ช่วงนี้เราคงได้เห็นข่าวด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มกลับมากระทบโดยตรงกับมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะปัญหาพบพลาสติกปนเปื้อนในธรรมชาติ ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่สูงจนน่ากลัว และล่าสุดมนุษย์ไทยอย่างพวกเราก็กำลังเผชิญกับภาวะภัยแล้งแบบเต็มรูปแบบตั้งแต่เปิดศักราชใหม่นี้อีกด้วย

รูปแบบใหม่ของภัยแล้งที่คนกรุงจะต้องเผชิญ

ในปี 2558 ประเทศไทยก็เคยเข้าสู่ภาวะภัยแล้งหนักมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยรูปแบบที่เห็นเจนตาคือพื้นที่ไร่นาแห้งดินแข็งเป็นฝุ่น แหล่งน้ำแม่น้ำบางสายตื้นเขินจนเห็นท้องน้ำโผล่ขึ้นมา แต่นั้นเป็นการรับรู้ที่เรา ๆ ชาวเมืองทั้งหลายสัมผัสผ่านทางข่าวสารเสียมาก แต่ด้วยการจัดการบริหารน้ำกับการเสียสละของพี่น้องเกษตรในครั้งนั้นก็ได้ช่วยคนเมืองไว้ จนเรา ๆ แทบไม่รู้สึกถึงผลกระทบภัยแล้งอย่างเป็นรูปธรรมกับตัวนัก ทำให้เราไม่มีภูมิคุ้มกันต่อการรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่จะมาถึงตัว เพราะภัยแล้งไม่ได้มีแค่ภาคของการไม่มีน้ำอย่างเดียว แต่การขาดน้ำจืดที่ปกติจะมาผลักดันน้ำทะเลตรงปากแม่น้ำไว้ไม่ให้รุกสูงเข้ามาในแผ่นดิน ก็ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับชุมชนหรือเมืองที่ใกล้ทะเลอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยปัญหาที่กระทบตามมาอย่างที่เราไม่เคยคิดว่าใกล้ตัวเลยก็คือ น้ำประปามีรสกร่อย นั่นเอง

สาเหตุที่น้ำประปามีรสกร่อย

ทั้งนี้แม้การผลิตน้ำประปาในกรุงเทพจะใช้การสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในจุดที่อยู่สูงขึ้นไปจากปากแม่น้ำไกลมากถึงจังหวัดปทุมธานี ซึ่งตลอดกว่าหลายสิบปีหรืออาจถึงร้อยปีที่ผ่านมามันเคยเป็นจุดเซฟโซนที่น้ำทะเลไม่เคยหนุนสูงไปถึงเลย ทั้งว่าระดับน้ำทะเลหนุนก็ไม่ได้สูงอย่างในปัจจุบันที่รับผลจากภาวะโลกร้อน รวมถึงแหล่งน้ำจืดจากฝนตามฤดูกาลที่ไหลลงมาจากตอนบนของประเทศก็มีมากมหาศาลช่วยผลักดันน้ำเค็มเอาไว้ได้สบาย ๆ แต่ตั้งแต่เรารู้จักกับคำว่า โลกร้อน และปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ที่ได้ยินหนาหูขึ้นในช่วงหลังมา เราก็เริ่มเจอกับทั้งสภาวะน้ำทะเลที่สูงขึ้น

โดยนักวิจัยจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้คำนวณมาว่าหากมนุษย์ยังไม่หยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้ำทะเลจะสูงขึ้น 3 มิลลิเมตรต่อปี และจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร็วกว่าเดิม สุดท้ายระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิมถึง 1.1 เมตรภายในปี 2100 หรืออีก 81 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว และอีกด้านสภาพการณ์ที่แล้งเกินปกติ (เอลนีโญ) หรือฝนมากผิดปกติ (ลานีญา) ก็จะสลับสับเปลี่ยนกันไปจนทำตัวไม่ถูก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์ทำต่อโลกด้วยส่วนหนึ่งนั่นเอง

ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาเราก็อยู่ในช่วงของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ทำให้ภาพรวมฝนตกน้อยกว่าปกติ แถมเคราะห์ซ้ำว่าฝนที่ตกมาก็ตกนอกพื้นที่เขื่อนหรือที่กักเก็บน้ำเสียส่วนมาก (มาตกอยู่ในเมืองจนน้ำขังรอการระบาย หรือไปหนักเอาพื้นที่อย่างจังหวัดในอีสานครั้งที่ผ่านมานั่นล่ะ) ทำให้ระดับน้ำจืดสะสมในปีก่อนจนถึงปีนี้น้อยกว่าปกติเข้าไปอีก จนมีการประเมินแล้วว่าสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำเค็มรุกสูงปี 2563 นี้ หนักสุดในรอบ 50 ปีเลยทีเดียวจากหลายปัจจัยที่ว่ามาผสมกัน แล้วพอมาถึงช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงอย่างในช่วงนี้ น้ำจืดที่จะถูกบริหารจัดการมาผลักดันก็เลยมีจำกัด และนั่นก็ทำให้น้ำเค็มรุกขึ้นสูงได้ถึงจุดที่สูบน้ำดิบจากเจ้าพระยาเข้ามาทำน้ำประปา มันก็ทำให้น้ำประปามีรสกร่อยตามไปด้วย

ถ้าถามว่าแล้วระบบการผลิตน้ำประปาของไทยไม่สามารถกำจัดความเค็มได้หรือ?

ก็ต้องไปดูว่าไทยเราใช้ระบบการผลิตน้ำประปาแบบการตกตะกอน การกรองเพื่อกำจัดความขุ่นและสิ่งปะปนในน้ำดิบ แล้วจึงฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ด้วยคลอรีนให้มีความสะอาดปลอดภัย ซึ่งเพียงพอต่อมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดว่าสามารถใช้บริโภคอุปโภคได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งขั้นตอนที่ว่ามาไม่สามารถกำจัดความเค็มได้ เพราะไม่ได้มีเป้าประสงค์ที่จะต้องนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืดแบบประเทศที่ขาดแหล่งน้ำจืดอย่างสิงคโปร์ที่จะต้องยอมใช้ระบบการผลิตน้ำประปาที่ซับซ้อนและอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือราคาค่าน้ำประปาในสิงคโปร์ที่สูงมากตามไปด้วย (ค่าน้ำประปาบ้านในกรุงเทพอยู่ที่ประมาณ 10 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่บ้านทั่วไปในสิงคโปร์อยู่ที่ราว ๆ 53 บาทต่อลูกบาศก์เมตร) เมื่อมองความคุ้มค่าแล้วจึงไม่มีเหตุผลที่เราต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสกัดแร่ธาตุในน้ำออกแล้วทำให้ราคาน้ำประปาแพงเกินความจำเป็น (ซึ่งในอนาคตก็อาจเลี่ยงไม่ได้ถ้าสถานการณ์โลกร้อนยังไม่ดีขึ้น)

แล้วจะเจอภัยแล้งแบบนี้ไปนานเท่าไหร่?

ก็ตั้งแต่ตอนนี้ยาวไปถึงเดือนพฤษภาคมซึ่งปกติจะสิ้นสุดฤดูร้อน หรือจนกว่าจะเข้าช่วงหน้าฝนเลยนั่นล่ะ ก็หวังว่าจะมีปริมาณน้ำฝนมากพอลงเขื่อนต่าง ๆ สำหรับปีถัด ๆ ไปด้วยล่ะนะ

รับมือฝุ่น PM2.5 ได้ ก็รับมือภัยแล้งได้จากวิธีคิดใกล้เคียงกัน

เพื่อป้องกันการตระหนกเกินไป เพราะจริงแล้วมันไม่ได้มีผลร้ายแรงอย่างที่กลัว ๆ กัน เดี๋ยวจะใช้ชีวิตไม่มีความสุข แค่ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทก็เพียงพอ และอยากให้มองว่าจริง ๆ แล้วเรานำประสบการณ์จากภาวะฝุ่น PM2.5 สูงมาปรับตัวรับมือสถานการณ์นี้ได้ ไม่ว่าจะเรื่องการอ่านค่าต่าง ๆ เตรียมตัวให้เหมาะสมในแต่ละวัน ตลอดจนการแก้ปัญหาระยะยาว ถ้าเราผ่านเรื่องฝุ่นกันมาได้ เราก็จะผ่านเรื่องน้ำกร่อยนี้ไปได้เช่นกัน

  • ก็เหมือนฝุ่นบางช่วงที่ค่าเหลือง ๆ ส้ม ๆ คนธรรมดาก็ไม่มีอาการอะไร ต้องเข้าใจก่อนว่าน้ำรสกร่อยในตอนนี้มีผลแค่ต่อความรู้สึกน่าดื่มน่าทาน แต่ไม่มีผลอันตรายต่อสุขภาพสำหรับคนทั่วไป รู้แบบนี้ก็ไม่ต้องตระหนกตกใจเกินไปสำหรับคนทั่วไป แต่ที่ต้องระวังคือคนกลุ่มเสี่ยงตามที่กรมอนามัยออกมาแนะนำ ได้แก่
    • ผู้ที่มีความอ่อนไหวต่อความเค็มอย่างกลุ่มผู้ป่วย โรคไต โรคเบาหวานโรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคทางสมอง
    • คนแก่หรือเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัยที่ร่างกายจัดการความเค็มได้ไม่มาก
    • พวกสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวด้วยนั่นเอง
    • กลุ่มเหล่านี้จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำกร่อย และควรมีน้ำดื่มสำรองไว้ ส่วนน้ำใช้อื่น ๆ ในชีวิตประจำวันก็ยังใช้น้ำประปาได้ปกติล่ะ
  • ก็เหมือนฝุ่นบางพื้นที่ก็ค่าขึ้นแดง บางพื้นที่ก็เขียวเชียว ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะเจอปัญหาน้ำกร่อย สำหรับเรื่องน้ำกร่อย ต้องเข้าใจว่าการประปานครหลวงมีแหล่งน้ำดิบในการผลิต 2 แหล่งสำคัญคือ แม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำแม่กลอง แต่มีเพียงแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้นที่มีปัญหา
    • ดังนั้นฝั่งที่รับน้ำจากแม่น้ำแม่กลองหรือฝั่งตะวันตก ได้แก่อำเภอบางบัวทอง ไทรน้อย บางใหญ่ บางกรวย ของจังหวัดนนทบุรี และเขตตลิ่งชัน ภาษีเจริญ หนองแขม บางขุนเทียน ของกรุงเทพมหานครจึงไม่เจอปัญหาน้ำรสกร่อย ก็สบายใจได้ไม่ต้องตื่นตกใจ
    • ฝั่งที่จะเจอน้ำกร่อยคือ ส่วนที่เหลือในเขตพื้นที่กรุงเทพ นนทบุรี และสมุทรปราการ แต่ก็อย่าเพิ่งตกใจเกินไปอีกเพราะ..
  • ก็เหมือนค่าฝุ่นเมื่อวานแดงเถือก วันนี้อาจเหลืองอาจเขียวก็ได้ ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกช่วงเวลาที่น้ำจะกร่อย ในรอบวัน ๆ หนึ่งมีช่วงระดับน้ำทะเลหนุนสูงต่างกัน บางช่วงน้ำทะเลลงน้ำจืดก็ผลักได้มาก น้ำก็ไม่กร่อย บางช่วงน้ำทะเลหนุนสูงถ้าไม่นานเป็นวันหรือค่อนวัน การประปาก็จะสามารถหยุดรับน้ำเข้ามาก็เลี่ยงน้ำเค็มเข้าระบบผลิตไปในตัว แต่ถ้าน้ำทะเลหนุนสูงกันเป็นวัน ก็ยากที่จะหยุดรับน้ำตลอดเพราะต้องผลิตน้ำเลี้ยงคนกรุงเทพเป็นสิบล้านคนต่อวันด้วย ช่วงไหนน้ำทะเลหนุนสูงนานนั่นล่ะเราถึงจะเจอน้ำประปารสกร่อย
  • เหมือนค่าฝุ่นเราต้องรู้ว่าค่าไหนคือเหลือง ค่าไหนคือแดง ต้องรู้ว่าคนปกติรับความเค็มได้เท่าไหร่ หรือเริ่มรู้สึกกร่อยเมื่อไหร่จะได้ไม่ประมาท
    • คราวนี้ก็ต้องเข้าใจหน่วยวัดเวลาอ้างอิงความเค็มนี้ก่อน สิ่งที่ทำให้เกิดความเค็มของน้ำ ก็คือการที่มีเกลือแกงละลายอยู่เป็นองค์ประกอบหลักของน้ำทะเล ซึ่งเกลือแกงนั้นเป็นการรวมกันของธาตุ 2 ชนิด คือ โซเดียมและคลอไรด์ เวลาวัดเขาจะวัดตัวใดตัวหนึ่ง มันก็เลยมีทั้งหน่วยที่ใช้ค่าโซเดียม หรือใช้ค่าคลอไรด์ ซึ่งทั้ง 2 ตัวก็เป็นค่าที่ระบุความเค็มทั้งคู่ แต่ตรงนี้เขาก็แนะนำว่าสำหรับน้ำประปาให้ดูจากค่าคลอไรด์เป็นหลัก เพราะทางการประปานครหลวงจะใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงเวลาแจ้งข่าวต่าง ๆ เราก็จะได้เข้าใจง่ายไม่ต้องไปคำนวนกลับเป็นโซเดียมหรือเกลือแกงอะไรให้วุ่นวาย
    • โดยระดับค่าที่จะเริ่มรู้สึกว่าน้ำประปากร่อย ให้ดูที่ค่าคลอไรด์ว่าแตะถึง 250 มิลลิกรัมต่อลิตรหรือไม่ ถ้าเกินจากค่านี้เราจะเริ่มรู้สึกรสกร่อยและบางคนอาจเริ่มไม่อยากดื่ม แต่ก็ยังไม่อันตรายต่อการดื่มสำหรับคนทั่วไป คือถ้าไม่ซีเรียสเรื่องรสชาติก็ดื่มไปได้ปกตินั่นล่ะ
    • ส่วนค่าที่ต้องระวังก็ไม่ถึงกับตายตัวแต่มีข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่าปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อร่างกาย คือ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (คิดเป็นคลอไรด์คือประมาณ 3,000 มิลลิกรัม) นั่นเท่ากับว่าการดื่มน้ำประปาที่เริ่มกร่อย 2 ลิตร (คลอไรด์ประมาณ 500 มิลลิกรัม) ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการน้ำต่อวัน ก็จะคิดเป็นเพียง 16.6% ของคลอไรด์ที่ร่างกายต้องการต่อวันเท่านั้นเอง
    • แต่ที่น่าตกใจคือผลการสำรวจของกรมอนามัยกลับพบว่าที่ผ่านมาหลายต่อหลายปี คนไทยได้รับโซเดียมจากการทานอาหารโดยเฉลี่ยสูงถึง 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวัน (คิดเป็นคลอไรด์ประมาณ 6,527.5 มิลลิกรัม) เป็นปกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้กว่า 2 เท่าแล้ว ซึ่งอันนี้น่าห่วงกว่าการบริโภคน้ำประปารสกร่อยเสียอีก คือที่เขาแนะนำว่าให้ลดเครื่องปรุงรสเนี่ยคิดอีกทีก็ไม่ตลกนะ ควรลดเค็มโดยไม่ต้องเกี่ยวกับน้ำประปารสกร่อยเลยได้แล้วล่ะคนไทย เพราะมันเสี่ยงเป็นโรคความดันสูง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ และโรคไต ได้เยอะเลย
  • ได้เวลาติดอาวุธไฮเทคไว้แบบเครื่องวัดค่าฝุ่นเรียลไทม์ได้แล้ว แล้วจะไปอ่านค่าคลอไรด์ได้ที่ไหนล่ะเนี่ย?
    • โชคดีที่การประปานครหลวงมีเว็บให้เราตรวจดูค่าต่าง ๆ ของน้ำประปาได้แบบเรียลไทม์ ที่ http://twqonline.mwa.co.th/ แนะนำให้เลือกดูเป็นค่าคลอไรด์ซึ่งทางการประปาใช้เป็นเกณฑ์แจ้งข่าวต่าง ๆ จะได้เข้าใจง่าย
    • หรือโหลดแอป MWA onMobile เข้าไปดูตรงหน้า คุณภาพน้ำ แล้วกดเลือก ตั้งค่าแผนที่ ตรงด้านล่าง จากนั้นกดเลือกแสดงค่าคลอไรด์ แล้วเลือกดูพื้นที่ใกล้บ้านของท่าน
    • ทั้ง 2 ช่องทางก็แนะนำให้ดูค่าคลอไรด์ถ้าเกิน 250 คือเริ่มกร่อยนั่นเอง ถ้าช่วงไหนค่าไม่ถึงก็แนะนำสำหรับคนที่ไม่ชอบรสกร่อยหรือคนที่เป็นโรคกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ให้สำรองเก็บน้ำประปาช่วงนั้นไว้ดื่ม
  • แล้วถ้าเจอฝุ่นยังมีหน้ากากหรือเครื่องกรองฝุ่น สำหรับเรื่องน้ำมีเครื่องกรองที่กำจัดความเค็มได้ไหม? อันนี้ก็จะพ่วงกับคำถามที่ว่าถ้าระบบการผลิตประปากำจัดความเค็มไม่ได้ แล้วเราสามารถกำจัดความเค็มหรือกร่อยนี้ได้เองมั้ย คำตอบคือได้ แต่ต้องพิจารณาความคุ้มค่าด้วย
    • ต้องย้ำก่อนเลยว่ากระบวนการที่จะทำให้น้ำประปาไม่มีแร่ธาตุหรือความเค็มนั้น จะใช้การต้ม หรือการกรองตามปกติ ไม่ทำให้ความเค็มหายไป
    • แต่ต้องใช้การกลั่น หรือผ่านเครื่องกรองน้ำชนิด RO (Reverse Osmosis) หรือเครื่องผลิตน้ำบริสุทธิ์ที่ดึงไอออนของแร่ธาตุออกได้ประเภท DI (Deionized Water) ถึงจะช่วยได้ แต่ราคาของเครื่องกรองน้ำประเภทนี้ก็มักสูงกว่าปกติประมาณ 2-5 เท่า (หลักหมื่นก็มี) แล้วแต่รุ่นและยี่ห้อ ใครสนใจติดบ้านไว้ก็ลองดูความคุ้มค่า เพราะคนร่างกายแข็งแรงปกติก็ไม่มีผลร้ายแรง และเราอาจไม่ได้เผชิญภัยแล้งหนักเช่นนี้ทุกปี นอกจากนี้ยังควรต้องคำนึงถึงการรับประทานน้ำที่ตัดเกลือแร่ออกเป็นประจำอาจทำให้ร่างกายขาดแร่ธาตุไปด้วย พวกน้ำบรรจุขวดที่ใช้กรรมวิธี RO ถึงต้องเติมแร่ธาตุเข้าไปในกระบวนการด้วยนั่นเอง
    • หรือทางออกที่ง่ายอีกทางคือซื้อน้ำบรรจุขวดมาดื่มตามความจำเป็น ก็สะดวกและไม่แพงมากด้วย

แล้วมีทางเลือกอื่นอีกมั้ยถ้าอยากได้น้ำมาดื่มแบบไม่เสียเงินมาก?

เท่าที่ทราบทางราชการก็มีมาตรการมาช่วยเหลือพวกเราอยู่เหมือนกัน ช่องทางหนึ่งคือ การประปานครหลวงจะมีจุดแจกน้ำประปาซึ่งนำมาจากฝั่งแม่กลองที่ไม่มีปัญหาความเค็ม มาให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 6 มกราคมนี้เป็นต้นไป ตามสำนักงานประปาสาขาทั้ง 18 สาขา ก็ลองดูว่าใกล้บ้านเราคือที่ไหนแล้วนำภาชนะไปรองน้ำกลับมาสำรองไว้ดื่มกัน ทั้งนี้ลองสอบถามรายละเอียดอีกทีกับทางการประปานครหลวง โดยสอบถามทาง call center โทร. 1125 รวมทั้ง เพจ Facebook และ Line@ ในชื่อ @MWAthailand ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ก็รอติดตามวิธีการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กันต่อไป

การแก้ปัญหาที่ถาวร

พูดไปก็เหมือนเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ว่าสุดท้ายมันก็ปัญหาที่วังวนเดิมคือ มนุษย์เราทำร้ายโลกมามากจนสภาพอากาศเปลี่ยนไป แล้วสุดท้ายผลกระทบก็กลับมาที่พวกเราทุกคนเอง ในระดับมหภาคก็ต้องพึ่งพารัฐบาลหรือองค์กรระดับประเทศบริหารจัดการอย่างเป็นระบบซึ่งอันนั้นเราก็เกินเอื้อมจะไปจับต้อง ในฐานะมนุษย์ธรรมดา ๆ คนหนึ่งเราก็เลือกได้ว่าระยะสั้น-กลางก็ได้แค่พยายามปรับตัวอยู่ให้ได้กับปัญหาทั้งหลาย ทั้งพลาสติก ฝุ่น และน้ำ ส่วนในระยะยาวมันก็ต้องช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาดีขึ้นล่ะนะ ลดการใช้ถุงพลาสติกได้ ลดการเผาในที่โล่งได้ ก็ต้องช่วยกันประหยัดน้ำกันได้ และต้องไม่ใช่แค่ช่วงฤดูแล้ง เพราะถ้าทำได้ตลอดเราก็จะมีน้ำต้นทุนเก็บในเขื่อนมากขึ้นมีปัญหาในช่วงแล้งน้อยลง เริ่มได้วันนี้ก็เริ่มชนะตั้งแต่วันนี้ แล้วพวกเราก็จะรอดไปด้วยกัน

อ้างอิง:

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส