ในปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศกำลังเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะไม่ว่าจะหลบเข้าอาคาร หรือแม้แต่ใส่หน้ากากก็เหมือนจะเอาไม่อยู่ซะแล้ว มลภาวะทางอากาศเหล่านี้ยังส่งผลเสียมากมายต่อร่างกายทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหมุนเวียนโลหิต ทารกในครรภ์ ที่สำคัญมันยังส่งผลให้เรามีอัตราเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า และมีโอกาศฆ่าตัวตายสูงขึ้นอีกด้วย

งานวิจัยค้นพบว่านอกจากการสูดอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ จะทำให้ร่างกายของเราได้รับผลกระทบทางกายภาพแล้ว ทางด้านจิตใจของเราก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน Isobel Braithwaite จากมหาวิทยาลัยลอนดอนและเพื่อนร่วมทีมของเธอ ได้ทำการรีวิวงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์กว่า 25 ฉบับ จนถึงปลายปี 2017 เพื่อหาความเชื่อมโยงเกี่ยวกับสุขภาพจิต และมลภาวะทางอากาศ

พวกเขาพบว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่ามลภาวะสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป (ในงานวิจัยนี้ระบุว่าค่ามลภาวะนั้นคือ PM 2.5) มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 10%

ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด ค่า PM 2.5 โดยเฉลี่ย 1 ปี ไม่ควรจะเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ที่ลอนดอนมีค่าเฉลี่ย 13.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และในนิวเดลีอยู่ที่ประมาณ 133 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (สำหรับประเทศไทย ในปี 2018 เราถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีค่า PM 2.5 สูงอยู่ลำดับที่ 23 และเป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม)

ผลกระทบต่อสุขภาพจิต

สำหรับปัญหาการฆ่าตัวตายนั้นพบว่ามีความสัมพันธ์กับการรับมลภาวะที่เรียกว่า PM 10 (ขนาดใหญ่กว่า PM 2.5) มากเกินในระยะสั้น การเพิ่มของ PM 10 ทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพียงแค่ 3 วันก็สามารถเพิ่มอัตราฆ่าตัวตายได้ถึง 2%

Braithwaite กล่าวว่าการหาความเชื่อมโยงระหว่างมลภาวะและสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเรายังคงต้องใช้ชีวิร่วมกับสภาพอากาศแบบนี้ไปอีกในระยะยาวซึ่งมันส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชน เธอตั้งข้อสังเกตว่าสหราชอาณาจักรยังไม่ได้นำแนวทางของ WHO มาใช้กับ PM 2.5 แม้ว่านายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน Sadiq Khan จะรับแนวทางมาแล้วก็ตาม

แต่ถึงอย่างนั้นกลไกที่อธิบายเรื่องนี้ได้โดยตรงก็ยังคงไม่ชัดเจน! Braithwaite เสริมว่ามีการวิจัยมากว่า 10 ปี ในเรื่องผลกระทบของมลภาวะต่อสุขภาพกาย แต่งานวิจัยที่มองความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตกับมลภาวะทางอากาศนี้เพิ่งจะเริ่มขึ้นได้ไม่นาน ไม่แน่ภายใน 5-10 ปีถัดไปเราอาจมีคำอธิบายที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของทั้งสองสิ่งนี้

Ioannis Bakolis จากมหาวิทยาลัย King’s College London กล่าวว่า ในตอนนี้เราอาจจะยังไม่สามารถหาคำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับมลภาวะและอาการซึมเศร้า แต่ความเชื่อมโยงระหว่าง PM 2.5 และภาวะซึมเศร้านั้นเกิดขึ้นคล้ายกันกับผู้คนทั่วโลก การที่มลพิษขนาดเล็กสามารถไหลไปตามกระแสเลือดเข้าสู่สมองของเราอาจก่อให้เกิดการอักเสบ หรือส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนความเครียดได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามนอกจากมลภาวะทางอากาศแล้วยังมีปัจจัยย่อยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อความเครียดได้อีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังต้องศึกษากันต่อในระยะยาวเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้น

อ้างอิง NewScientist , Greenpeace

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส