เป็นเรื่องที่เหล่ายูทูบเบอร์และเหล่าครีเอเตอร์ต่างอกสั่นขวัญหายกันเป็นทิวแถว โดยเฉพาะเหล่าครีเอเตอร์ที่ทำคอนเทนต์สำหรับเด็ก ทั้งที่ผู้ใหญ่เป็นผู้สร้าง หรือจะมีเด็กมาร่วมก็ตาม ต้องหันมาสนใจกับกฎระเบียบใหม่ที่ทางยูทูบได้ปล่อยออกมา ซึ่งจะมีผลกระทบไปถึงเรื่องของการรับรายได้ในอนาคต

ก่อนที่จะลงลึกไปถึงวิธีและขั้นตอนต่าง ๆ ที่ทางยูทูบได้แนะนำออกมา ต้องมาทำความรู้จักกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันก่อน

FTC และ COPPA คืออะไร (?)

FTC หรือ Federal Trade Commission คือคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐของสหรัฐอเมริกา เป็นหน่วยงานที่ออกกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล รวมไปถึงกฎหมายว่าด้วยความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ตของเด็ก (Children’s Online Privacy Protection Act) หรือที่เรียกสั้น ๆ กันในตอนนี้ว่า “กฎหมาย COPPA”

ซึ่งกฎหมาย COPPA ที่ทาง FTC ได้ออกมานั้น ร่างขึ้นเมื่อปี 1998 (พ.ศ. 2541) และประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2000 (พ.ศ. 2543) และมีการปรับปรุงเพิ่มเติมมาโดยตลอด สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ “ปกป้องการนำข้อมูลของเด็กและเยาวชนที่อายุไม่ถึง 13 ปี เข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต” รวมไปถึงการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี ซึ่งถ้ามีการเรียกจัดเก็บข้อมูล ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อนถึงจะสามารถจัดเก็บได้ อีกนัยหนึ่งของกฎหมาย COPPA ก็คือ เป็นการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 13 ปี ถูกหลอก หรือถูกเอาเปรียบจากเว็บไซต์หรือบริการต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ (ซึ่งเป็นในเชิงพาณิชย์)

YouTube, COPPA และค่าปรับห้าพันล้านบาท!

เมื่อมีการประกาศกฎหมายฉบับนี้ออกมา แน่นอนว่าต้องมีการครอบคลุมไปเรื่องของทางทำคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กได้ถูก FTC ฟ้องเรียกค่าเสียหายมาแล้ว คราวนี้มาถึงยูทูบที่ถูกทาง FTC ฟ้องร้องกันบ้าง โดยการฟ้องที่ว่านี้ สืบเนื่องจากในช่วงระยะหลังมานี้ คอนเทนต์ต่าง ๆ ที่มีบนยูทูบ โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก แน่นอนว่าเมื่อมีคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับเด็ก เด็กย่อมเข้ามาดู ซึ่งในการเข้ามาดูแต่ละครั้งนั้น มีการจัดเก็บประวัติการเข้าใช้งานบนโลกออนไลน์ หรือ Cookies ซึ่งคอยจัดเก็บข้อมูลการใช้งาน ความสนใจ และองค์ประกอบอื่น ๆ โดยข้อมูลเหล่านั้นได้มีการนำไปเสนอขายให้กับผู้ลงโฆษณาออนไลน์ เพื่อให้สามารถนำโฆษณาต่าง ๆ มาแสดงได้ตรงกับความสนใจที่มี ซึ่ง Cookies ไม่สามารถจัดเก็บได้เลย ถ้าหากผู้ที่เข้าใช้งานมีอายุน้อยกว่า 13 ปี และแน่นอนว่ายูทูบ “แสร้งตีเนียนและบิดพลิ้ว” บิดพลิ้วเงื่อนไขที่ทางยูทูบได้ออกมากำหนดไว้เองด้วยซ้ำว่า “ผู้ที่ใช้งานยูทูบได้ ต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไป” ทาง FTC จึงสั่งฟ้องเรียกค่าเสียหายจากยูทูบ เนื่องจากทำผิดกฎหมาย COPPA ที่กล่าวมาในขั้นต้น เป็นเงินกว่า 170 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (แปลงเป็นเงินไทยก็ราว ๆ 5,000 กว่าล้านบาท!) ถือเป็นจำนวนมหาศาลเลยก็ว่าได้

เมื่อมีผลเช่นนี้ ทางยูทูบได้ออกประกาศและคำอธิบายถึงการสร้างเนื้อหาสำหรับเด็กออกมา โดยประกาศออกมาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน แต่ในไทยเพิ่งจะมีการหยิบยกขึ้นมาเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ จนยูทูบเบอร์หลายต่อหลายท่าน รวมไปถึงหลายต่อหลายสื่อต่างพากันหยิบเรื่องนี้มาคุย (บ้างก็ระบายอกมา) และมองไปในทิศทางที่ว่า “ถึงคราอวสานของอาชีพยูทูบเบอร์แล้ว…”

เข้าใจในกฎระเบียบของยูทูบใหม่อีกครั้ง

เมื่อเกิดเรื่องเหล่านี้แล้ว ยูทูบก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่าง ๆ สำหรับการทำเนื้อหาที่มีเด็กอายุต่ำว่า 13 ปีมาเกี่ยวข้อง โดยได้ทำการส่งอีเมลแจ้งรายละเอียด รวมไปถึงได้โพสต์ลงบนเว็บไซต์ YouTube Community (ซึ่งเว็บนี้เข้าได้เฉพาะผู้ที่เป็นครีเอเตอร์เท่านั้น) และลงหน้าเว็บซัพพอร์ตของทางกูเกิลเอง ทางกูเกิลได้พูดถึง “วิดีโอที่มีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมาย” (กูเกิลขอเรียกสั้น ๆ ว่า “สร้างมาเพื่อเด็ก”)

กูเกิลอ้างถึงคำแนะนำของ FTC และกฎหมาย COPPA เกี่ยวกับวิดีโอที่มีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

  • วิดีโอที่มีเด็กเป็นกลุ่มผู้ชมหลัก
  • วิดีโอที่เด็กไม่ใช่กลุ่มผู้ชมหลัก แต่ยังมีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยร่วมที่ทำให้ตัดสินได้ว่า คอนเทนต์ดังกล่าวนั้นสร้างมาเพื่อเด็กหรือไม่ อาทิ ชื่อหัวข้อของวิดีโอ (ชื่อคลิป), กลุ่มเป้าหมาย, มีนักแสดงนำที่เป็นเด็ก, มีสิ่งประกอบที่ดึงดูดเด็กให้เข้ามาชม เช่น ของเล่น, ตุ๊กตา, โมเดล รวมไปถึงกราฟิกที่สามารถขยับเขยื้อนได้, ใช้ภาษาในคลิปโดยมีเป้าหมายให้เด็กเข้าใจ, มีการทำกิจกรรมที่ดึงดูดให้เด็กเข้ามาชม เช่น เล่นเกม, แสดงละคร หรือเนื้อหาที่เหมาะกับเด็กปฐมวัย, มีเพลง นิทาน กลอน ที่ดึงดูดเด็ก และรวมไปถึงข้อมูลด้านอื่น ๆ เช่น หลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับผู้ชมของวิดีโอ

แน่นอนว่าเมื่อกูเกิลออกมาพูดถึงคำแนะนำที่ทาง FTC ได้ออกมา กูเกิลก็ต้องน้อมรับและออกข้อกำหนดใหม่ ซึ่งจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ จัง ๆ ในเดือนมกราคม 2563 ที่จะถึงนี้ โดยคำแนะนำที่ทางกูเกิลได้ออกมาให้กับเหล่าครีเอเตอร์และยูทูบเบอร์ มีดังต่อไปนี้

  • ทำความเข้าใจกับกฎหมาย COPPA และความรับผิดชอบต่อกฎหมายในฐานะครีเอเตอร์
  • ทำความเข้าใจในข้อกำหนดการให้บริการ และความรับผิดชอบของตัวเรา ในฐานะผู้ใช้ทั่วไปของยูทูบ
  • หากต้องการให้เด็กรับชมคอนเทนต์สำหรับเด็ก ผู้ปกครองควรใช้แอป YouTube Kids แทนแอปหลัก

แอปพลิเคชัน YouTube Kids (Source: zhero.co.uk)

ทั้งนี้ กูเกิลได้พูดถึงกรณีที่ว่า ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ทางกูเกิลได้ออกมา หรือพยายามหลบเลี่ยงในการแสดงข้อมูลของคอนเทนต์ดังกล่าวว่าเกี่ยวข้องกับเด็กหรือไม่ กูเกิลอาจจะดำเนินการบางอย่างกับครีเอเตอร์ หรือยูทูบเบอร์ ดังนี้

  • หยุดการแสดงโฆษณาบนเนื้อหาที่เหมาะสำหรับเด็ก ต่อให้ครีเอเตอร์ได้ระบุข้อมูลกับทางยูทูบแล้วหรือไม่ได้ระบุก็ตาม มีผลทำให้รายได้จากยูทูบลดลง
  • บางฟีเจอร์จะไม่สามารถใช้งานในคลิปดังกล่าวได้ เช่น ไม่สามารถคอมเมนต์ใต้คลิปที่โพสต์ได้ หรือแม้แต่การกดปุ่มถูกใจและไม่ถูกใจ ก็จะหายไป รวมไปถึงการค้นหาคลิปในช่องค้นหาก็จะไม่ปรากฎขึ้นมา
    นอกเหนือจากนี้ ยังมีวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ทางยูทูบได้กล่าวมาด้วย คือ
  • การลงโฆษณาบน Google Ads จะไม่สามารถเลือกให้แสดงกับกลุ่มผู้ชมที่มีอายุ 13 ปีลงมา โดยขั้นต่ำที่สามารถเลือกได้ คือกลุ่มผู้ชมที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
  • จะมีการถามคำถามในระบบหลังบ้าน หรือ YouTube Studio ในทุกครั้งที่มีการโพสต์เนื้อหาใหม่ ๆ ว่าเนื้อหาดังกล่าวนั้น เป็นเนื้อหาสำหรับเด็กหรือไม่ ซึ่งเราสามารถระบุด้วยตนเองในเบื้องต้น และระบบของยูทูบยังมี Machine Learning ในการตรวจสอบร่วมด้วย
  • หากพยายามหลบเลี่ยงการระบุข้อมูลถึงเนื้อหา อาจจะมีผลกระทบต่อตัวช่องในอนาคต หนักสุดถึงขั้นถูกลบแชแนล

และท้ายที่สุดนี้ กฎหมาย COPPA ที่ออกโดย FTC นั้น มีการประกาศบังคับใช้ทั่วโลก (รวมถึงประเทศไทยด้วย)

แล้วครีเอเตอร์และยูทูบเบอร์ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

เมื่อการโพสต์เนื้อหาลงยูทูบในทุก ๆ ครั้ง จะถูกมองว่าเอื้อให้เด็กเข้ามารับชมหรือไม่นั้น ย่อมส่งผลกระทบให้กับครีเอเตอร์และยูทูบเบอร์แทบทั้งวงการเลยก็ว่าได้ ในกรณีที่เป็นคอนเทนต์เฉพาะทาง อย่างเกม อาจจะได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวนี้อยู่บ้าง ต่อให้เกมที่เล่นจะเป็นเกมสำหรับผู้ใหญ่ก็ตาม หรือเป็นคอนเทนต์ทั่ว ๆ ไป อาจจะได้รับบ้างหรือไม่ได้รับบ้าง แต่ที่ได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ เลยก็คือ คอนเทนต์ที่ทำขึ้นมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวของเล่น, การเล่นของเล่น, การแสดงบทบาทสมมติของเด็ก ๆ และรวมไปถึงการ์ตูนที่มีการสร้างขึ้นมา (การ์ตูนที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่อย่าง South Park หรือ Family Guy อาจถูกเหมารวมด้วย)

South Park การ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ที่มีเนื้อหาเสียดสีสังคม (Source: South Park Studios)

ถ้ามองแยกเป็นรายกรณีไป อย่างกรณีที่ยูทูบบางแชแนลผลิตคอนเทนต์ในเชิง Role Play หรือบทบาทสมมติ โดยให้เด็กเป็นผู้รับบทบาทการแสดง ถ้าในคลิปดังกล่าวมีเด็กเป็นตัวละครหลักในการนำเนินเรื่อง กรณีนี้อาจจะขัดต่อกฎระเบียบใหม่ของทางยูทูบ แต่ถ้าตัวละครหลักของเรื่องเป็นผู้ใหญ่ หรือเยาวชนที่มีอายุมากกว่า 13 ปี แล้วมีเด็กเป็นนักแสดงร่วม กรณีนี้อาจไม่เข้าข่าย แต่ต้องระบุข้อมูลให้ชัดเจนว่าคอนเทนต์ดังกล่าวไม่ได้สร้างสำหรับเด็ก

ตัวอย่างคอนเทนต์ในเชิง Role Play หรือบทบาทสมมติ โดยมีเด็กและเยาวชนร่วมแสดง

Play video

ในระยะยาว ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือการหารายได้จากผู้ชมที่เป็นเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 13 ปี (จากกรณีที่ Google Ads ไม่สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายได้) จะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ทำให้รายได้ส่วนหนึ่งนั้นหายไป และการทำคอนเทนต์จะยากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องมากรองกันอีกครั้งว่าสิ่งที่จะผลิตออกไปนั้น เอื้อต่อเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 13 ปีหรือไม่ หรือแม้แต่องค์ประกอบต่าง ๆ ที่อาจเข้าข่ายโดยไม่ได้มีเจตนามาตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ กฎหมาย COPPA อาจครอบคลุมไปถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่างเฟซบุ๊ก และทวิต รวมไปถึงแพลตฟอร์มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้ที่ทำคอนเทนต์ควรปรับตัวในด้านการสร้างเนื้อหา การจำกัดกลุ่มผู้ชมให้ชัดเจนว่าเหมาะกับกลุ่มใด รวมไปถึงแสวงหาช่องทางอื่น ๆ ในการสร้างรายได้ แทนที่จะโฟกัสไปที่การเป็นครีเอเตอร์ หรือยูทูบเบอร์ เป็นเป้าหมายหลักเพียงอย่างเดียว

ตัวอย่างการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้มองเห็นโฆษณา บนระบบหลังบ้านของ Google Ads

แต่ท้ายที่สุดนี้ เรื่องราวเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นเลย ถ้ายูทูบเลือกที่จะไม่ปิดบัง ปฏิบัติตามกฎที่ทาง FTC กล่าวไว้ตั้งแต่แรก แต่ในกรณีเช่นนี้ ยูทูบไม่ได้กล่าวกับ FTC โดยตรง ถึงการจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน หรือ Cookies จากผู้ชมที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี จนนำไปสู่การสั่งปรับครั้งมโหฬาร และกลายเป็นครีเอเตอร์และยูทูบเบอร์ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะไปทำเนื้อหาให้เด็กเข้ามาดูเอง

ทั้งที่บางเนื้อหาไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 13 ปีเสียด้วยซ้ำ…

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส