สรุปวิสัยทัศน์ของธนาคารกสิกรไทยปี 2020

  • พลิกโฉมยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนองค์กร ตั้งเป้าหมายเพิ่มอำนาจแก่ลูกค้าใช้ชีวิตและทำธุรกิจให้ดีที่สุด พร้อมรับมือยุคดิสรัปชั่น ด้วยบุคคลากรที่มีความสามารถควบคู่กับรูปแบบการทำงานที่คล่องตัวสูง
  • ตอกย้ำจุดแข็งบริการธนาคารที่มั่นคง ไว้ใจได้ ด้วยวัฒนธรรมการจัดการความเสี่ยงเชิงรุก ดำรงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ระบบความปลอดภัย และป้องกันการทุจริตได้มาตรฐานสากล เตรียมใช้ AI เสริมประสิทธิภาพตรวจจับภัยไซเบอร์ พร้อมจัดการความเสี่ยงงานด้านเครดิตในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
  • ไปอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าต้องการ ด้วยการผนึกพลังพันธมิตรเชิงลึก ให้ลูกค้าใช้บริการอย่างไม่มีสะดุดบนแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่าง K PLUS กับแพลตฟอร์มของพันธมิตร ทั้งแลกคะแนนสะสมบัตรเครดิต ซื้อสินค้าบน K PLUS เพิ่มบัตรสมาชิกแบรนด์ดัง ปล่อยสินเชื่อ ดันสินเชื่อบุคคลเพิ่ม 1.78 แสนล้านบาท
  • ดูแลลูกค้าในโลกไร้พรมแดน CCLMVI ด้วย Digital Technology พร้อมแสวงหาพันธมิตรเพื่อเชื่อมต่อธุรกิจและตอบโจทย์ชีวิตชนชั้นกลางยุคใหม่ในภูมิภาคเอเชีย เผยอยู่ระหว่างเตรียมการยื่นขออนุญาตเพื่อการจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี KAITAI TECH ที่เซินเจิ้น สร้างนวัตกรรมบริการข้ามประเทศที่แข็งแกร่ง
  • KBTG มุ่งสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและบุคลากร เพื่อให้บริการลูกค้าในทุกมิติของไลฟ์สไตล์ ตั้ง “KASIKORN X” สร้างรายได้ใหม่ให้แบงก์และสร้างฟินเทค ยูนิคอร์น บริษัทแรกของไทย พร้อมเป้าหมายเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของอาเซียน ในปี 2565 เตรียมงบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และด้านบุคลากรใน 3 ปีนี้ กว่า 17,000 ล้านบาท

ภาพรวมธนาคารกสิกรไทย “เพิ่มอำนาจให้ลูกค้า”

ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย

ธนาคารกำลังถูก disrupt แน่นอน

ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย

ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย

แต่ธนาคารกสิกรไทยก็ตั้งใจว่าจะผ่านมันไปได้ ซึ่งจะใช้กลยุทธ Empower ให้ผู้ใช้และธุรกิจของลูกค้า ลูกค้าจะได้อำนาจ ได้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ได้โซลูชันการเงินจากกสิกรไทยและพาร์ตเนอร์ โดยมั่นใจว่ากสิกรไทยตั้งมากว่า 75 ปีแล้ว ที่ผ่านมาเราก็เปลี่ยนแปลงไปตลอด เช่น

  • 1992 ธนาคารปรับขั้นตอนการทำงานใหม่ให้เร็วขึ้น
  • 1997 วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งกสิกรไทยรอดมาได้ และปรับปรุงกระบวนการภายในให้ไม่เกิดเรื่องแบบนี้อีก
  • 2005 ปรับองค์กรให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
  • 2007 เริ่มทำ data analytic ทำให้สร้างแคมเปญที่โดนใจลูกค้าเป็นคน ๆ และเริ่มทำ Core Banking

ลูกค้าจะเป็นผู้ชนะและก้าวนำการเปลี่ยนแปลงไปกับเรา

โดยธนาคารจะขับเคลื่อนธุรกิจบน 8 เส้นทางสู่การยกระดับองค์กร (8 Transformation Journeys)

  1. Ecosystem Orchestrator & Harmonized Channel ร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศทางธุรกิจ ผสานช่องทางบริการอย่างไร้รอยต่อเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน
  2. Intelligent Lending ปล่อยสินเชื่อรายบุคคลจากฐานข้อมูลอัจฉริยะ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สอดคล้องกับความเสี่ยง
  3. Proactive Risk & Compliance Management การจัดการความเสี่ยงในเชิงรุก ป้องกันความเสียหาย และติดตามต่อเนื่อง
  4. New Growth in Regional Market แสวงหาโอกาสและการเติบโตในตลาดระดับภูมิภาค
  5. Data Analytics ศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูล จะเป็นหัวใจในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการ
  6. Cyber Security & IT Resilience ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความสามารถในการจัดการทางไอทีที่รวดเร็ว
  7. Performing Talent and Agile Organization ส่งเสริมให้บุคลากรมีทักษะความสามารถและร่วมกันขับเคลื่อน ด้วยการทำงานแบบ agile ที่มีความคล่องตัวสูง
  8. Modern World Class Technology Capability เพิ่มศักยภาพองค์กรด้วยเทคโนโลยียุคใหม่มาตรฐานระดับโลก

ความหายนะกับโอกาส

ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ความปลอดภัย ความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือเป็น 3 สิ่งที่ธนาคารต้องมี ซึ่งสำหรับธนาคารกสิกรไทยแล้ว มีการบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุก (Proactive Risk Management) โดยธนาคารมีมุมมองในการจัดกลุ่มความเสี่ยง และแนวทางการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน แบ่งเป็น 3 แกนหลัก ดังนี้

ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

  • บริการธนาคาร กสิกรไทยจะได้จัดการให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด มีเงินสำรองไว้อย่างเพียงพอ ซึ่งมีเยอะกว่าที่ทางการต้องการ 171% ส่วนเรื่องสภาพคล่องก็มีมากกว่า 188%, ตอนนี้โอนเงินผ่าน PromptPay 7.4 ล้านครั้งต่อวัน (ในวันที่สูงที่สุด) และมีการโกงเงินผ่าน Visa น้อยที่สุดใน S/E Asia
  • การให้บริการดิจิตอล รักษาความปลอดภัยของข้อมูลดิจิตอลตามมาตรฐานสากล ISO 27001 และมาตรฐานอื่น ๆ ซึ่งพนักงานก็ทำได้ดีด้วยการอบรมต่าง ๆ คู่ค้าเองก็มีการเชื่อมต่ออย่างปลอดภัย ได้มาตรฐาน
  • ESG Integration การใช้ทรัพยากรอย่างพอเหมาะ ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม มีการตั้ง Chief Environment Officer เช่นดูการปล่อยสินเชื่อว่าให้ไปแล้วกระทบสิ่งแวดล้อมไหม ถ้าโครงการไหนไม่ผ่าน ESG Assessment แม้ดูแล้วมีเครดิตดี ก็ไม่ให้ผ่าน รวมถึงจะไม่ให้สินเชื่อกับอะไรที่ไม่ถูกต้อง เช่นการพนัน

ความเสี่ยงไม่เคยหลับ

ผนึกพันธมิตรสร้างบริการไปอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าอยู่

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย

ปริมาณธุรกรรมผ่าน K PLUS เพิ่มขึ้นกว่า 200% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่จำนวนการทำธุรกรรมผ่านช่องทางสาขายังมีปริมาณมากเช่นกัน โดยมีปริมาณเกินกว่า 100 ล้านรายการ แม้ว่าผู้ใช้ไปธนาคารน้อยลงจริง แต่ยังไงถ้าเรายังใช้เงินสดอยู่ สาขาก็ต้องมี ซึ่งเราก็ยังมีกลุ่มที่ใช้ทั้งสาขาและแอปก็เพิ่มขึ้น 50% ส่วนจำนวนธุรกรรมปี 2019 ก็สูงขึ้นเป็น 8,500 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปี 2017 ที่ 2,900 ล้านบาทมากๆ

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย

สิ่งที่ธนาคารต้องคิดตอนนี้คือทำยังไงที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในชีวิตของผู้ใช้ที่ใช้มือถือ 5 ชั่วโมงต่อวัน กสิกรไทยจึงร่วมกับพาร์ทเนอร์มากมายเพื่อเชื่อมต่อระบบนิเวศน์ต่างๆ ซึ่งก็มีหฃายอย่างที่กสิกรไทยทำ

  1. ‘Powered by KBank’ เชื่อมต่อทุกอย่างให้ใช้งานได้อัตโนมัติจบในแอปพลิเคชันเดียว ไม่ต้องออกจากแอปฯ เพื่อจ่ายเงินหรือเติมเงิน เพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการชำระเงินของลูกค้า เช่น การพัฒนาอี-วอลเลต Blue CONNECT, GrabPay, YouTrip, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ธนาคารสามารถให้บริการกับกลุ่มลูกค้าพันธมิตรรวมกว่า 1.3 ล้านราย
  2. เชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้าของพันธมิตรต่าง ๆ กับลูกค้าของธนาคารเข้าด้วยกัน โดยมี K PLUS เป็นช่องทางหลัก ด้วย 2 ฟีเจอร์
    1. เพิ่มบัตรสมาชิก (Add Card) โดยลูกค้าสามารถเพิ่มบัตรสมาชิกของแบรนด์ต่าง ๆ ได้บน K PLUS ทั้งสิ้น 13 แบรนด์ เช่น AIS Points, AirAsia BIG Loyalty, PTT Blue Card, The1 ทำให้ลูกค้าไม่ต้องพกบัตร สามารถเช็คคะแนนสะสม รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ
    2. ชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยคะแนนสะสมบัตรเครดิตใน K+ Market เป็นช่องทางในการแลกคะแนนบัตรเครดิตกสิกรไทยที่มีฐานลูกค้าถือบัตรกว่า 2.97 ล้านบัตร ในปีที่ผ่านมา มีลูกค้าใช้คะแนนบัตรเครดิตกสิกรไทยเพื่อแลกซื้อสินค้าหรือบริการรวมกว่า 1,400 ล้านคะแนน
  3. บริการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกันบน K PLUS  และในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ร่วมกับบริษัท LINE Financial จัดตั้งบริษัท กสิกรไลน์ จำกัด โดยเตรียมเปิดให้บริการสินเชื่ออย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้แบรนด์ LINE BK ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 นี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดเล็กทั้งลูกค้าทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว สะดวกสบาย ในปี 2562 ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน (Unsecured Lending) ได้รวมกว่า 36,000 ล้านบาท

ปี 2563 ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อบุคคล (Consumer Lending) เพิ่ม 178,000 ล้านบาท เติบโต 30% จากปี 2562

ธุรกิจข้ามพรมแดน

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย

โลกนี้มีปัญหาเกิดขึ้นตลอด เช่นโรคระบาด สงคราม (เอาแค่มกราคม 2020 ก็เกิดเรื่องเต็มไปหมดแล้ว) แต่ยังมีโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมออย่าง 5G, คนชั้นกลางใหม่ที่มาพร้อมอำนาจการซื้อใหม่ ๆ เราต้องเตรียมองค์กรให้พร้อมกับสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทยใช้กลยุทธ์ Asset-Light Regional Digital Expansion ในการขยายตลาดในภูมิภาคเพื่อสร้างช่องทางการเข้าถึงตลาดลูกค้าต่างประเทศและนำเสนอบริการรองรับการทำธุรกรรมและธุรกิจข้ามประเทศของลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านความสามารถของธนาคารโดย

  1. เสาะหาพันธมิตร (Partnering) ประกอบด้วยเครือข่ายบริการของธนาคารกสิกรไทยในรูปแบบสำนักงานผู้แทน สาขา และธนาคารท้องถิ่น รวม 14 แห่งในภูมิภาค และการสร้างพันธมิตรธนาคารในภูมิภาค 72 ธนาคาร คาดว่าในปี 2563 จะมีความคืบหน้าของการจัดตั้งสาขาหรือการหาลู่ทางการทำธุรกิจธนาคารในประเทศเมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศจีนมีแผนขยายธุรกิจใหม่
  2. การแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Scouting and matching) ผ่านบริษัท K-Vision ที่เฟ้นหาสตาร์ตอัปทั่วโลก ด้วยการเข้าเป็นพันธมิตร การเข้าไปลงทุน และการซื้อเทคโนโลยี โดย K-Vision มีดิจิทัลแลบ 5 แห่ง ที่ กรุงเทพฯ จาการ์ต้า โฮจิมินห์ซิตี้ เซินเจิ้น และเทลอาวีฟ อยู่ในกระบวนการคัดเลือกเทคพาร์ทเนอร์อย่างเข้มข้น โดยคาดว่าบริษัทที่มีศักยภาพในการเป็นพันธมิตรจะมีจำนวนมากถึงกว่า 1,000 บริษัท เพื่อใช้ Digital Technology เข้ามาตอบโจทย์ในการธุรกรรมทางการเงินและเชื่อมโยงสู่ลูกค้าของธนาคาร

นอกเหนือจากการสร้างเครือข่ายและการหาพันธมิตร รวมทั้งแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านบริษัท K-Vision แล้ว ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเตรียมยื่นขออนุญาตในการจัดตั้ง บริษัท ไคไต้ เทคโนโลยี จำกัด (KAITAI Technology Company Limited) หรือไคไต้ เทค ที่เมืองเซินเจิ้น ส่วนหนึ่งของ Greater Bay Area ที่รัฐบาลจีนวางเป้าหมายเป็น The Silicon Valley of China ที่อุดมด้วยบริษัททางเทคโนโลยี จึงเป็นแหล่งบ่มเพาะเทคโนโลยีชั้นดี และเป็นศูนย์รวมบุคลากรที่มีความสามารถทางด้านดิจิทัล ภารกิจหลักของ ไคไต้ เทค คือ การพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการให้บริการของธนาคารกสิกรไทย ประเทศจีน การให้บริการดิจิทัลในภูมิภาค และสามารถนำนวัตกรรมที่ได้กลับมาใช้ประโยชน์กับธนาคารกสิกรไทยและลูกค้าไทยด้วยเช่นกัน โดยเอเชียถือเป็น Tech Powerhouse ซึ่ง unicorn เกิดในเอเชีย 33% และในปี 2018 บริษัทไทยมีรายได้จากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอันดับ 4 ของโลก

นอกจากนี้ธนาคารยังช่วยธุรกิจ SME ให้สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศผ่านช่องทาง E-Commerce เช่นอินโดนีเซียที่มีประชากรเกือบ 260 ล้านคน โดยร่วมมือกับบลีบลีดอทคอม (www.Blibli.com) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของประเทศอินโดนีเซีย จากการเปิดตัวในช่วงเดือนธันวาคมปี 2562 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยลงทะเบียนกับบลีบลีดอทคอม แล้วกว่า 200 ราย มีสินค้าไทยที่ขายบนแพลตฟอร์มมากกว่า 1,500 รายการ พร้อมจัดโปรโมชันและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในประเทศอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้น

โครงสร้างเทคโนโลยียุคใหม่ที่แข็งแกร่ง พร้อมหนุนเชื่อมต่อกับพันธมิตร

เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ (KBTG)

KBTG เดินหน้าขับเคลื่อนแกนกลางเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย (KBank’s New Digital Core, Powered by KBTG) ในแกนสำคัญ 3 ด้าน ดังนี้

เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ (KBTG)

เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ (KBTG)

  1. วางรากฐานสถาปัตยกรรมและโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยียุคใหม่ (Modern Architecture and Infrastructure) ประกอบด้วย
    1. ระบบคลาวด์ที่ผสมผสานการทำงานระหว่าง Private Cloud และ Public Cloud ได้อย่างรวดเร็ว (Hyper and Hybrid Multi Cloud)
    2. การวางรากฐานสถาปัตยกรรมใหม่โดยยึดระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยขั้นสูงสุด (Security and Data Privacy Uncompromised)
    3. การทำโครงสร้างด้วยโค้ดเพื่อการปรับเปลี่ยนอย่างคล่องตัว (Infrastructure-as-Code)
      การวางรากฐานและโครงสร้างใหม่นี้จะรองรับได้ถึง 3 เท่าของธุรกรรมสูงสุด รับมือกับการขยายตัวของการให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคาร 20 ล้านคน ซึ่งในปี 2563 คาดว่าจะมีปริมาณธุรกรรมผ่านระบบจำนวนรวม 12,000 ล้านรายการ โดยเป็นธุรกรรมทางการเงินมากกว่า 3,000 ล้านรายการ
  2. เครื่องจักรขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยี AI (Enable KBank to become AI and Innovation Factory) KBTG สร้างขีดความสามารถใหม่เทียบเคียงบริษัทฟินเทคยักษ์ใหญ่ระดับโลกโดยผสานแพลตฟอร์มของข้อมูลและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน (Data and AI Pipeline) และกระบวนการจัดการนวัตกรรม (Innovation) เพื่อเร่งสปีดการผลิตสิ่งใหม่ ๆ ให้ธนาคารกสิกรไทย
  3. เปิด API เชื่อมต่อเข้ากับระบบบริการของธนาคาร (Open Banking API) ปัจจุบันมีการเปิดรับการเชื่อมต่อสำหรับบริการหลากหลาย อาทิ การเชื่อมต่อเข้าสู่บริการชำระเงิน Pay with K PLUS (Pay with K PLUS API) เชื่อมต่อเข้าสู่บริการชำระเงินด้วยคิวอาร์ โค้ด (QR API), เชื่อมต่อเพื่อยืนยันตัวตน (Authentication API), เชื่อมต่อบริการอี-วอลเล็ต (E-Wallet API) เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีพันธมิตรเชื่อมต่อ API กับระบบธนาคารกว่า 50 บริษัท

นอกจากนี้ KBTG มีวิสัยทัศน์ที่จะเสริมความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีให้ล้ำไปอีกขั้นด้วยแนวทางการทำงาน ดังนี้

  1. สร้างศักยภาพให้เป็นมากกว่าธนาคาร (Beyond Banking) คือการเป็นธนาคารอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและตอบโจทย์ของลูกค้า (Data-Driven Cognitive Bank) โดยมีเทคโนโลยีที่พร้อมรองรับการพัฒนาแบบเต็มรูปแบบ
  2. จากเทคโนโลยี AI สู่เทคโนโลยีขั้นสูง (Beyond AI Deep Tech Capability) ด้วยการสนับสนุนงานวิจัย และเปิดการเชื่อมต่อกับพันธมิตร (Open Tech Capabilities) เพื่อนำเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนไปผลิตนวัตกรรมและบริการที่เป็นประโยชน์ เช่น การร่วมมือกับ NECTEC และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการวิจัยเรื่อง Thai NLP เป็นต้น
  3. มุ่งสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีระดับภูมิภาค (Beyond Thailand – Towards Regional Tech Organization) ตามที่ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเตรียมยื่นขออนุญาตในการจัดตั้ง ไคไต้ เทค ที่เมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของสตาร์ตอัปจีนที่มีศักยภาพทางด้านนวัตกรรมที่ล้ำหน้าจำนวนมาก แหล่งรวมบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีกว่า 300 บริษัท และโอกาสในการเข้าสู่อีโคซิสเต็มซึ่งเป็นหัวใจหลักทางเทคโนโลยีของประเทศจีน
  4. ยกระดับการเติบโตแบบใหม่ ด้วยการตั้ง KASIKORN X หรือเรียกอีกชื่อว่า KX เพื่อทำหน้าที่เป็น New S-Curve Factory พันธกิจของ KX คือการสร้าง ฟินเทค ยูนิคอร์น บริษัทแรกของประเทศไทยด้วยโมเดลธุรกิจแบบสุดโต่ง ด้วยเป้าหมายในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้กับกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย บริษัทจะดำเนินธุรกิจอย่างเป็นอิสระจากธนาคารกสิกรไทย และ KBTG โดยมีวัฒนธรรมองค์กร รูปแบบการทำงาน สภาพแวดล้อม และผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ผลตอบแทนแบบก้าวกระโดดที่เชื่อมโยงกับประสิทธิภาพการทำงาน เหมือนกับบริษัทสตาร์ทอัพ

ทุกวินาทีต้องจัดการข้อมูล 50 TB จึงต้องสร้าง Hybrid cloud ที่ขยายออกไปได้ทันที

ประเด็นการปิดสาขาธนาคารกสิกรไทย

Kbank Vision 2020

เรื่องนี้ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทยชี้แจงว่า ปีนี้น่าจะปิดประมาณ 80 สาขา แต่ก็มีเปิดในที่ใหม่ด้วย ซึ่งหักลบกันแล้ว น่าจะปิดราว 40-50 สาขา ซึ่งสาเหตุที่ปิดสาขาก็เบสิกเลยคือ เปิดผิดที่ ทั้งเปิดแล้วลูกค้าไม่เยอะ หรือย่านนั้นพฤติกรรมคนเปลี่ยน คนไม่ค่อยเข้าธนาคารตรงนั้นก็ปิดไป แต่ผู้บริหารก็ยืนยันว่าจะไม่ได้เอาคนออกตามจำนวนทั้งหมดของสาขาที่ปิด เพราะสามารถหมุนเวียนตำแหน่งได้

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส