หนึ่งในสิทธิบัตรสำคัญที่ทำให้ Apple ชนะคดีฟ้องร้องกับ Samsung จนศาลมีคำตัดสินให้มีการชดใช้เงินกันเป็นพันล้านเหรียญ เพิ่งถูกวินิจฉัยว่าอาจเป็นโมฆะ งานนี้ถ้า Apple พลิกคดีกลับมาอีกทีไม่ได้ อาจสูญเงินที่ควรจะได้จาก Samsung เกือบ 500 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

หลังมีการไต่สวนเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรซึ่งกันและกันระหว่าง Apple และ Samsung มานานนับปี โดยมีการฟ้องร้องกัน 2 คำรบ Samsung โดนตัดสินว่ามีการละเมิดสิทธิบัตรของ Apple หลายรายการ ทั้งเรื่องของส่วนติดต่อผู้ใช้งาน slide-to-unlock (ปาดนิ้วเพื่อปลดล็อกเครื่อง), tap-to-zoom (แต่ที่รูปเพื่อขยาย), bounce-back (เลื่อนถึงเมนูสุดท้ยแล้วมีการเด้งกลับ), ฟังก์ชั่นการใช้งานแบบ multi-touch รวมถึงสิทธิบัตรด้านการออกแบบหมายเลข D618,677 รวมทั้งสิทธิบัตรยิบย่อยอื่นที่มีการฟ้องร้องเพิ่มเติมในภายหลัง ได้มีการตัดสินให้ Samsung ชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดสิทธิบัตรเหล่านั้นเป็นเงินรวมทั้งสิ้นสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์

ประเด็นคือเจ้าสิทธิบัตรด้านการออกแบบ D618,677 ซึ่งว่าด้วยแนวทางการออกแบบโทรศัพท์ให้มีหน้าตาแบบแท่งสี่เหลี่ยมไร้ปุ่มตัวเลข และมีเพียงปุ่มคำสั่งไม่กี่ปุ่มกับหน้าจออันใหญ่ แบบที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีในฐานะต้นแบบ iPhone แบบดั้งเดิม เพิ่งได้รับการวินิจฉัยมาใหม่สดๆ ร้อนๆ โดยแผนกกลางผู้ทำหน้าที่การตรวจสอบซ้ำเป็นการภายในของ USPTO (หน่วยงานคล้ายกรมทรัพย์สินทางปัญญาของบ้านเรา) โดยมีการวินิจฉัยให้สิทธิบัตรเจ้ากรรมนี้กลายเป็นโมฆะเสียแล้ว

เหตุผลที่เหล่าผู้ตรวจสอบยกมาอ้างอิงการสั่งให้เป็นโมฆะนั้นก็มีด้วยกัน 2 อย่าง อย่างแรกคือก่อนการอนุมัติสิทธิบัตรฉบับที่ว่านี้ มีโทรศัพท์ของ LG และอีกรุ่นหนึ่งของผู้ผลิตจากญี่ปุ่น ได้ถูกออกแบบมาในลักษณะนี้ออกเผยแพร่วางขายมาก่อนแล้ว ครั้น Apple จะอ้างว่าตัวเองคิดได้ก่อนและยื่นคำขอจดสิทธิบัตร (patent application) การออกแบบเชิงนี้ไว้ก่อนการเผยแพร่สินค้าของ LG กับผู้ผลิตจากญี่ปุ่น ก็ไม่สามารถอ้างได้เพราะในคำขอจดสิทธิบัตรก็ดันลงรายละเอียดไม่ครอบคลุมตรงกับที่ระบุไว้ในเอกสาร D618,677 ว่าแล้วจึงมีความเห็นย้อนหลังให้สิทธิบัตรรายการนี้เป็นโมฆะเสีย

ผลกระทบจากการปลิวหายของสิทธิบัตร D618,677 นี้จะทำให้มูลค่าเงินที่ Samsung ต้องชดเชยแก่ Apple นั้นจะลดลงมาเหลือแค่ 548 ล้านดอลลาร์ทันที อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยนี้ยังไม่ถึงที่สุดเสียทีเดียว แถมยังเหลือกระบวนการฎีกาเป็นช่องทางให้ Apple ได้ต่อสู้ไปได้อีก เชื่อว่า Apple คงไม่ยอมปล่อยเรื่องนี้ไปง่ายๆ เป็นแน่

ที่มา – SlashGear, ข้อมูลสิทธิบัตรจาก FPO