ฟาวัด ชาว์ดรี (Fawad Chaudhry) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการกระจายเสียง (Ministry for Information and Broadcasting) ของปากีสถาน ระบุว่าคณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบต่อนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (National Cyber Security Policy) ฉบับแรกของประเทศ

ฟาวัด ชาว์ดรี (ที่มา: DawnNewsTV)

นโยบายฯ ฉบับดังกล่าว กำหนดกรอบการบริหารราชการที่ส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศทางไซเบอร์ (cyber ecosystem) ที่มีความมั่นคงปลอดภัยโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์หรือเซิร์ต (Computer Emergency Response Team – CERT)
และศูนย์ปฏิบัติการไซเบอร์หรือซอค (Security Operations Center – SOC) ในระดับองค์กร ระดับอุตสาหกรรม
และระดับประเทศ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการตั้งกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร โครงการอบรมและพัฒนาทักษะ
และโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน โดยการโทรคมนาคมปากีสถาน (Pakistan Telecommunication Authority) ระบุว่าจะมีการตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์ขึ้นใหม่ด้วย

ในด้านความพร้อมทางไซเบอร์ ดัชนีความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โลก (Global Cybersecurity Index – GCI) ประจำปี 2563 ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union – ITU) จัดให้ปากีสถานอยู่ในอันดับ 79 ของโลก จาก 193 ประเทศ (ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 44) โดยผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าปากีสถานยังมีข้อจำกัดในด้านการบังคับใช้กฎหมายด้านไซเบอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลตระหนักและพยายามแก้ไข

อิมราน ข่าน (ที่มา Al Jazeera)

ทั้งนี้่ การประกาศใช้นโยบายและก่อตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์เกิดขึ้นท่ามกลางการสืบสวนเกี่ยวกับกรณีที่มีแฮกเกอร์นิรนามใช้มัลแวร์ Pegasus ที่อิสราเอลพัฒนาขึ้นเพื่อสอดแนมอิมราน ข่าน (Imran Kahn) นายกรัฐมนตรีของปากีสถาน ซึ่งรัฐบาลปากีสถานกล่าวหาว่าอินเดียอยู่เบื้องหลัง โดยรัฐบาลจะแบ่งปันข้อมูลที่ได้จากการสืบสวนให้กับสหประชาชาติ

ที่มา The Express Tribune, The Daily Swig, ThaiCERT, ITU

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส