ครื้นเครงตื่นเต้นกันไปกับการมาถึงของดาวหาง NEOWISE ทั้งนักดาราศาสตร์และผู้คนทั่วโลกพากันเก็บภาพและเผยแพร่ลงในสื่อต่าง ๆ กันอย่างคึกคัก ทีมล่าดาวของหน่วยงานดาราศาสตร์ระดับประเทศอย่าง “สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)” หรือ NARIT ของไทยเราก็ไม่น้อยหน้า พากันจัดเต็มตระเวนเก็บภาพดาวหางเหนือฟ้าเชียงใหม่มาให้เรายล พร้อมชวนสังเกตดาวหางค่ำนี้ 23 กรกฎาคม 2563 ช่วงหลังดวงอาทิตย์ตก ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นช่วงเข้าใกล้โลกมากที่สุด และเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้เก็บภาพดาวหางดวงนี้ก่อนที่ความสว่างจะเริ่มลดลงและแสงดวงจันทร์จะเริ่มรบกวน

นายศุภฤกษ์  คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการดาราศาสตร์ NARIT เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 กรกฎาคม เป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ยลโฉมและบันทึกภาพความสวยงามของดาวหางดวงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้โลกที่สุด หลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ในวันดังกล่าว ตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย แต่อุปสรรคสำคัญที่สุดคือสภาพอากาศของประเทศไทยซึ่งอยู่ในช่วงฤดูฝนที่มีเมฆมาก บริเวณใกล้ขอบฟ้ามีเมฆปกคลุมค่อนข้างหนา (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับดาวหางเพิ่มเติมได้ที่บทความ ‘NEOWISE มาแล้ววววว 23 ก.ค.นี้ มาเตรียมพร้อมชมดาวหางที่ 6,767 ปีมาที กันเถอะ’ และ ‘Lemmon และ NEOWISE 2 ดาวหางชวนให้นึกถึงอนิเมะ Your Name โผล่มาให้ยลกันแล้ว!’ )

และนี่คือภาพดาวหาง NEOWISE ที่บันทึกได้จากสถานที่ต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับสถานที่เก็บภาพดาวหางนีโอไวส์ นายศุภฤกษ์ แนะนำว่าควรเป็นสถานที่ที่ฟ้าใส ไม่มีเมฆบดบัง เป็นพื้นที่ค่อนข้างสูง มีมุมมองเปิดกว้างไปทางทิศตะวันตก และสิ่งสำคัญที่สุดของการถ่ายภาพดาวหางคือ ต้องหาตำแหน่งให้เจอ ทั้งนี้สามารถศึกษาเทคนิคการถ่ายภาพดาวหาง ได้ที่ http://www.narit.or.th/…/astro-ph…/1200-neowise-photo-artcle

ก็ขอให้วันนี้ไม่มีเมฆมาก คนที่ลุ้นชมและถ่ายภาพ จะได้เห็นกันสมใจอยากกันสักทีนาาา

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส