SCG ร่วมกับ AIS และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หลังทดสอบการใช้งานจริง การควบคุมรถยกผ่านทางไกล เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานที่มีความเสี่ยง สะท้อนศักยภาพผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมพาประเทศไทยสู่ยุค 5G ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0

นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการ โครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี กล่าวถึงความร่วมมือในงานครั้งนี้ว่า เอสซีจี ต้องการเปลี่ยนการดำเนินงานในด้านต่างๆ ในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้องค์กรเติมโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจัดตั้งคณะทำงานด้าน Merchanization, Automation and Robotics (MARS) และ Industry 4.0 ขึ้น ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นส่วนในการยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ด้วยการนำเทคโนโลยีด้าน MARS และ Industry 4.0 มาผสมผสานกัน โดยใช้เงินลงทุนกว่า 860 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562

สำหรับโครงการ “การพัฒนารถ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกลด้วยเครือข่าย 5G” ดังกล่าว เริ่มดำเนินการที่โรงงานของเอสซีจี ในจังหวัดสระบุรี เป็นแห่งแรก เพราะมีการเคลื่อนย้ายทั้งวัตถุดิบและสินค้าโดยใช้รถ Forklift เพื่ออำนวยความสะดวกจำนวนมาก อีกทั้งรถ Foklift ยังเป็น Material Mobility ที่ควบคุมง่ายที่สุด ก่อนจะต่อยอดไปทดลองกับเครื่องมืออื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งการนำเครือข่าย 5G ที่มีความรวดเร็วในการตอบสนองแบบเรียลไทม์ และมีความแม่นยำในการส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นสำหรับระบบอัตโนมัติขั้นสูงมาใช้นั้น จะช่วยตอบโจทย์ของเอสซีจี ทั้งการมีผลผลิตมากขึ้นเพราะพนักงานสามารถควบคุมรถจากที่ใดก็ได้ อีกทั้งยังสามารถฝึกอบรมการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับพนักงานที่อยู่ในพื้นที่อื่น ๆ

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฎิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า 5G คือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาพลิกโฉมสังคมไทย และยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไปอีกขั้น พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่า่งมีประสิทธิภาพ ตลอดจนอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารของผู้ใช้บริการโดยทั่วไป จากคุณสมบัติ 3 ส่วน คือ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น, ขีดความสามารถการเชื่อมต่อ IoT และเครือข่ายที่ตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียร เอไอเอส ในฐานะผู้นำอันดับ 1 ด้านนวัตกรรมเครือข่ายและเทคโนโลยี มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตอยู่เสมอ เพื่อเป็นการร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการ โครงการ อินโนเวชั่น ฮับส์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล เราทำงานวิจัยและพัฒนาอย่างใกล้ชิด ทั้งภาคเอกชนและอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันศึกษา ทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยี 5G ในมิติต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความพร้อมมากที่สุด

เพื่อส่งมอบต่อให้กับภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ได้จริง ส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม สำหรับงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก Innovation Hub กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อนำแพลตฟอร์มระบบสมองกลฝังตัวขั้นสูงสำหรับยานยนต์ ผสมกับระบบควบคุม Latency ต่ำ ผ่านทางไกลบนเครือข่าย AIS 5G นำไปใช้จริงในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมได้ในอนาคต

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส