คณะกรรมการกสทช. โดยคณะกทค. นำโดย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top ได้เชิญผู้ผลิตคอนเทนท์ออนไลน์ และผู้ดูแลแฟนเพจบนเฟซบุ๊ก ซึ่งส่วนใหญ่ ล้วนมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านราย เช่น วู้ดดี้, จ่าพิชิต, หมอแล็บแพนด้า, อีจัน, จอห์น วิญญู และรวมไปถึง หนุ่ย พงศ์สุข ในนามของเพจแบไต๋ไฮเทค ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ ซึ่งเราได้จัดรายการสรุปเรื่องราวให้แล้ว

โดยกสทช. ได้เน้นย้ำถึงเรื่องของเนื้อหารายการที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงโฆษณาสินค้าที่ผิดกฎหมาย บนแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงเปิดเผยด้วยว่า ผู้ดูแลเพจที่ได้เชิญมาในวันนี้ มีความยินดีที่จะเข้าสู่กระบวนการกำกับและดูแล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งกับทางกสทช. ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทางด้านความเห็นจากตัวแทนผู้ดูแลเพจที่ได้เข้าร่วมในวันนี้ ต่างให้ความเห็นถึงเรื่องของการสร้างระบบการกำกับ และดูแลคอนเทนท์ออนไลน์ของกสทช. ว่า ต้องให้มีความเท่าเทียมกันในด้านกฎกติกา และมาตรฐานเดียวกัน สำหรับทุกเพจที่เข้าสู่ระบบ OTT ทั้งนี้ ตัวแทนผู้ดูแลเพจกลับมองว่า กฎและกติกาที่ต้องปฏิบัติตามนั้นค่อนข้างยาก จึงเป็นกังวลเรื่องของความซับซ้อนในกติกาที่จะมาปรับใช้ เพราะเกรงว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับเพจต่างๆ

รวมถึงได้มองว่า การให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวนี้ จะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาเนื้อหาและโฆษณาที่ไม่เหมาะสมได้อย่างตรงจุด รวมถึงทำให้การประกาศกฎระเบียบดังกล่าวนี้ เป้นไปได้อย่างรวดเร็ว และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์

เสียงส่วนหนึ่งจากผู้ผลิตและแฟนเพจ

จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับเชิญจากทางกสทช. ได้แสดงความคิดเห็น และสะท้อนแนวคิดของการควบคุมคอนเทนท์ OTT ของกสท. ด้วย

ภาคภูมิ เดชหัสดิน (หมอแล็บแพนด้า)

จ่าพิชิต (Drama-Addict) Source: PPTV

โดยจ่าพิชิต และหมอแล็บแพนด้า ต่างให้ความคิดเห็นว่า กสท. ในฐานะหน่วยงานที่เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ ยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางการควบคุม รวมถึงแนะให้เรียกตัวแทนจากเพจประเภทสีเทา (เนื้อหาล่อแหลม และโฆษณาไม่เหมาะสม) เข้ามาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนด้วย

จากด้านซ้าย: จอห์น วิญญู (SpokeDark.TV), หนุ่ย พงศ์สุข (แบไต๋ไฮเทค)

เช่นเดียวกับจอห์น วิญญู ผู้ก่อตั้ง SpokeDark.TV ก็ได้ให้ความเห็นในทำนองนี้เช่นกัน และได้ชี้แนะเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้ ก็มี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับปี 2560 ที่มีข้อกำหนดในการเอาผิดผู้กระทำผิดอยู่แล้ว

การที่มอบหมายอำนาจให้กับบางหน่วยงานในการควบคุมและกำกับนั้น จึงไม่เหมาะกับพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่เสรีในการเผยแพร่ข้อมูลและข่าวสาร

ทางด้านคุณหนุ่ย พงศ์สุข ได้ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องยากที่กสทช. จะเข้ามากำกับและดูแล เพราะปัญหาเกิดขึ้นที่ตัวแพลตฟอร์ม (เฟซบุ๊กและยูทูป) ที่ให้อิสระกับผู้ใช้งานทุกคน จนเกิดช่องโหว่ขึ้นมา

หากเจ้าของแพลตฟอร์มเข้ามาร่วมในระบบนี้ ก็ควรได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าผู้ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบ

วู้ดดี้ วุฒิธร

กาละแมร์ พัชรศรี

ส่วนวู้ดดี้ และกาละแมร์ ที่เดินทางมาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนด้วยนั้น ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า

ยังไม่ได้นำเสนออะไรในตอนนี้ และรอให้ทางกสทช. และกสท. สรุปหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา กสทช. โดย กสท. ได้เชิญผู้ผลิตคอนเทนท์ในยูทูป (YouTuber) จำนวน 40 ช่อง เข้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกรณีดังกล่าวนี้ด้วย ซึ่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของตัวแทน YouTuber ก็ไม่ต่างไปจากการเสนอแนะในวันนี้สักเท่าไหร่

ดูเพิ่ม: สรุปการเสวนา OTT ง่ายๆใน 1 คลิป (โลก Internet จะถูกควบคุมจริงๆหรอ)

Play video

ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการควบคุมคอนเทนท์ในโลกออนไลน์ ว่าจะสำเร็จ หรือจะล้มเหลว รวมไปถึงการเท่าเทียมกัน และความเสรีในการผลิตคอนเทนท์นั้น ยังมีอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ หลังจากนี้ ทางกสท. จะทำการรวบรวมความคิดเห็น ประชุมและพิจารณา ก่อนการประกาศใช้งานจริง

ที่มา: PPTV, Manager, VoiceTV, Dailynews, Positioning