เมื่อวันหนึ่งผู้ผลิตปืนไรเฟิลมีไอเดียต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับปืน เพื่อช่วยให้นักยิงมืออ่อนทั้งเล็งทั้งยิงได้แม่นขึ้น วันนี้จึงมีแฮคเกอร์ที่สามารถแฮคปืนไรเฟิลได้แล้ว และบังคับให้มันยิงพลาดเป้า หรือแม้กระทั่งยิงเป้าอื่นที่คนยิงไม่ได้ตั้งใจเล็งก็ยังได้

ปืนไรเฟิลที่กำลังพูดถึงนี้คือ TP750 ผลิตโดย TrackingPoint หนึ่งในผู้ผลิตปืนไรเฟิลที่ขึ้นชื่อเรื่องความไฮเทคของปืน เจ้าไรเฟิลรุ่นที่ว่านี้มีระบบช่วยเล็ง (หรือจะว่าเล็งได้เองก็คงไม่ผิดนัก) ด้วยการคำนวณเชิงภาพจากข้อมูลที่ปืนได้รับผ่านกล้องเล็งร่วมกับข้อมูลที่ผู้ยิงป้อนให้ ทั้งการกำหนดเป้าการยิงในภาพ, ความเร็วและทิศทางของกระแสลมในวิถีกระสุน, อุณหภูมิของพื้นที่ทำการยิง รวมถึงน้ำหนักกระสุนที่ใช้

หลังจากนั้นเมื่อผู้ใช้ลั่นไก TP750 จะยังไม่ยิงกระสุนปืนออกไปจนกว่าจะถึงช่วงเสี้ยววินาทีที่เป้าหมายอยู่ในตำแหน่งที่จะทำให้กระสุนไม่พลาดเป้าอย่างแน่นอน เท่านั้นยังไม่พอ TP750 ยังมีฟีเจอร์เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านทาง Wi-Fi เพื่อใช้บันทึกภาพจากกล้องเล็งไปยังคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์พกพาอื่นก็ได้ด้วย ซึ่งด้วยความสามารถแสนไฮเทคนี้ ทำให้ TP750 มีราคาสูงถึงกระบอกละ 13,000 ดอลลาร์ (เกือบ 500,000 บาท)

The exposed circuitboards of the Tracking Point TP750 that Runa Sandvik and Michael Auger hacked to control where the rounds hit.

ปืน TrackingPoint TP750 กับแผงวงจรในส่วนกล้องเล็งที่จะทำหน้าที่คำนวณประมวลผลเพื่อช่วยให้ทุกการยิงไม่พลาดเป้าหมาย

และเมื่อ 2 นักวิจัยด้านความปลอดภัย Runa Sandvik และ Michael Auger ลงทุนซื้อปืน TP750 มา 2 กระบอกและทำการแยกชิ้นส่วนถึงขนาดรื้อแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในปืนออกมาตรวจสอบ รวมทั้งการตรวจสอบระบบซอฟต์แวร์ต่างๆ จนทำให้พบว่าความสามารถในการเชื่อมต่อ Wi-Fi นี่เองที่เป็นจุดอ่อนทำให้ TP750 สามารถถูกแฮคได้ พวกเขาสามารถเข้าไปเปลี่ยนค่าตัวแปรในการคำนวณของระบบกล้องเล็งอัจฉริยะของ TP750 (เช่นเปลี่ยนค่าน้ำหนักกระสุน)

Security researchers Runa Sandvik, left, and husband, Michael Auger, right, have figured out how to hack into a Tracking Point TP750 rifle to control the trajectory of the bullets fired.

คู่รักนักแฮค Runa Sandvik และ Michael Auger ผู้ทำการแฮคปืนไรเฟิล TP750 ได้สำเร็จ

ผลของการศึกษานานกว่า 1 ปีของคู่หูนักวิจัยก็คือ พวกเขาสามารถทำให้ปืนคำนวณค่าผิดจนพลาดเป้าในทุกครั้งที่ยิงได้ (และอาจหมายถึงไปโดนสิ่งอื่นที่มิใช้เป้าหมายของการยิง) หรือจะหยุดระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดก็ได้เช่นกัน ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการจำกัดให้ผู้ยิงต้องทำการเล็งด้วยตนเองเท่านั้น และอย่างหนักที่สุดก็คือ แฮคเกอร์สามารถปิดระบบการลั่นเข็มแทงชนวน (ซึ่งควบคุมด้วยขดลวดไฟฟ้าที่ถูกสั่งงานจากคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วในตัวปืน) ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการทำให้ TP750 เป็นแค่กระบอกเหล็กบรรจุกระสุนเท่านั้น

Sandvik และ Auger มีแผนจะนำเสนอเรื่องนี้ในงาน Black Hat ซึ่งเป็นสัมมนาของเหล่าบรรดาแฮคเกอร์ที่กำลังจะมีขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ในขณะนี้ที่ TrackingPoint ผู้ผลิตปืน TP750 ก็รับทราบถึงเรื่องนี้และเตรียมออกแพตช์แก้ไขช่องโหว่อันตรายนี้ โดยจะทำการส่ง USB drive ที่ใส่ซอร์สโค้ดเพื่ออัพเกรดซอฟตฺ์แวร์ไปให้แก่ลูกค้าผู้ซื้อ TP750 ไปแล้ว

ที่มา – Wired