ผู้นำกลุ่มประเทศ (G7) เรียกร้องให้มีการจัดทำและประกาศใช้มาตรฐานทางเทคนิคเพื่อควบคุมความน่าเชื่อถือของปัญญาประดิษฐ์ โดยชี้ว่าการกติกาที่มีอยู่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน

เหล่าผู้นำจากแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เดินทางไปร่วมประชุมกันที่เมืองฮิโระชิมะ ประเทศญี่ปุ่น

ในแถลงการณ์ร่วมของ G7 ชี้ว่ากฎเกณฑ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลต้องสอดคล้องกับคุณค่าประชาธิปไตยที่ทุกประเทศมีร่วมกัน และชี้ว่าต้องมีการทำความเข้าใจโอกาสและความท้าทายของปัญญาประดิษฐ์เชิงสังเคราะห์ (เช่น ChatGPT)

โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันให้มีการจัดการประชุมในระดับรัฐมนตรีในชื่อ Hiroshima AI Process เพื่อหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์เชิงสังเคราะห์ เช่น ประเด็นลิขสิทธิ์ และการเผยแพร่ข่าวปลอม ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ ผู้นำ G7 ยังเรียกร้องให้องค์การระหว่างประเทศอย่าง องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ร่วมวิเคราะห์ผลกระทบของการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องด้วย

เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรปชี้ว่าต้องการให้ปัญญาประดิษฐ์มีความแม่นยำ ชื่อถือได้ ปลอดภัย และไม่เลือกปฏิบัติ

ด้านญี่ปุ่น ในฐานะประธาน G7 ประจำปีนี้ พร้อมสนับสนุนการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ แต่ก็ต้องคอยเฝ้าดูความเสี่ยงที่จะตามมาด้วย

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายควบคุมปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบแล้ว จะถือเป็นกฎหมายปัญญาประดิษฐ์แรกของโลก และเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่น ๆ ต่อไป

ที่มา Reuters, Susan Walsh

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส