ในโอกาสที่การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีใกล้เข้ามาในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของประชาชน ว่าจะเลือกใครเป็นผู้แทนหรือผู้นำประเทศ

ในวันที่ 18 พ.ย. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร Boonmee Lab, Minimore และ The MATTER จึงร่วมกันเปิดตัวเว็บไซต์สื่อข้อมูลการเมืองและการเลือกตั้ง Elect.in.th ด้วยหวังว่าจะเป็นอีกแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับประชาชนใช้ตรวจสอบนโยบาย ประวัติ และผลงานของผู้เสนอตัวเข้ามารับใช้ประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ในรูปแบบที่สนุกและเข้าใจง่าย ที่สำคัญคือใช้อ้างอิงได้เพราะข้อมูลต่างๆ หยิบมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล บรรณาธิการบริหาร The MATTER

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล บรรณาธิการบริหาร The MATTER กล่าวว่าเว็บไซต์ elect.in.th จะเป็นพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นให้กับประชาชน พร้อมเชื่อว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ สื่อโซเชียลมีเดียจะมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม และจะเป็นช่องทางหลักที่ประชาชนจะได้เข้าถึงข้อมูลของพรรคการเมืองต่าง

เราอยากสร้างตัวช่วยในการหาข้อมูล คนเราอาจมีเรื่องที่สนใจที่แตกต่างกันไป เช่น พรรคแต่ละพรรคมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องเงินดิจิทัล หรือเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร ถ้าคนได้รู้ข้อมูลจากคำปราศรัยจากหัวหน้าพรรคการเมือง หรือจากโฆษกของพรรค ประชาชนก็จะได้รู้ว่านโยบายของพรรคที่เขาสนใจมันเป็นอย่างไรบ้างทีปกร วุฒิพิทยามงคล บรรณาธิการบริหาร The MATTER

ด้านนาย พงษ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการข่าว The MATTER เสริมว่า ที่ผ่านมาได้ลองสอบถามคนรุ่นใหม่หลายคน สิ่งที่พบคือส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องระบบเลือกตั้งมากนัก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนบัตรเลือกตั้ง ระบบการคิดคะแนน รวมถึงกระบวนการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเว็บไซต์ elect.in.th มีเป้าหมายที่จะให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

บรรณาธิการข่าว The MATTER ระบุว่า เด็กวัยรุ่นจำนวนไม่น้อย พวกเขาอยากเลือกตั้ง แต่หลายคนก็ไม่รู้ข้อมูลมากนัก บางคนมองว่าเลือกตั้งไปก็เท่านั้น เพราะยังไม่มั่นใจว่าเสียงของพวกเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ดังนั้น โปรเจ็กต์นี้ย่อยข้อมูลที่ยากๆ และซับซ้อนให้ง่ายและน่าสนใจขึ้น เช่น เรื่องระบบเลือกตั้ง นโยบายของพรรค ประวัติผู้สมัครต่างๆ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่า ถ้าเลือกพรรคการเมืองที่เขาสนใจไปแล้ว เขาจะได้อะไรบ้าง

ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ผู้บริหาร Boonmee Lab อธิบายเสริมว่า เว็บไซต์ elect.in.th จะสามารถสร้างแรงกดดันให้กับรัฐได้ เพราะเมื่อเอกชนได้ลุกขึ้นมารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้ว คำถามจะเกิดขึ้นว่าในตอนนี้ภาครัฐได้เปิดเผยข้อมูลกับสังคมเพียงพอแล้วหรือยัง เพื่อที่จะให้ประชาชนผู้มีสิทธิได้เข้าใจการเลือกตั้งได้ และสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ในสังคมได้มากขึ้น

“เมื่อก่อนเวลาเราไปเลือกตั้ง เรายังไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับนโยบายมากนัก โดยเฉพาะวัยรุ่นหลายคนที่ยังไม่เลือกตั้งมาก่อน พวกเราจึงอยากทำอะไรสักอย่าง เพื่อสื่อสารถึงข้อมูลการเลือกตั้งต่างๆ ออกไปให้กับสังคม”

ดร.ภูริพันธุ์ รุจิขจร Data Specialist จาก Boonmee Lab

ด้าน ดร.ภูริพันธุ์ รุจิขจร Data Specialist จาก Boonmee Lab ยกตัวอย่างการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งที่ผ่านมา โดยมองว่าเป็นภาพสะท้อนที่ภาครัฐและเอกชน รวมถึงสื่อมวลชนได้ถึงการจัดทำเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ค่อนข้างหลากหลาย และเป็นประโยชน์ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ข้อมูลที่เว็บไซต์ elect.in.th ได้เริ่มเผยแพร่แล้วมีสามชิ้น ได้แก่ ไทม์ไลน์การเลือกตั้งที่สื่อให้เห็นว่าสังคมไทยรอคอยการเลือกตั้งมานานแค่ไหนแล้ว และถ้าจะต้องมีการเลื่อนอีกครั้ง เราจะต้องรอต่อไปกันนานแค่ไหน ชิ้นที่สองคือการเปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐานของพรรคต่างๆ และชิ้นที่สามคือ การออกแบบโลโก้พรรคการเมืองของคุณ ที่จะทำให้คนที่เข้ามาออกแบบรู้ว่าตัวเขาสนใจประเด็นอะไรบ้างในการเลือกตั้งครั้งนี้