สำนักข่าว South China Morning Post ได้รายงานว่า ชาร์ลส์ เกา (Charles Kau) ผู้เชี่ยวชาญด้านชิปหน่วยความจำชาวไต้หวัน ได้กล่าวว่า ประเทศที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรเซมิคอนดักเตอร์พัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือที่เรียกว่า Chip 4 Alliance ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำนั้น อาจสูญเสียตลาดในประเทศจีนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน

Chip 4 Alliance เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่อุปทานชิปเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกให้มีความทันสมัยสูงสุด เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการชิปในตลาดทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบด้วยสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ชาร์ลส์ เกา ในวัย 69 ปีนั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชิปหน่วยความจำ โดยเขาเคยทำงานให้ทั้ง Intel และ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co (TSMC) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก ร่วมถึงร่วมสร้างบริษัท Nanya Technology ในประเทศไต้หวัน ในปี 1995 ซึ่งได้กลายเป็นผู้ผลิตชิป DRAM รายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน

Chip

เกาได้กล่าวกับสำนักข่าว South China Morning Post ว่า “กลุ่มพันธมิตร Chip 4 Alliance นี้ ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อกีดกันมิให้ประเทศจีนเข้าถึงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยในอุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ และได้เน้นย้ำว่าประเทศเกาหลีใต้และไต้หวันจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากบริษัท Samsung Electronics และ SK Hynix เกาหลีใต้นั้น ได้ผลิตชิปหน่วยความจำให้แก่โรงงานต่าง ๆ ของประเทศจีนอยู่ในขณะนี้ โดยอาจส่งผลทำให้โรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัทดังกล่าวในประเทศจีนไม่สามารถอัปเกรดเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัยได้ จนทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดชิปเซมิคอนดักเตอร์ของจีนได้”

สำหรับไต้หวันนั้น เกาได้กล่าวว่า “ไต้หวันจะได้รับผลกระทบทางธุรกิจค่อนข้างมาก เนื่องจากธุรกิจของไต้หวันนั้นมีลูกค้าจำนวนมากตลอดพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน (ช่องแคบระหว่างมณฑลฝูเจี้ยนของประเทศจีนกับเกาะไต้หวัน เชื่อมทะเลจีนตะวันออกกับทะเลจีนใต้) และอาจถูกบังคับให้ต้องลดการดำเนินธุรกิจหากยังคงอยู่ร่วมเป็นพันธมิตรเดียวกับสหรัฐฯ”

Chip

เกาได้กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจว่า “การเจรจา Chip 4 Alliance นั้น จะดำเนินไปในระยะยาว ซึ่งผลลัพธ์นั้นอาจไม่ทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ ในขณะเดียวกัน ไต้หวันต้องคิดทบทวนให้ถี่ถ้วนว่าจะสามารถร่วมงานกับสหรัฐฯ โดยที่ต้องเป็นศัตรูกับจีนได้หรือไม่”

ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ทางฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งนำโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ได้ลงนามในกฏหมายชิปและวิทยาศาสตร์ (Chips and Science Act) และรัฐบาลสหรัฐฯ จะดำเนินการจัดสรรงบประมาณเกือบ 53,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.89 ล้านล้านบาท เพื่อขยายการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ รวมถึงจำกัดการขยายการผลิตชิปของจีนให้ไม่เกินกว่าการใช้เทคโนโลยี 28 นาโนเมตร (หมายถึงสามารถผลิตได้เฉพาะชิปรุ่นเก่าเท่านั้น) เป็นระยะเวลา 10 ปี

ความพยายามของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มยุ่งยากในอุตสาหกรรมการผลิตชิปของจีนมากขึ้น เพื่อบีบให้จีนยังคงต้องตามหลังชาติตะวันตกอยู่ในด้านการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากจีนสามารถผลักดันการผลิตชิประดับกลางและระดับล่างจนกลายเป็นซัพปลายเออร์รายใหญ่ได้แล้วนั้น ก็อาจกลายเป็นการสร้างแรงกดดันครั้งใหญ่ให้บริษัทจัดหาอุปกรณ์ของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส