ในที่สุดทาง กสทช. ก็ได้กำหนดการสำหรับการประมูลคลื่น 900MHz ครั้งใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยกำหนดไว้ในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 นี้เป็นวันประมูล งานนี้คาดว่าการประมูลน่าจะจบอย่างรวดเร็วอย่างแน่นอน

ผู้เข้าร่วมประมูลได้ในครั้งนี้

  • บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
  • บริษัทดีแทค ไตรเน็ต จำกัด
  • บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ค จำกัด

ผู้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้

  • แจส โมบายบรอดแบรนด์ จำกัด

โดยราคาเริ่มต้นคือราคาที่ JAS ได้ประมูลชนะจากรอบก่อนคือ 75,654 ล้านบาท โดยจะต้องชำระเงินประกัน 5% ของราคาเริ่มต้นคือ 3,783 ล้านบาท และหากผู้ที่ประมูลชนะไม่มาชำระเงิน

จะต้องจ่ายเงินค่าปรับเป็นจำนวน 15,131 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของราคาเริ่มต้น

กฎสำหรับการประมูลครั้งนี้เท่านั้นคือ กรณีมีผู้ประมูลรายเดียว แต่มีการเคาะยืนยันราคา 75,654 ล้านบาท ก็ให้ถือว่าเป็นผู้ชนะการประมูลไปเลยและหากผู้ชนะอันดับ 1 ไม่สามารถชำระเงินได้ อนุญาตให้ผู้ชนะอันดับ 2 เป็นผู้ชนะโดยปริยายได้ทันที (ไม่ต้องประมูลใหม่) เรียกได้ว่างานนี้ใครเบี้ยวจ่ายเงินหลังจากประมูลเตรียมเสียเงินร่วมหมื่นห้าพันล้านบาทฟรี ๆ เลยทีเดียว !!


บอร์ด กทค. เคาะวันประมูลคลื่น 900 MHz ดีเดย์ 24 มิ.ย. 59 เริ่มต้นราคา 75,654 ล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (31 มี.ค. 2559) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้อนุมัติกรอบเวลาในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ ดังนี้

วันที่ 5-28 เม.ย. 2559 เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 895-905 MHz/940-950 MHz (หรือ ร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz)
วันที่ 22 เม.ย. 2559 จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศดังกล่าว
วันที่ 12 พ.ค. 2559 ร่างประกาศฯ จะถูกส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา
วันที่ 13 พ.ค.-12 มิ.ย. 2559 ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการประมูล
วันที่ 13 มิ.ย. 2559 ยื่นคำขอเข้าร่วมการประมูล
วันที่ 24 มิ.ย. 2559 วันประมูล

นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กทค. ยังได้อนุมัติร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล ร่างประกาศฉบับนี้ตัดสิทธิ์ผู้ที่ไม่มาชำระเงินค่าประมูลจากการประมูลครั้งที่แล้ว

  2. ราคาเริ่มต้นการประมูลอยู่ที่ 75,654 ล้านบาท ซึ่งราคาเริ่มต้นนี้เป็นราคาที่ผู้ชนะการประมูลครั้งที่แล้วเสนอ เนื่องจากสำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานของรัฐ ต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นหลัก

  3. การวางเงินหลักประกันคิดเป็น 5% ของราคาเริ่มต้นการประมูล 75,654 ล้านบาท ซึ่งจะเท่ากับ 3,783 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่แล้ว

  4. งวดการจ่ายเงินค่าประมูล แบ่งออกเป็น 4 งวด ตามหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่แล้ว คือ งวดแรก 8,040 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีส่วนที่เหลือ งวดที่สอง 4,020 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีส่วนที่เหลือ งวดที่สาม 4,020 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีส่วนที่เหลือ และงวดสุดท้ายจ่ายที่เหลือทั้งหมด

  5. กรณีความรับผิด หากผู้ชนะการประมูลไม่มาชำระเงิน นอกจากจะยึดหลักประกัน 3,783 ล้านบาทแล้ว สำนักงาน กสทช. จะเรียกค่ารับผิดเพิ่มอีก 11,348 ล้านบาท รวมเป็น 15,131 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของราคาตั้งต้นการประมูล นอกจากนี้หากมีความเสียหายเพิ่มเติมมากกว่านี้ สำนักงาน กสทช. จะมีการเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมในส่วนนี้อีก

  6. ร่างหลักเกณฑ์การประมูลฉบับนี้ เป็นร่างที่ใช้เฉพาะการประมูลในครั้งนี้เท่านั้น จึงเสนอเงื่อนไขกรณีมีผู้ประมูลรายเดียว แต่มีการเคาะยืนยันราคา 75,654 ล้านบาท ก็ให้ถือว่าเป็นผู้ชนะการประมูล

  7. การประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลในลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 หากผู้ชนะการประมูลรายที่ 1 ไม่มาชำระเงินค่าประมูล สำนักงาน กสทช. จะเรียกผู้ชนะการประมูลลำดับที่ 2 มาชำระเงินประมูล และเป็นผู้ชนะแทนได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และกรณีที่มีผู้เสนอราคาเท่ากัน 2 ราย สำนักงาน กสทช. อาจมีการประกาศเพิ่มเติมให้มีการดำเนินการยื่นซองราคา เพื่อแข่งขันราคาเลยก็ได้

“การวางกรอบหลักเกณฑ์การประมูลทั้งหมดในครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นหลัก” นายฐากร กล่าว