือถือ จากเดิม 4 ปี เป็น 10 ปี

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ฉบับที่ 4/2562 ว่าด้วยเรื่องของมาตรการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม โดยในคำสั่งดังกล่าวได้ระบุเป็นสองส่วน ดังนี้

กรณีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม

การช่วยเหลือครั้งนี้ อ้างอิงไปถึงการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ตซ์ ช่วงย่านความถี่ 895 -915 และ 940 – 960 และในย่าน 890 – 895 และ 935 – 940 โดยผู้ที่ได้ใบอนุญาตในคลื่นความถี่ชุดดังกล่าวนั้น ทางสำนักงานกสทช. จะทำการพิจารณาการแบ่งงวดชำระค่าใบอนุญาต โดยที่ชำระออกเป็นสิบงวด งวดละเท่าๆ กัน (จากเดิมที่ต้องชำระเป็นสี่งวด งวดละเท่าๆ กัน) โดยให้นับปีที่ได้รับใบอนุญาตเป็นปีแรกของการชำระค่างวด และถ้าสำนักงานกสทช. สามารถพิจารณาการชำระได้แล้ว ให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาต สามารถชำระเงินค่าประมูลตามงวดดังกล่าวตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยที่งวดชำระของปี 2563 นี้ ให้นับรวมกับเงินชดเชยของงวดที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ยังมีคำสั่งให้สำนักงานกสทช. พิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้ประกอบการดิจิทัลทีวีที่ได้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 695 – 790 เมกกะเฮิร์ตซ์ ให้ทำการย้ายย่านความถี่ไปใช้ในย่าน 890 – 915 และ 935 – 960 เมกกะเฮิร์ตซ์แทน โดยคลื่นในย่านเจ็ดร้อยนั้น ทางกสทช. สามารถนำคลื่นที่ได้คืนจากการขอคืนใบอนุญาตประกอบการทีวีดิจิทัลได้ และให้กสทช. พิจารณาในเรื่องของการทดแทน ชนใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ประกอบการที่ถูกเรียกคืน

ซึ่งจากคำสั่งในการจัดสรรคลื่นดังกล่าวนี้ ทีมงานแบไต๋ขอคาดการณ์ไว้ว่า เป็นการเรียกคืนคลื่นเพื่อเตรียมความพร้อมในการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อพัฒนาเป็นโครงข่ายระบบ 5G ในประเทศไทยต่อไป รวมถึงยืดระยะเวลาให้แต่ละค่าย ได้ทำการวางโครงข่ายให้รองรับการใช้งาน และยังมีเงินทุนที่มากพอในการเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้

กรณีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

ผู้ที่ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลที่ประสงค์ขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการ สามารถทำเรื่องขอคืนได้ที่สำนักงานกสทช. โดยการขอคืนนี้ จะต้องส่งคำร้องไปยังสำนักงานกสทช. ภายในกรอบระยะเวลา 30 วัน หลังจากประกาศฉบับนี้ได้เผยแพร่และมีผลบังคับใช้ ซึ่งหมายความว่า วันสุดท้ายที่เปิดให้ทำเรื่องขอคืนนั้น จะอยู่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ สำหรับค่างวดในงวดที่ห้าและงวดที่หก ซึ่งถือเป็นสองงวดสุดท้ายที่ผู้ประกอบการต้องนำส่งให้กับทางกสทช. นั้น คำสั่งฉบับนี้ได้ระบุว่า ผู้ประกอบการไม่ต้องนำส่งค่างวดในสองงวดที่เหลืออยู่นี้ ผู้ประกอบการรายใดที่ยังนำส่งในงวดที่สี่แล้วยังไม่ครบ ก็ขอให้ชำระให้ครบถ้วน ภายในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ส่วนค่างวดในสองงวดสุดท้ายที่ผู้ประกอบการบางรายได้ชำระล่วงหน้าไปแล้วนั้น สามารถทำเรื่องเพื่อรับเงินค่าชำระในจำนวนดังกล่าวได้

ในส่วนของค่าโครงข่าย หรือ MUX นั้น ทางกสทช. จะเป็นผู้นำส่งแทนผู้ประกอบกิจการ ดิจิทัลทีวี โดยชำระให้กับทางททบ. 5, สทท. เอ็นบีที,ไทยพีบีเอส และช่อง 9 อสมท. ในฐานะผู้ให้อนุญาตในการเช่าโครงข่าย จนกว่าจะสิ้นสุดใบอนุญาต

หากสังเกตดีๆ การประกาศคำสั่งดังกล่าวนี้นั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองในครั้งนี้ อาจจะไม่ได้อยู่ที่การชำระค่างวดของค่ายมือถือ หรือการประมูลที่ทางสำนักงานกสทช. ได้วางโรดแมปไว้ว่าจะต้องประมูลให้ได้ภายในปีนี้ (ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายก็ตาม) แต่เป็นการคืนใบอนุญาตของทีวีดิจิทัลหลายต่อหลายสถานี ซึ่งจะส่งผลถึงผลบประกอบการของบริษัท และอาจจะกระทบถึงกลุ่มคนดูที่เป็นแฟนคลับ หรือชื่นชอบและติดตามรายการต่างๆ ในสถานี หลังจากนี้อีก 30 วัน ตามประกาศที่ออกมานี้ จะมีทีวีดิจิทัลสถานีใดบ้างที่จะตบเท้าเข้ามาทำเรื่องขอคืนใบอนุญาตในครั้งนี้ ก็ต้องรอติดตามกันต่อไป

ที่มา: Spring News, Thairath, ราชกิจจานุเบกษา