ในเดือนมิถุนายนนี้ มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจและน่าติดตามเกี่ยวกับคำว่า ‘-ุปราคา’ ถึงสองครั้งด้วยกัน ครั้งแรกคือจันทรุปราคาเงามัว ในคืนวันที่ 5 ถึงเช้ามืดวันที่ 6 และสุริยุปราคาบางส่วนในวันที่ 21 มิถุนายน 2563 

มาดูที่ปรากฏการณ์ที่ใกล้จะเกิดขึ้นกันก่อน นายศุภฤกษ์  คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กล่าวว่า หลังเที่ยงคืนวันที่ 5  มิ.ย. เข้าสู่รุ่งเช้าของวันที่ 6 มิ.ย. 63 จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ช่วงเวลาประมาณ 00:46-04:04 น. ตามเวลาในประเทศไทย เงามัวบังมากที่สุด เวลาประมาณ 02:24 น. ดวงจันทร์เต็มดวงจะสว่างลดลงเพียงเล็กน้อย สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาก อีกทั้งยังตรงกับช่วงฤดูฝนบางพื้นที่อาจมีฝนตกหนัก เมฆหนา สภาพท้องฟ้าไม่อำนวย

https://lh3.googleusercontent.com/HO8THFyakE0sZeytQLwnRWS0jNqywklmVkyzncBPgayzp0P6SgF_SRbCv_6ceRALDG9eOewFXsOpPWJdYfQW2kGxmkY5JhpxjVOF7o6D9U65PMWd1JJ63unpsoFrgFrv4g
ภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว (ภาพขวา) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2563 

ชมได้ยาก แล้วควรชมอย่างไร น่าสนใจที่จะรอชมหรือไม่

คืนวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน เข้าสู่รุ่งเช้าวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2563 เป็นคืนดวงจันทร์เต็มดวง ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าสู่เงามัวของโลกตั้งเเต่เวลาประมาณ 00:46 น. ทำให้ค่าความสว่างของดวงจันทร์ค่อย ๆ ลดลงเล็กน้อย ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีสีคล้ำขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่ง เงามัวจะปกคลุมดวงจันทร์มากที่สุดในเวลาประมาณ 02:24 น. และเงาจะค่อย ๆ เลือนหายจนกระทั่งสิ้นสุดปรากฏการณ์ ในเวลาประมาณ 04:04 น.  รวมเวลาเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัวในครั้งนี้นาน 3 ชั่วโมง 18 นาที 

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า “เงามัว” เงาที่เราสังเกตได้จึงจะไม่มีขอบชัด หากมองด้วยตาเปล่าก็อาจเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก แต่หากสังเกตเปรียบเทียบดวงจันทร์ก่อนหรือหลังเกิดปรากฏการณ์ หรือมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ก็จะรู้สึกได้ว่า ความสว่างของดวงจันทร์ในส่วนที่เกิดเงามัวจะลดลง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามืด ดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง ยังคงมองเห็นอยู่ และที่เกิดขึ้นนานนับชั่วโมง เพราะเงาของโลกมีขนาดใหญ่มาก ต่างจากปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่สังเกตได้เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น      

หากใครอยากพิสูจน์ความมัวด้วยตาตนเอง แนะนำให้ชมปรากฎการณ์ตามเวลาที่แนะนำ แต่หากพลาดไป และอยากสังเกตจันทรุปราคาอีกครั้ง ก็ไปตามกันอีกทีปลายปี ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 เลย 

สำหรับปลายเดือนนี้ยังมีสุริยุปราคาบางส่วน อีกหนึ่งปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สำคัญรออยู่ กดติดตามรอฟังข่าวสารเอาไว้ เราจะอัพเดทช่วงเวลาที่จะเกิดปรากฎการณ์ให้แน่นอนครับ 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส