หลังจากเจ้าสัวธนินท์ ประกาศผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรีใน 5 สัปดาห์ สิ่งที่กลุ่มซีพีดำเนินการเป็นสิ่งแรกคือ ด้านการควบคุมคุณภาพสถานที่ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ก่อนการออกแบบก่อสร้างด้วยซ้ำ นั่นคือเรื่องของห้องปลอดเชื้อ Clean Room เพื่อรองรับเครื่องจักร และกระบวนการผลิตโดยเครื่องจักรทั้งหมดที่จะนำเข้ามาจะเป็นแบบ ออโตเมติก ดังนั้น โรงงานที่ทำขึ้น ต้องมีลักษณะเป็นห้องปลอดเชื้อ ซึ่งภารกิจแรกในวันแรกคือการออกแบบห้องคลีนรูม หรือ ห้องปลอดเชื้อ ซึ่งเป็นห้องที่มีการปิดมิดชิด มีการควบคุมมลสารในอากาศให้น้อยที่สุด เพื่อให้มีความสะอาดเป็นไปตามระดับมาตรฐานความสะอาด และมีการควบคุมสภาวะแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และความแตกต่างของความดันตามที่ต้องการ

Play video

ซึ่งทางฝ่ายวิศวกรรมคาดว่าจะใช้เวลาในการออกแบบเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งจะต้องออกแบบอุปกรณ์ทุกชิ้นที่คำนึงถึงการไหลเวียนอากาศด้วยโดยอากาศจะถูกส่งลงจากเพดานผ่าน filter ในแนวดิ่ง แล้วกลับสู่เครื่องเป่าลมเย็น หลังจากออกแบบเสร็จแล้ว ในสัปดาห์หน้า ก็จะเข้าเคลียร์พื้นที่ และสั่งอุปกรณ์ เพื่อนำมาก่อสร้างห้องคลีนรูมต่อไป

ก่อนอื่นมารู้จักกับห้อง Clean Room สิ่งนี้เองที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่จะทำกันง่าย ๆ แค่จะเริ่มก็ต้องมีการออกแบบ โดยฝ่ายวิศวกรรม เครือซีพีกล่าวว่า ไม่ใช่แค่เรื่องฝุ่นอย่างเดียว เราต้องเริ่มด้วยการออกแบบห้องคลีนรูม เพราะยังมีเรื่องเรื่องไฟฟ้าสถิต ความดัน ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิห้องอีกด้วย โดยสร้างเสร็จเป็นห้องแล้วจะมีการดูดฝุ่นออก ต้องใส่ชุดคลุมหมีในการทำด้วย นอกจากนี้สีที่ใช้ต้องเป็นสีที่มีการหลุดร่อนน้อย และวัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดที่จะนำเข้ามาต้องมีการทำความสะอาด และที่สำคัญมี gate ทางเข้ากรองอากาศ มีการใช้ air blow ก่อนเข้า ทำให้เข้าใจเลยว่า การจะทำโรงงานมาตรฐานสักแห่งต้องเริ่มจากการออกแบบที่ถูกต้อง ก่อนการเริ่มลงมือสร้าง ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้า จะเริ่มมีการสั่งอุปกรณ์ห้องสะอาด หรือ คลีนรูม ซึ่งจะได้ติดตามนำเสนอกันต่อไป

ทั้งนี้ คลีนรูมมี 2 ประเภท ตามหลักการใช้งานในอุตสาหกรรม

1. คลีนรูม ที่ต้องระมัดระวังเรื่องฝุ่น Industrial Clean Room (ICR)

คือ ห้องคลีนรูม สำหรับอุตสาหกรรมจะเป็นห้องคลีนรูมแบบความดันบวก (Positive Pressure) หมายถึงสภาวะที่ความดันภายในห้องมากกว่าความดันภายนอกห้อง หรือมากกว่าความดัน บรรยากาศ (atmospheric pressure) ทำให้มีอากาศไหลออกจากห้อง โดยความดันบวกเป็นสภาวะที่ใช้ในห้องสะอาด (clean room) หรือห้องที่ควบคุมความสะอาด เช่น ห้องบรรจุ ห้องเตรียมวัตถุดิบ บริเวณ high risk area เพื่อป้องกันมิให้อนุภาค เช่น ฝุ่นละออง แบคทีเรีย ยีสต์ รา รวมทั้งสปอร์ของแบคทีเรีย (bacterial spore) และสปอร์ของราเข้ามาได้

ในกรณีที่ต้องการรักษาความดันภายในห้อง เมื่อมีการเปิดประตู หรือ ช่องเปิดต่างๆ จะต้องติดตั้งระบบควบคุมอากาศเพิ่มเติม เพื่อให้มีการเพิ่มอากาศมาทดแทนอากาศที่ไหลออกไปจากการเปิดประตูดังกล่าว

การทำให้ห้องมีความดันบวกโดย

  • มีทางเข้าออกที่ปิดมิดชิด โดยใช้พัดลมเป็นตัวสร้างความดันอากาศให้กับห้อง
  • ความดันห้องมากกว่าความบรรยากาศ
  • มีพัดลมเป่า (air shower) ที่ประตูทางเข้าเพื่อดันลมออกไป
  • มีระบบกรองอากาศ
  • ใช้มาตรการป้องกัน เช่น ไม่ให้เปิดประตูพร้อมกับหลายบาน เป็นต้น

2. คลีนรูม ที่ต้องระมัดระวังเรื่องเชื้อโรค

เช่น ห้องคลีนรูม ในโรงพยาบาล โรงงานผลิตยา โรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ หรือ เครื่องสำอาง เราเรียกห้องคลีนรูมแบบนี้ว่า Biological Clean Room (BCR) ส่วนห้องทดลองทางชีวภาพ ห้องปฏิบัติการทางด้านชีววิทยา เราเรียกห้องคลีนรูมแบบนี้ว่า Biohazard Clean Room และห้องทั้ง 2 แบบนี้จะเป็นห้องคลีนรูมแบบความดันลบ ซึ่งเป็นการทำให้ห้องที่ต้องการควบคุมมีความดันน้อยกว่าความดันบรรยากาศ  ใช้กับห้องที่ต้องการควบคุมการแพร่กระจาย กลิ่น เชื้อโรค (pathogen) หรือการปนเปื้อน (contamination)

ทั้งนี้กลุ่มซีพีได้ให้ข้อมูลว่า ได้เริ่มออกแบบแล้ว โดยใช้ทีมวิศวกรรม ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบคลีนรูม และจะออกแบบเสร็จในอีก 1-2 วัน และจะเข้าสู่กระบวนการถอดแบบเพื่อสั่งอุปกรณ์ในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ต้องมาคอยติดตามว่า ภารกิจ 5 สัปดาห์ ในการสร้างโรงงานหน้ากากอนามัยฟรี ของกลุ่มซีพี จะมีความคืบหน้าอย่างไร

Play video

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส