ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลจัดงาน Thailand Zocial Awards 2020 ครั้งที่ 8 อย่างยิ่งใหญ่ภายใต้คอนเซ็ปต์ SHIFT: Make it SHIFT เพื่อพานักการตลาดยกระดับการทำงานกับโซเชียลมีเดีย โดยแบ่งงานออกเป็น 2 วัน คือ Forum Day (27 กุมภาพันธ์ 2563) งานสัมมนาที่รวบรวมแพลตฟอร์มชั้นนำมาขึ้นเวทีมากที่สุดถึง 15 แพลตฟอร์ม และ Awards Day (28 กุมภาพันธ์ 2563) งานประกาศรางวัลสำหรับคนโซเชียลเพื่อเชิดชูแบรนด์ อินฟลูเอนเซอร์ และบุคคลในวงการบันเทิงที่ทำผลงานได้ดีเยี่ยม

ซึ่งในช่วง Forum Day ก็ได้มีข้อมูลที่น่าสนใจจากคุณกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการบรรยายพิเศษในหัวข้อ The SHIFT of Consumer Insight ที่มาเผยถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิมดังนี้

  • จำนวนข้อความบนโลกโซเชียลตลอด ปี 2019 ที่สูงถึง 7.2 พันล้านข้อความ สูงขึ้นจากปีก่อน 36% ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานในโซเชียลมีเดียไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ 74% เท่ากับปีที่แล้ว
  • ในส่วนของแบรนด์ที่ไวซ์ไซท์เก็บข้อมูลจาก 1,399 แบรนด์ พบว่า 84% ของแบรนด์ใช้โซเชียลมีเดียตั้งแต่ 2 แพลตฟอร์มขึ้นไปในการสื่อสารกับผู้บริโภคเพื่อให้สามารถสื่อสารได้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
  • ในแต่ละแพลตฟอร์มจะมีค่ากลางเพื่อใช้วัดผลการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียว่า มีประสิทธิภาพหรือทำได้ดีพอหรือไม่ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น ในแพลตฟอร์ม YouTube มีค่ากลาง คือ ถ้าได้รับค่าวิว 630,480 วิว จะถือว่าคลิปนั้นมีประสิทธิภาพ และถ้าเจาะลึกลงในกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้านมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมรวมถึงโยเกิร์ต ไอศกรีม ต้องมีค่าวิวถึง 9,074,842 วิว ถึงจะเรียกว่ามีประสิทธิภาพ เป็นต้น
  • ในด้านของอินฟลูเอนเซอร์ก็มีการเปลี่ยนแปลงการนำเสนอเนื้อหา โดยจะเห็นว่าหลายๆ คนมีเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่หมวดหมู่ที่ถูกกำหนดไว้ โดยมากกว่า 97% ของอินฟลูเอนเซอร์มีการนำเสนอเนื้อหาข้ามหมวดหมู่ตั้งแต่ 2 หมวดขึ้นไป เช่น อินฟลูเอนเซอร์หมวดความสวยงามเริ่มหันมานำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือออกกำลังกายมากขึ้น และยังคงได้รับความนิยมสูงจากผู้ติดตาม รวมถึงกระจายเนื้อหาไปได้ในวงกว้างมากขึ้น
  • สิ่งที่แบรนด์ควรจะต้องให้ความสำคัญคือ การฟังเสียงของลูกค้าเพื่อรู้ให้ทันโลก และสามารถปรับตัวได้ทันกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น รวมถึงต้องมองภาพรวมให้รอบด้าน เพื่อประเมินสถานการณ์และคู่แข่ง สุดท้ายคือควรเลือกใช้เครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประหยัดเวลาในการทำงาน และวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที
  • และสิ่งที่น่ากลัวของการเปลี่ยนแปลงคือด้านมืดของสังคมโซเชียลที่เราทุกคนต้องระวังและใส่ใจป้องกันไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้เกิดขึ้น
    • กว่า 120K ข้อความที่พูดถึงการพนันในปี 2019
    • กว่า 775K ข้อความที่เป็น Cyberbully
    • กว่า 1.3 ล้านข้อความที่พูดถึงเรื่องการขายตัว ค้าประเวณี

และนอกจากนี้ยังมีการจัด Panel Discussion จากเจ้าของ Social Media ทั้ง 4 ช่องทางหลักในประเทศไทยทั้ง Facebook, Google, Twitter และ Pantip อีกด้วย โดยแต่ละช่องทางก็ได้ออกมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

Facebook

Facebook เผยข้อมูลน่าสนใจด้านการเติบโตของ Facebook ทั้งระดับโลกและในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการใช้ผ่านมือถือที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จึงทำให้เกิด Content มากมายที่สร้างขึ้นมาให้เหมาะสมกับมือถือ มีการทำคลิปแนวตั้ง ทำ Story และมี Campaign ที่มีความน่าสนใจมากมายที่ประยุกต์ขึ้นมาอย่างน่าสนใจ

พฤติกรรมของคนใน Facebook นั้นคือมีการใช้เพิ่มมากขึ้น เข้าใจ Tools ต่าง ๆ มากขึ้น สามารถใช้ระบบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีงานวิจัยว่า กว่า 40% ของคนไทยสามารถปิดการขายผ่าน Facebook Messenger ได้เลย โดยมี Feature สำหรับ Influencer Marketing มากขึ้นคือ Branded Content เพราะ 80% ลูกค้าทำการซื้อขายเมื่อผ่านการเห็นแบรนด์ทำงานร่วมกับ Influencer แต่มีเพียง 18% ที่มองเห็นในจุดนี้ ซึ่งปัจจุบันแบรนด์สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ใน Influencer ได้ว่า แต่ละกลุ่มคือใคร ซึ่งสามารถดูข้อมูลแบบเจาะลึก พร้อมนำข้อมูลไป Optimize ได้อีกด้วย และนอกจากนี้ยังมีระบบช่วยเพิ่มรายได้กับฝั่ง Influencer ได้เช่น การให้ Star หรือดาวที่กำลังได้รับความนิยมโดยเฉพาะกับกลุ่มแคสเตอร์ด้านเกมอีกด้วย โดยปัจจุบัน Facebook ได้มี 3 Feature หลักที่ช่วยผลักดันแบรนด์ดังนี้

Stories

เป็นรูปแบบการสร้างคอนเทนต์ที่สามารถสร้างการเข้าถึงกับเพื่อน ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้มากขึ้นถึง 1 พันล้าน Stories ต่อวันทั่วโลก

จุดเด่นคือ

  • เต็มจอ Fullscreen เพราะปัจจุบันคนดูมากกว่า 82.5% ดูวิดีโอแบบแนวตั้ง ทำให้เข้าถึงได้ง่าย
  • Ephemeral sharing ที่แสดงผลเพียง 24 ชั่วโมง ทำให้คนต้องการแชร์เพราะเป็นสิ่งที่จะเห็นแบบจำกัดเวลา
  • การ Engage ที่ดีขึ้น โดย 89% ของคนไทยรู้สึกว่า เราได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ มากขึ้นใน Stories
  • ทำให้คนค้นพบแบรนด์เพิ่มขึ้น และทำให้สร้างโอกาสการขายได้กว่า 60%
  • สามารถเข้าไปเรียนรู้และใช้งานได้ง่าย

Messaging

เพราะยุคนี้ถือว่าเป็นยุคของ Conversation ผ่านการพิมพ์แชตโดยกว่า 87% ทั่วโลกใช้ Message ในการติดต่อสื่อสาร และกว่า 40% ของคนไทยสามารถปิดการขายได้ผ่าน Messaging ได้เลย และมากกว่า 70% ของคนไทยใช้การติดต่อผ่าน Messenger แทนการโทรคุยกัน จึงมองได้ว่า Messenger สามารถเป็นตัวช่วยในการเชื่อมต่อกับเป้าหมายได้เป็นอย่างดี สร้างปฎิสัมพันกับผู้บริโภค และยังสร้าง engagement กับแฟนเพจได้อีกด้วย

Video

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีผู้เข้าชมสูงสุด โดยทั่วโลกมีตัวเลขคนเข้าชม 720 ล้านคนต่อเดือนและ 120 ล้านคนต่อวัน เพราะ Facebook Watch สามารถสร้างการเข้าถึงให้กับแบรนด์และผู้บริโภคได้ติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น โดย Facebook Watch นี้ถือว่าเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้เพื่อนเข้ามาร่วมสร้างคอนเทนต์ และร่วมรับชมคลิปไปด้วยกัน สร้างความสนุกสนานและความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างมาก รวมทั้งแบรนด์ก็สามารถสร้างคอนเทนต์เพื่อช่วยในด้านยอดขายผ่านช่องทางนี้ หรือแม้แต่การโฆษณาระหว่างการรับชมได้อีกด้วย

Google

Google เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีช่องทางโซเชียลมีเดียที่พิเศษกว่าคนอื่นอย่าง YouTube ที่เน้นไปในด้านการสร้างคอนเทนต์ ซึ่งมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นภาย

YouTube

นอกจากการใช้ YouTube เป็นช่องทางในการรับชมความบันเทิงด้านวิดีโอแล้ว ยังถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลหลักที่ใหญ่มาก ๆ ที่ถูกใช้ในการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ อีกด้วย อย่างล่าสุดเมื่อปี 2019 มีคนเข้าไปดูคอนเทนต์ Finance เติบโตขึ้นกว่า 4.5 เท่า และมีคนใช้ Smart TV ในการรับชมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความชัดของคลิประดับ 4K ที่กำลังได้รับความนิยม ทำให้รูปแบบของ Digital Living Room เกิดขึ้นมานั่นเอง ซึ่งในปี 2019 นี้มีคอนเทนต์พิเศษอย่างเพลงลูกทุ่ง ก็เป็น 1 ในสิ่งที่ได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

โดยแต่ละ Platform ก็มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องของการค้นหาผ่าน Search Engine ที่แตกต่างกันเช่น YouTube จะค้นหาสิ่งที่เฉพาะทางกว่า Google และกว่า 15% ของ Google Search เป็นคำค้นหาที่ละเอียดและมีคำเฉพาะมากกว่าเดิม

ซึ่ง YouTube ก็ได้มีการสนับสนุนผู้ผลิตคอนเทนต์ใหม่ ๆ หรือกลุ่ม Creator ในหลากหลายรูปแบบ และมั่นใจว่าในปี 2020 นี้จะมีสิ่งใหม่ ๆ มากมายที่เกิดจากกลุ่มผู้สร้างเหล่านี้มาให้รับชมกันอย่างแน่นอน

LINE

อีกช่องทางที่คนไทยใช้งานเป็นอันดับต้น ๆ ของ Social Media ซึ่งการแชตจะช่วยให้ปิดการขายได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ LINE Ads ที่ได้เปลี่ยนเป็น LINE OA ที่มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 110% ปัจจุบันมีอยู่ 3 ล้านรายแล้ว และ LINE ก็มีระบบ LineADS Platform หรือ LAP เป็นระบบการซื้อโฆษณาบน LINE ได้โดยตรง และมีระบบ LAP – Gain Friend เป็นระบบช่วยหาเพื่อนให้กับ LINE OA ซึ่งทำให้แบรนด์สามารถขยายฐานลูกค้าได้เร็วขึ้นอย่างมาก โดย LINE ได้ทำ Survey ด้านการทำธุรกิจผ่าน LINE นั้นบอกได้ว่า ปัจจุบันมีคน Trust ในการใช้ LINE สูงกว่า 68% ในการพูดคุยผ่านระบบ LINE และข้อมูลสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์คือ เราสามารถปิดการขายผ่านแชตได้สูงถึง 35 – 45% ถ้าทำได้อย่างตรงจุด

โดยวิธีการเข้าถึงลูกค้าให้ได้อย่างเหมาะสมนั้นคือ การไม่เน้นการยิง Message เฉย ๆ แต่จะต้องเป็นรูปแบบที่น่าสนใจเช่น Rich Message หรือทำ Rich Menu สำหรับการแนะนำสินค้า และจะต้องมีการพูดคุยกับลูกค้าด้วยคน เพื่อช่วยในการปิดการขายได้อย่างแน่นอนมากยิ่งขึ้น

MyShop

โดย LINE ก็มีบริการหน้าร้านที่เปิดตัวมาล่าสุดในชื่อ LINEMyShop ที่สามารถทำให้เราสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้าได้ง่าย สามารถส่ง link ที่เป็นหน้าต่างร้านค้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินและทำการ Track order กลับได้ทันทีอีกด้วย

Twitter

ในปัจจุบันผู้ใช้ Twitter ได้มีการ Tweet ข้อความไปแล้วกว่า 1.4 พันล้านครั้งในประเทศไทย ซึ่ง Twitter เป็นช่องทางการกระจายข้อมูลข่าวสารแบบ Realtime ได้ดีที่สุด เช่นเรื่องราวของ COVID-19 ก็ถูกแชร์ผ่านช่องทางนี้ไปมากกว่า 2 ล้านทวีต ซึ่งทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีการตื่นตัวมากขนาดไหน

และ Twitter นี้ก็ได้เปลี่ยนยุคจากอารมณ์ของการเป็นเพียง ติ่งเกาหลี กลายเป็นมองเห็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และมีกิจกรรมด้านสังคมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย โดยเฉพาะกลุ่ม #เป๊กผลิตโชค ที่มีผู้ทวีตไปแล้วกว่า 133 ล้านครั้งเมื่อปี 2019 ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีการดำเนินการด้าน CSR ได้อย่างน่าสนใจมากเช่นกัน

โดย Twitter ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตของผู้ใช้วัยทำงานมากขึ้น มีกลุ่มผู้ใช้งานทำบางอย่างเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น เช่นแบรนด์ Apple ที่ทำการตลาดเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่ดีขึ้น หรือแบรนด์ ที่เข้ามาผลักดันกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัยให้ไปในด้านที่ดีขึ้น ซึ่งการใช้ Promoted Trend Spotlight ถือเป็นช่องทางที่เข้ามาช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างการเข้าถึงกับผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี

Pantip

เทรนด์ของ Pantip หลัก ๆ คือเรื่องของฝุ่น PM 2.5 ที่มีคนเข้ามาร่วมอ่านและแสดงความคิดเห็นมากกว่าล้านคน และเรื่องตกงานแล้วทำยังไงดี สิ่งเหล่านี้สะท้อนปัญหาว่า ปัจจุบันมีคนตกงานเยอะขึ้น และมองหาว่าตัวเองต้องแก้ไขปัญหายังไง และในด้านแบรนด์ก็ได้รับความสนใจอย่างมากสำหรับ Advertorial Content ผ่าน Pantip ก็ได้ผลเช่นกันโดยในปี 2020 จะมีระบบ Comment ADS ซึ่งจะเป็นคอมเม้นแรกในการตอบเพื่อช่วยสร้างการขายได้มากขึ้น โดยจะขึ้นเป็นคอมเม้นต์แรก และจะมีทั้งภาพ และวิดีโอแสดงผลในนั้นได้

และล่าสุดคือ Pantip มีความห่วงใยกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจโรงแรม-ที่พัก ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โดยการมอบพื้นที่โฆษณา (Banner) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 120 โรงแรม ที่หน้าห้องบลูแพลนเน็ต โดยอยากให้มอบส่วนลดพิเศษให้กับคนไทยที่เดินทางไปเที่ยวในช่วงนี้อีกด้วย

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส