คนทั่วไป หรือแฟนกีฬาบางคนอาจจะตั้งตารอคอยการมาของการแข่งกีฬาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Olympic Game แต่รู้หรือไม่ว่าการถ่ายทอดสดการแข่งขันมีเบื้องหลังที่ซับซ้อน มีการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยในหลาย ๆ ครั้ง และล่าสุดก็มีการจับมือพาร์ทเนอร์ระยะยาวกับ Alibaba Cloud ซึ่งในวันนี้เราจะมาเจาะลึกเบื้องหลังด้วยกัน
ประวัติศาสตร์ Olympic Game
ก่อนที่เราจะมารู้เบื้องลึกเบื้องหลังการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก เรามาย้อนรอยจุดเริ่มต้นการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกเสียก่อนว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ ?
จากข้อมูลที่มีการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์การแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกของโลกถูกจัดขึ้นเมื่อ 776 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งชื่อของการแข่งเป็นที่รู้จักในชื่อว่า ‘การแข่งขันโอลิมปิกโบราณ’ ถูกจัดขึ้นในสมัยกรีกโบราณที่จะมีการแข่งขันทุก ๆ 4 ปี และถูกจัดขึ้นเพื่อเทศกาลทางศาสนาที่นับถือเทพเจ้าซุสของกรีก ซึ่งประเภทของการแข่งขันกีฬามีหลากหลายประเภทเช่น วิ่ง, กระโดด, มวยปล้ำ, ชกมวย และการแข่งม้า
หลังจากมีการแข่งขันโอลิมปิกโบราณก็ได้รับการฟื้นฟูเป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ขึ้นในปี ค.ศ. 1896 และการแข่งขันครั้งแรกถูกจัดขึ้นที่ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ โดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ International Olympic Committee (IOC) ที่จะมีผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลก และกีฬาที่หลากหลายมากกว่าเดิม
การถ่ายทอดสดการแข่งขันสู่สายตาชาวโลก
ทุก ๆ คนอาจจะตั้งตารอคอยการแข่งขันโอลิมปิกที่จัดขึ้นทุก ๆ 4 ปีแต่รู้หรือไม่ว่าการถ่ายทอดสดโอลิมปิกสู่สายชาวโลกเกิดขึ้นเมื่อปี 1948 หรือเมื่อ 75 ปีที่แล้วที่ Wembley London Olympic มีการถ่ายทอดสดโดย BBC และมีการเผยแพร่ภาพสู่สายตาชาวโลกมากกว่า 61 ประเทศ
และในปี 2001 IOC ได้แต่งตั้ง Olympic Broadcasting Services (OBS) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการถ่ายทำการแข่งขันกีฬา ซึ่งการมาของ OBS ทำให้การถ่ายทำ และการถ่ายทอดสดภาพการแข่งขันกีฬาสู่สายตาชาวโลกได้ง่ายยิ่งขึ้น
การมาของการแข่งขันกีฬาในรูปแบบ ‘เสมือนจริง’
ในโลกยุคปัจจุบันเราอาจจะเห็นการมาของการใช้ชุดแว่นตา Virtual Reality (VR) เพื่อรับชมความบันเทิง หรืออยู่ในโลกเสมือนจริงที่ตัดขาดจากโลกเดิม ๆ ออกไป ซึ่งการแข่งขันกีฬาก็มาสู่โลกเสมือนจริงเช่นกัน ที่ผู้เล่น และผู้ชมสามารถสัมผัสประสบการณ์แข่งขันกีฬาในรูปแบบใหม่ที่สามารถรู้สึกได้ว่ากำลังอยู่ในสนาม หรือคอร์ตการแข่งขันจริง ๆ โดยที่เราไม่ต้องเดินทางไปในที่สถานที่นั้น ๆ ก็ได้
ข้อดีของการแข่งขันในรูปแบบเสมือนจริง นักกีฬาสามารถฝึกซ้อมในสภาพแวดล้อมที่มีความสมจริง และลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บได้มากยิ่งขึ้น
และการแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกก็มีการบรรจุการแข่งขันกีฬาเสมือนจริงในชื่อ ‘Olympic Esports Series’ (OES) ที่ถูกจัดขึ้นโดย IOC และสหพันธ์นานาชาติ หรือ International Federations (IFs) และผู้เผยแพร่เกมทั่วโลก ซึ่งการแข่งขันกีฬาเสมือนจริงมีผู้แข่งขันมืออาชีพ และมือสมัครเล่นทั่วโลกที่ถูกรับเชิญให้เข้าไปคัดเลือกในประเภทเกมต่าง ๆ โดยจบการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ Olympic Esports Week Singapore 2023 วันที่ 22-25 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา
ประเภทการแข่งขันกีฬาเสมือนจริงในรอบชิงชนะเลิศมีการแข่งขันกีฬาหลากหลายประเภทเช่น ยิงธนู, เบสบอล, หมากรุก, เต้น, แข่งรถ และ แข่งเรือใบ
การมาของยุค Digital Alibaba Cloud เข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไร
ด้วยความสำเร็จของการถ่ายทอดสดด้วยระบบ OBS และยุคสมัยใหม่ของโลกที่มีการทำงานบนระบบคลาวด์ที่สามารถปรับเปลี่ยน และรองรับการทำงานที่เพิ่มขึ้นได้ตามความต้องการของผู้ชมกีฬา ในปี 2017 ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ระหว่าง OBS และ Alibaba Cloud ที่จับมือมาเป็นพาร์ตเนอร์ระยะยาว
- มกราคม 2017 มีการเซ็นข้อตกลงร่วมพาร์ตเนอร์โอลิมปิกทั่วโลกระหว่าง Alibaba Cloud และ IOC เพื่อเสริมสร้าง และพลิกโฉมวงการแข่งขันกีฬาสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
- กันยายน 2018 ทาง Alibaba Cloud เปิดตัวระบบ Olympic Boardcasting Service Cloud (OBS Cloud) เปลี่ยนแปลงระบบถ่ายทอดสดไปทำงานบนระบบคลาวด์เพื่อรองรับเนื้อหาการแข่งขันกีฬาคุณภาพสูง และเวิร์กโฟลว์ส่งมอบการออกอากาศการแข่งขันโอลิมปิก
- กรกฎาคม 2020 Alibaba Cloud ประกาศเข้าร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ Le Club Paris 2024 ซึ่งเป็นเกตเวย์ดิจิทัลสำหรับผู้ชมที่สนใจการแข่งขันกีฬา และสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ แบบไม่มีสะดุด
- มิถุนายน 2021 เข้าร่วมสนับสนุนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ในรูปแบบการออกอากาศบนระบบคลาวด์เป็นครั้งแรก
- กุมภาพันธ์ 2022 สนับสนุนการแข่งขันโอลิมปิก Beijing 2022 ย้ายระบบจัดการแข่งขันทั้งหมดเป็นระบบคลาวด์ที่สามารถช่วยลดเวลา และค่าใช้จ่ายในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งไอที และฮาร์ดแวร์ พร้อมกับเพิ่มประสบการณ์ทำงานของผู้ใช้ได้อย่างราบรื่น
เทคโนโลยีใหม่ ๆ จาก Alibaba Cloud
นอกเหนือจากเทคโนโลยีจัดการถ่ายทอดสดในรูปแบบดิจิทัล และอยู่บนระบบคลาวด์ทั้งหมด ทาง Alibaba Cloud ยังนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาจัดแสดงภายในงาน Olympic Esports Week Singapore 2023 ที่น่าสนใจมากมายเช่น
- VR Table Tennis Match สัมผัสประสบการณ์รูปแบบใหม่เล่นกีฬาปิงปองในรูปแบบเสมือนจริง โดยเกมใช้การขับเคลื่อนด้วยระบบ Alibaba Cloud Global Network ทำให้การส่งข้อมูลแบบ E2E ครอบคลุมเครือข่ายทั่วโลก มีเวลาแฝง หรือ Latency ที่ต่ำ และมีระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูง
- Cloudverse โซลูชันสำหรับภาคธุรกิจที่สามารถออกแบบ สร้าง และจัดการพื้นที่ Metaverse โดยระบบทั้งหมดทำงานอยู่บนระบบ Alibaba Cloud ที่เจ้าของธุรกิจปรับแต่งขนาดได้อิสระ ที่มาพร้อมกับระบบประมวลผลเร็วสูง พื้นที่จัดเก็บข้อมูล ฐานข้อมูล ระบบเครือข่าย และแพลตฟอร์มดำเนินงานอัจฉริยะ
- Health Games for Seniors ยกระดับเกมสุขภาพเพื่อเข้าถึงผู้ประชากรผู้สูงอายุของสิงคโปร์ โดยเกมทั้งหมดทาง Alibaba Cloud ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Nanyang Technological และเกมทั้งหมดได้พัฒนาร่วมกับ Joint NTU-UBC Research Center of Excellence in Active Living for the Elderly (LILY), Institute of Geriatrics and Active Aging (IGA) และ Tan Tock Seng Hospital
- The Hunting bike game เกมปั่นจักรยานล่าสัตว์ที่มีการทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ IoT ตรวจจับการถีบปั่นจักรยานที่ช่วยให้ผู้สูงอายุฝึกความแข็งแรงของแขนขาระหว่างการโต้ตอบเล่นเกม
- Physio Ping Pong เกมตรวจจับการเคลื่อนไหวโดยใช้เซนเซอร์ที่ผสมผสานทั้งกิจกรรมของร่างกาย และการรับรู้ ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุมีความกระฉับกระเฉงมากยิ่งขึ้น พร้อมกับกระตุ้นระบบการรับรู้พร้อม ๆ กัน
คริส ตั้ง (Chris Tung), President, Corporate Development, Alibaba Holding Group ได้กล่าวไว้ว่า
“เรามีความยินดี และตื่นเต้นสำหรับการเปิดตัวการแข่งขัน Olympic Esport Singapore 2023 เป็นครั้งแรก และเป็นพันธมิตรร่วมกันกับ IOC โดยเรามีความสนใจ และต้องการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับสนับสนุนการแข่งขันเกมดิจิทัลอย่างเต็มที่”
“ซึ่งเรายังมีโซลูชันความยั่งยืนที่ขับเคลื่อนด้วย AI นั้นก็คือ ‘Energy Expert’ ที่มีส่วนร่วมในการพลิกโฉมวงการเกมดิจิทัลเป็นอย่างมาก ซึ่งโซลูชันจะช่วยผู้จัดการแข่งขันที่มีความซับซ้อน เช่น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกย้ายไปจัดการงานทั้งหมดอยู่บนระบบคลาวด์ที่สามารถจัดการได้ง่าย และการใช้ระบบดังกล่าวยังช่วยลด Carbon Footprint ได้เช่นกัน”
“และเรายังเชื่อมั่นในระบบ AI ที่สามารถช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และประหยัดพลังงานไปพร้อม ๆ กัน”
วิลเลียม ซง (William Xiong), Vice President of Alibaba Cloud Intelligence and General Manager of Enterprise Service ได้กล่าวไว้ว่า “เรามีความยินดีที่เห็นบริษัทต่าง ๆ ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้าริเริ่ม และให้คำมั่นสัญญาว่าต้องการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์มากขึ้น โดยตัวเลขของบริษัทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปีนับจากปี 2019”
“จากการเปลี่ยนแปลงระบบองค์กรให้เข้าสู่ยุค Net Zero ที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งพวกเราก็คิดค้นโซลูชัน AI บนคลาวด์อย่าง Energy Expert เพื่อมาช่วยให้บริษัททั้งหมดทราบวิธีการลดใช้พลังงาน และลดการสร้าง Carbon Footprint ที่ไม่จำเป็น”
“ความท้าทายยิ่งใหญ่อีก 1 ข้อคือ ต้องการให้บริษัทต่าง ๆ มีส่วนร่วมกับภาคประชาชน เพราะการร่วมด้วยช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอนจะนำไปสู่โลกที่มีความยั่งยืนได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส