แน่นอนเป็นประจำในช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่แบบนี้ที่ทีมงานแบไต๋ จะคัดเรื่องราวโดดเด่นในวงการไอที 10 เรื่องมาเล่าให้ฟังกัน แต่ข่าวในปีนี้เราจะเรียงลำดับตามเรื่องราวที่เกิดก่อนไล่ไปเรื่อย ๆ จากต้นปีถึงปลายปี 2021 นี้ มีเรื่องอะไรบ้าง มาดูกัน

เซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลน ทำสินค้าราคาขึ้น

ต้องยอมรับว่า COVID-19 ส่งผลกระทบกับทุกวงการจริง ๆ ไม่เว้นแม้แต่วงการไอที โดยกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ คือ สายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ต้องปิดโรงงานไปหลายเดือนเพื่อลดการแพร่ระบาด พอโรงงานปิดแล้ว กว่าจะมาเปิดใหม่ก็หลายเดือน ทำให้ผลิตชิปได้ไม่ทันกับความต้องการของวงการไอทีที่มีแต่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ยังมีสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ทำให้เกิดการติดขัดทางการค้า จนผู้ผลิตจีนต้องกักตุนชิ้นส่วนไว้ให้ได้มากที่สุด ในโลกที่สงครามเศรษฐกิจไม่แน่นอน ผสมรวมกับเทรนด์ขุดเหมืองคริปโทและเทรนด์ซื้ออุปกรณ์ไอทีเข้าบ้าน เพราะไปทำงานออฟฟิศไม่ได้ และโรงงานผลิตชิปในญี่ปุ่นไฟไหม้จนผลิตไม่ได้ไปเป็นเดือน ก็ยิ่งซ้ำทำให้ชิปขาดตลาด

แน่นอนว่าพอมีความต้องการมากกว่าของที่มีในตลาด ราคาก็ปรับขึ้นไปตามกลไก ทำให้โรงงานที่เป็นกลางน้ำซื้อส่วนประกอบมาในราคาที่สูงกว่าปกติและมีจำนวนน้อย ทำให้ต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตามต้นทุน จนสุดท้ายผู้ซื้อที่อยู่ปลายน้ำอย่างเรา ๆ ก็ต้องจ่ายเงินสูงขึ้น ไปจนถึงหาซื้อไม่ได้ เช่น PlayStation 5 ที่มีเครื่องไม่เคยพอกับความต้องการ สมาร์ตโฟน-แท็บเล็ต-กล้องหลายรุ่น ที่ต้องรอของนาน ไปจนถึงวงการรถยนต์ที่ต้องลดการผลิต เพราะไม่มีชิปสมองกลไปใส่

สุดท้ายคำถามคือเหตุการณ์ชิปขาดแคลนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2020 ลากยาวมาถึงปี 2021 ทั้งปี จะมีไปถึงเมื่อไร จากข้อมูลที่ออมหามาจากผู้ผลิตชิปรายใหญ่ ๆ ของโลกอย่าง Intel, TSMC และ Samsung ต่างประเมินสถานการณ์แล้วพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อย่างเร็วสุดจะดีขึ้นในช่วงปี 2023 เลยค่ะ เอาเป็นว่าในช่วงนี้ก็พยายามรักษาอุปกรณ์ไว้ให้ดีนะ ถ้าพังทีอาจจะหาอุปกรณ์ใหม่ในสเปกที่เราต้องการไม่ได้

ปีแห่งเหรียญดิจิทัลและ NFT

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2021 คือ ปีแห่งเหรียญดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “NFT” หรือ Non Fungible Tokens เหรียญดิจิทัลที่ใช้สำหรับแสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่ไม่สามารถทดแทนได้ ความยอดนิยมนี้สามารถการันตีได้จากการเกิดใหม่ของเหรียญดิจิทัลจำนวนมาก และการที่พจนานุกรมคอลลินส์ (Collins) ยกให้คำว่า “NFT” เป็นคำศัพท์แห่งปี 2021 เนื่องจากมีการค้นหาและใช้งานคำศัพท์นี้เพิ่มขึ้น 11,000% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว (ส่วนปี 2020 คำศัพท์แห่งปีคือ Pandemic หรือการแพร่ระบาดใหญ่นะ)

การที่คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจใน “NFT” ถ้าพูดตรง ๆ คือแทบไม่ได้อยู่ที่ตัวสินทรัพย์เลย แต่มันอยู่ที่ “ราคา” ของสินทรัพย์นั้น ๆ ต่างหาก ตลอดปี 2021 ที่ผ่านมา เราได้เห็นใครหลายคนร่ำรวยในชั่วข้ามคืนจากการขายผลงานในรูปแบบ “NFT” เช่น ภาพวาดของเบนยามิน อาเหม็ด (Benyamin Ahmed) เด็กชายวัย 12 ปีจากประเทศอังกฤษ ที่สามารถขายชุดคอลเลกชันไอคอนรูปปลาวาฬของเขาในรูปแบบ NFT ด้วยราคากว่า 160,000 เหรียญสหรัฐฯ (หรือราว 5,270,000 บาท) หรือทวีตแรกของ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง twitter ที่ถูกซื้อไปในราคา 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว 90 ล้านบาท)

ในด้านของประเทศไทยเอง เราก็เห็นผลงาน NFT จากศิลปินชื่อดังมากมาย เช่น ติ๊ก ชีโร่ ที่ออกประมูลภาพวาดในรูปแบบ NFT และภาพปกของขายหัวเราะเล่มแรกที่มาพร้อมลายเซ็น บก.วิธิต อุตสาหจิต ผู้ก่อตั้งหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะและมหาสนุกในเครือบรรลือสาส์นนั่นเอง

ด้วยราคาที่หวือหวาทำให้หลายคนกังวลเกี่ยวกับกระแสของ NFT ว่าสิ่งนี้คือความยั่งยืนหรือการอุปทานหมู่ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการปั่นราคา เหมือนกับกรณีของ “Tulip Mania” หรือวิกฤตดอกทิวลิปในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ผู้คนต่างให้ความสนใจในดอกทิวลิปกันมากเกินไปจนราคาสูงเกินจริง และทำให้ฟองสบู่แตกในที่สุด เนื่องจากดอกทิวลิปไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นใดได้ แล้วท้ายที่สุดแล้ว NFT เป็นเช่นนั้นหรือไม่?

จากผลงาน NFT ต่าง ๆ เราจะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้ว NFT แทบจะเป็นเหรียญดิจิทัลในเชิงของการสะสมมากกว่าการเป็นเหรียญดิจิทัลประเภท “Utility Token” ที่มีการนำเหรียญดิจิทัลไปซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการ ดังนั้น ราคาของ NFT จึงผันแปรไปตามความต้องการของผู้คน ไม่ต่างจากภาพวาดหรือของสะสมหายากในโลกแห่งความจริงเท่าไร จากจุดนี้เอง ทำให้ผู้คนหันมาสร้างสรรค์ผลงาน NFT กันมากขึ้น เพื่อหวังจะเป็นเศรษฐีชั่วข้ามคืนอย่างหนูน้อยอาเหม็ด หรือในตอนนี้คุณก็อาจจะเดินค้นหาอะไรสักอย่างในบ้านที่มีคุณค่าหรือความเก่าแก่สักหน่อยมาแปลงให้อยู่ในรูปแบบ NFT แล้วเอาไปขายก็ได้

Google เลิกเก็บรูปบน Google Photos ฟรี ๆ และ Google Drive ริบพื้นที่

ไม่มีใครให้อะไรเราฟรี ๆ แม้แต่บนโลกของคลาวด์ เพราะในปี 2021 นี้ Google Photos บริการพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพต่าง ๆ บนเนื้อที่เก็บข้อมูลไม่จำกัด จะไม่ให้พื้นที่ฟรีอีกต่อไป

โดยทางอากู๋ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า Google Photos จะยุติการให้พื้นที่ไม่จำกัด เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2021 เป็นต้นไป แต่ก็ยังใจดีที่ไฟล์ที่อัปโหลดก่อนวันที่กำหนดเอาไว้จะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

ส่วนทางด้าน Google Drive ก็เป็นที่ฮือฮาโอโฮเฮะกันพอสมควร โดยสถานศึกษาต่าง ๆ ที่ใช้บริการ Google Workspace for Education (เดิม G Suite) จากทาง Google ที่ก่อนหน้านี้เปิดให้สถาบันทางการศึกษา อาทิ โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ไม่จำกัด จะถูกลดพื้นที่ให้ใช้งานเหลือเพียงสถาบันละ 100TB หรือคิดเป็น 100,000GB ตามนโยบายใหม่จากทาง Google เลยทำให้หลาย ๆ สถาบันจำเป็นที่จะต้องลดสิทธิ์หรือปริมาณพื้นที่จัดเก็บของผู้ใช้ ซึ่งจะเป็นครู นักเรียน อาจารย์ นิสิต และนักศึกษา โดยส่วนใหญ่ เหลือเพียงไม่กี่ GB เท่านั้น

e-Service Tax ภาษีที่คนไทย (อาจ) ต้องจ่าย เมื่อแพลตฟอร์มต่างชาติผูกขาดบริการ

ประเทศไทยเริ่มมีการเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มต่างชาติในอัตรา 7% ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2021 เป็นต้นไป โดยภาษีนี้มีชื่อเล่นว่า “ภาษี e-Service” ซึ่งเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการซื้อบริการดิจิทัลจากแพลตฟอร์มต่างชาติที่มีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการแก่ผู้ใช้ในประเทศไทย

โดยปกติแล้วเมื่อซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ภายในประเทศ เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ในอัตรา 7% โดย “ผู้ขาย” มีหน้าที่เก็บภาษีจากผู้ซื้อและนำส่งให้รัฐ ในกรณีที่ “ผู้ขาย” อยู่ต่างประเทศ การเก็บภาษีแทบเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากบริษัทต่างชาติเหล่านี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศไทย ไม่ได้ทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และบางบริษัทมีการจดทะเบียนจัดตั้งอยู่ในประเทศ “Tax Haven” หรือประเทศฐานภาษีต่ำ เช่น ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ หรือประเทศหมู่เกาะแถบแคริบเบียน โดย “ผู้ขาย” ประเภทนี้ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดเกิดความไม่เท่าเทียม เนื่องจากความเสียเปรียบจากการแบกรับภาระทางภาษี

หลายคนมีความกังวลว่า “ภาษี e-Service” อาจถูกผลักภาระมายังผู้บริโภคในรูปแบบของราคาสินค้าและบริการที่ต้องปรับตัวสูงขึ้น แต่อย่าลืมว่า “ผู้รับภาระทางภาษี” จะเป็นไปตามกลไกเศรษฐศาสตร์คือ “อุปสงค์” ว่าง่าย ๆ คือถ้าผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าและบริการได้มากแค่ไหน “ผู้ขาย” ยิ่งต้องสร้างการแข่งขันทางราคาเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าและบริการของตนนั่นเอง ดังนั้น การผลักภาระทางภาษีให้กับผู้บริโภคมากเกินไป อาจส่งผลกระทบที่ไม่คาดคิดได้

ยุคอวกาศของประชาชนเริ่มต้นแล้ว

ถ้าคุณเบื่อแล้วที่จะนั่งเครื่องบินเที่ยวรอบโลก อดใจไว้อีกนิด เพราะอีกไม่นานคุณอาจจะได้นั่งยานอวกาศเที่ยวนอกโลกกันแล้ว

ถือเป็นก้าวสำคัญของมวลมนุษยชาติเมื่อ SpaceX บริษัทเอกชนทางด้านธุรกิจการขนส่งทางอวกาศของ อีลอน มัสก์ ได้ทำภารกิจประวัติศาสตร์ในการส่งพลเรือนที่ไม่ใช่นักบินอวกาศไปสู่วงโคจรของโลกเป็นครั้งแรก ในภารกิจที่ชื่อว่า #Inspiration4 โดยจุดประสงค์หลักคือระดมเงินบริจาคให้โรงพยาบาลเด็กเซนต์จูด โดยทุกคนที่บริจาคเงิน จะได้รับสิทธิในการขึ้นยานที่ชื่อว่า Crew Dragon สำหรับขึ้นสู่วงโคจรโลกในครั้งนี้ ซึ่งผู้โชคดีจะมีแค่ 1 คนเท่านั้น

ผู้โชคดีก็คือ คริส เซ็มโบรสกี (Chris Sembroski) วิศวกรข้อมูลชาวอเมริกันและทหารผ่านศึกกองทัพอากาศซึ่งได้รับที่นั่งนี้เพราะเพื่อนที่จับรางวัลในนามผู้เข้าร่วมบริจาคเงินส่งต่อให้กับเขา โดยคริสเดินทางร่วมกับอีก 3 นักบินของทางโครงการได้แก่ จาเร็ด ไอแซกแมน (Jared Isaacman), ฌอน พร็อกเตอร์ (Dr. Sian Proctor) และ Hayley Arceneaux (เฮล์รี่ อาร์เซโนล์)

ปัจจุบันภารกิจ Inspiration4 ก็เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 16 กันยายน และกลับสู่พื้นโลกวันที่ 18 กันยายน 2021 โดยลูกเรือทั้ง 4 คนก็ไป-กลับ โลก-อวกาศอย่างปลอดภัย นั่นหมายความว่าอนาคตอันใกล้ การเดินทางไปเที่ยวโลก-อวกาศ อาจเป็นไปได้แล้ว!

(อ่านอีก 6 ข่าวได้ที่หน้า 2 เลย)

เปิดตัว Windows 11 วินโดวส์ยุคถัดไป

ในงาน Microsoft Windows Event เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ไมโครซอฟท์ ได้เปิดตัว Windows 11 ซึ่งเปิดตัวห่างจาก Windows 10 อยู่ 6 ปี ถือเป็นวินโดวส์ยุคต่อไปที่จะอยู่กับเราไปอีกหลายปี

โดย Windows 11 มีการยกเครื่องปรับหน้าตาใหม่ครั้งใหญ่ ให้ความรู้สึกร่วมสมัยมากขึ้น พร้อมทำให้การเข้าถึงฟีเจอร์ต่าง ๆ สะดวกสบายกว่าเดิม ไม่ว่าจะปุ่มต่าง ๆ บน Task Bar มีการรีดีไซน์ใหม่ย้ายมาวางไว้ตรงกลางเพื่อง่ายต่อการเข้าถึง หากใช้งานแบบแท็บเล็ต บน Windows 11 มีการทำคีย์บอร์ดมาเพื่อใช้แบบมือเดียว

และสำหรับชาวเกมเมอร์ Windows 11 ยังรองรับการแสดงสีแบบ Auto-HDR ให้กับเกมต่าง ๆ เพื่อให้แสดงสีสันได้สมจริงมากยิ่งขึ้น และมี Direct Storage เพื่อเข้าถึงพื้นที่เก็บข้อมูลได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ที่ฮือฮาที่สุดคือผู้ใช้จะสามารถดาวน์โหลดแอป Android ได้โดยตรงจาก Microsoft Store มาใช้งานบน Windows ได้

ผู้ใช้ Windows 10 จะสามารถอัปเกรดเป็น Windows 11 ได้ใช้งานฟรี แต่ก็มีดราม่าอยู่บ้างตรงที่ Windows 11 ต้องการสเปกของเครื่องที่จุกจิกกว่า Windows 10 พอสมควร ทำให้หลาย ๆ เครื่องก็ไม่ได้ไปต่อ หรือไม่สามารถอัปเกรดได้ง่ายนัก

Intel เปิดตัว Core Gen 12 เพื่อทวงบัลลังก์?

หลังจากเจ้าตลาดหน่วยประมวลผลอย่าง Intel เริ่มพลาดท่าให้กับ AMD เมื่อราว ๆ 4 ปีก่อน หลัง AMD ได้ปรับการออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ทั้งหมดให้ไฉไลและแรงขึ้นกว่าเดิม จนในที่สุดก็โค่นบัลลังก์ของ Intel ที่ครองมาได้กว่าทศวรรษได้

แล้วช่วงปี 2020-2021 Intel ก็ต้องเจอมรสุมที่ประดังประเดเข้ามาหลายเรื่อง ทั้งการตีจากของคู่หูอย่าง Apple พร้อมการกำเนิด Apple Silicon ก็ทำให้ Intel สะบักสะบอมหนัก แม้ภายนอกเราอาจจะมองว่า Intel จะต้องพ่ายแพ้อย่างกู่ไม่กลับแน่ ๆ แต่ Intel ก็ไปซุ่มพัฒนาอาวุธลับตัวใหม่คือ Intel Core Gen 12 ที่เปิดตัว 27 ตุลาคมนั่นเอง

ถามว่า Intel Gen 12 นั้นดียังไง ก็ต้องพูดถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมก่อนเลย Intel ยอมทิ้งทุกสิ่งอย่าง และก่อร่างสร้างสถาปัตยกรรมใหม่ขึ้นมาในชื่อ Alder Lake พร้อมจุดเด่นเรื่องความไฮบริด ที่ใส่แกนประมวลผลมาสองประเภทนั่น คือ คอร์ใหญ่ หรือ P-core (Performance Core) และ คอร์เล็ก หรือ E-Core (Efficiency Core) หากถามว่ามันดีกว่าซีพียูเดิมยังไง ก็ต้องบอกว่า การแยกคอร์ใหญ่และคอร์เล็กนั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลให้ดีขึ้น เช่น ถ้าเราต้องการเล่นเกมที่ใช้การประมวลผลหนัก ๆ คอร์ใหญ่ก็จะรับหน้าที่นั้นไป แต่ในขณะเดียวกันเราก็ทำการไลฟ์ หรือเปิดเพลงฟังไปด้วย คอร์เล็กก็จะเข้ามารับบทบาทในส่วนนี้ เรียกว่ามีคอร์ที่เหมาะกับประเภทงาน

ข้อดีอีกอย่างคือจะช่วยเรื่องการประหยัดไฟด้วย ส่วนจุดที่ทำให้หลายคนในวงการคอมรู้สึกตื่นตาตื่นใจ คือ ผลทดสอบของ Intel Core i5-12600k แรงกว่า Intel Core i9-11900k ในหลาย ๆ การทดสอบเลย (อ้างอิง) ส่วนผลการทดสอบข้ามค่ายก็เห็นว่าแรงกว่านะ (อ้างอิง / อ้างอิงสอง) ต้องยอมรับว่าครั้งนี้ Intel กลับมาได้อย่างยิ่งใหญ่เลยค่ะ

แต่ Intel จะสามารถทวงบันลังก์กลับมาได้ไหม คงต้องรอดูการเปิดตัวของค่าย AMD ในปีหน้าอีกที

บริษัท Meta ของ Mark Zuckerberg

ถ้าจะพูดถึงข่าวที่ฮือฮามากที่สุดในโลก ในปี 2021 ที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นต้องมีข่าว Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2021 อย่างแน่นอน คำถามสำคัญต่อมาทำไมต้องเป็น Meta ละ!

Meta มาจากคำว่า Metaverse ถ้าแปลไทยแบบราชบัณฑิตยสภาจะเรีียกว่า ‘จักรวาลนฤมิต’ แต่ถ้าแปลแบบเข้าใจง่าย คือ โลกเสมือนที่เราจะสามารถเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้นได้ โดยผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อ เช่น แว่น VR ที่จะช่วยให้เรามองเห็นโลกเสมือนแบบ 360 องศา จริงอยู่ว่าเราสามารถใช้สมาร์ตโฟน หรือคอมพิวเตอร์ในการเชื่อมต่อได้เช่นกัน แต่ประสบการณ์ที่ได้รับก็ไม่สมบูรณ์แบบ เพราะเรายังต้องมองผ่านจอ ไม่ใช่เข้าไปอยู่จริง ๆ

ประโยชน์ของ Metaverse คือการสร้างโลกในฝัน ที่เปิดโอกาสให้คุณไปสนุกได้ คุณอยากจะเป็นใคร หรือสัมผัสโลกแบบไหน Metaverse จะสร้างได้หมด เช่น โลกไดโนเสาร์, โลกยุคกรีก-โรมัน หรือแม้แต่การเป็น Ironman ก็สามารถทำได้ และเพื่อให้ประสบการณ์โลกจำลองสมจริงยิ่งขึ้น ล่าสุด Meta ได้เปิดตัว Haptic Glove หรือถุงมือสะท้อนแรง ที่จะช่วยให้คุณหยิบ จับ สัมผัส ทุกสิ่งอย่างในโลกเสมือนจริงนี้ได้ แม้ปัจจุบันจะเป็นแค่รุ่นทดสอบ แต่ก็เป็นการสะท้อนว่า Metaverse จะไม่ใช่การแค่การใส่แว่นและมองเห็น แต่จะเป็นการใช้ชีวิตจริง ๆ บนโลกเสมือนเลย

ซึ่งการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Facebook เป็น Meta ก็แสดงความชัดเจนว่าต่อไปนี้บริษัทของ Mark Zuckerburg จะมุ่งเน้นไปที่ Metaverse ซึ่งหลังจากข่าวการเปลี่ยนชื่อบริษัทนี้ออกมา โลกของเราก็มีแต่คำว่า Meta เต็มไปหมดจนกลายเป็นเทรนด์

Bitkub ขายหุ้นให้ SCB ขึ้นสู่ยานแม่ในฐานะยูนิคอร์นตัวที่ 3 ของไทย

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา “กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” ประกาศเข้าลงทุนใน “บิทคับ ออนไลน์” เจ้าของกระดานเทรดเหรียญดิจิทัล “Bitkub.com” ส่งผลให้ “Bitkub” ขึ้นเป็นยูนิคอร์นตัวที่ 3 ของไทย

“กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” ได้ดำเนินการผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (หรือ SCBS) ในการเข้าซื้อหุ้นสามัญ และกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด เจ้าของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล “Bitkub.com” จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท ส่งผลให้ “Bitkub” ขึ้นเป็นยูนิคอร์นตัวที่ 3 ของไทย ถัดจาก “แฟลช เอ็กซ์เพรส” และ “แอสเซนด์ มันนี่”

ในอีก 5 ปีข้างหน้า “กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” มีเป้าหมายในการเป็นบริษัทระดับภูมิภาคที่มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศกว่า 200 ล้านคน จากเดิม 16 ล้านคนในปัจจุบัน โดยการลงทุนใน “บิทคับ ออนไลน์” คาดว่าจะทำให้ “กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 1 ล้านคนที่เป็นลูกค้าของ “Bitkub.com” อยู่ในตอนนี้

ซึ่งเราก็เห็นความเคลื่อนไหวของ Bitkub ที่มากขึ้นในช่วงท้ายปี 2021 ที่มีการร่วมงานกับบริษัทอื่น ๆ มากมาย ซึ่งก็น่าติดตามต่อว่าในปี 2022 จะสร้างความคึกคักให้ตลาดไทยได้มากขนาดไหน

true x dtac จับมือตั้งบริษัทใหม่ ทุน 200 ล้านเหรียญ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2021 ข่าวใหญ่แห่งปีของวงการโทรคมนาคมไทย คือการจับมือกันระหว่าง True จากเครือซีพี และ dtac จากกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) เพื่อจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี หรือ Tech Company ใหม่

ซึ่งความร่วมมือกันครั้งนี้ มีเป้าหมายในการสร้าง Eco-system ด้านการลงทุนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลมีเดียแพลตฟอร์ม คลาวด์เทคโนโลยี และระบบนิเวศด้านการลงทุน อีกทั้ง 2 บริษัทจะมีการจัดตั้งกองทุนร่วมกันประมาณ 200 ล้านเหรียญ ในการสนับสนุนผู้ประกอบการ และเทคสตาร์ตอัปไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 บริษัทกำลังอยู่ในช่วงการขออนุมัติและการดำเนินตามขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าเราจะได้เห็นบริษัทนี้เป็นรูปเป็นร่างในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2022

แต่การจับมือเพื่อตั้งบริษัทใหม่ครั้งนี้ของ True และ dtac ก็ยังเผชิญแรงกดดันจากหลายด้าน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการสูญเสียการแข่งขันในตลาด และการผูกขาดตลาด ซึ่งต้องติดตามกันต่อว่าดีลนี้จะสำเร็จได้จริงหรือไม่

POPCAT คนไทยตั้งใจทำอะไร ไม่แพ้ชาติใดในโลก

เราขอแถมข่าวสุดท้าย ที่อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบกับชีวิตมากนัก แต่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยถ้าจะสามัคคีกันก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก! กับกรณีเจ้าแมวน้อย Popcat ทำปากเสียงดัง ‘เป๊าะ!’

Popcat มีการเก็บคะแนนจากแต่ละประเทศมารวมบน Leaderboard แข่งกันทั่วโลกที่พาประเทศไทยขึ้นครองอันดับหนึ่งไปได้สักพัก (และถูกแซงไปในภายหลัง เศร้า T T) ซึ่งจริง ๆ เจ้าแมวตัวนี้เป็นมีมบนโลกอินเตอร์เน็ตเนี้ยแหล่ะ แต่ได้ถูกนักศึกษาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัย Sheffield 3 หน่อ นำไปทำเป็นเว็บไซต์ที่ใช้เป็น Portfolio ที่ก็สร้างทิ้งไว้ตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2020

และดังขึ้น ๆ จนในช่วงเดือนเมษายน ปี 2021 ที่ผ่านมา เว็บไซต์เกม POPCAT ก็ได้รับความสนใจและเข้ามาเล่นเป็นจำนวนไม่น้อย และแน่นอนสิ่งที่ทำให้ผู้คนสนใจในเกมนี้ก็คือระบบ Leaderboard ของเกมที่เผยอันดับว่าประเทศไหนมีจำนวนยอดคลิกมากกว่ากัน ซึ่งส่งผลทำให้ตัวเกมนั้นกลายเป็นงาน Olympics ที่จัดแข่งขันบนอินเทอร์เน็ตเลยก็ว่าได้!

ดูแบบคลิปได้ที่นี่เลย : สรุปข่าวไอทีและเทคโนโลยีแห่งปี 2021 จากแบไต๋

และนี้คือ 10+1 ข่าวไอทีแห่งปี 2021 จากแบไต๋ และติดตามเนื้อหาไอทีจากพวกเรากันต่อในปี 2022

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส