วงการเทคโนโลยีปี 2022 เรียกว่าเข้มข้นและเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ ตั้งแต่บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกไปซื้อโซเชียลมีเดียดัง คริปโทร่วงหนักและเต็มไปด้วยข่าวร้าย พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง Netflix ระส่ำระสาย และอีกมากมาย ลองมาไล่เลียงกันดีกว่า

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่เว้นอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

กลุ่มแฮกเกอร์ที่เรียกตัวเองว่า Anonymous ได้ประกาศสงครามไซเบอร์กับรัสเซียเพราะไม่เห็นด้วยกับการไปรุกรานยูเครน ทำให้เว็บไซต์ของรัฐบาลรัสเซียล่มและก่อปัญหาในวงกว้าง ส่วนบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ อย่าง Meta, Twitter, YouTube หรือ TikTok ก็บล็อกบัญชีของรัฐบาลรัสเซียด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนรัสเซียก็มีการแบน Facebook, Instagram, Twitter (แต่ยังเปิดให้ YouTube ใช้ได้อยู่ เพราะกว่า 75% ของประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตของรัสเซียใช้บริการนี้อยู่) รวมไปถึงบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ อย่างเช่น Airbnb, Apple, Amazon, Bumble, DJI ไปจนกระทั่ง Intel, Microsoft, Netflix, Nvidia, Samsung, Sony และ Spotify ด้วย

iPhone จะมี USB-C แล้ว (สักที)

สหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบข้อบังคับให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมดให้ใช้ USB-C เริ่มตั้งแต่ปี 2024 และนั่นรวมถึง Apple ที่ใช้พอร์ต Lightning ด้วย ส่วน iPhone เครื่องแรกที่คาดว่าจะมี USB-C คือ iPhone 15 ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวในปี 2023 ส่วนในสหรัฐฯ เองก็กำลังใช้คาดว่าจะมีกฎหมายเรื่อง USB-C ให้เป็นมาตรฐานด้วยเช่นเดียวกัน แต่คาดว่าจะไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ 

นั่นไม่ใช่ข่าวเกี่ยวกับที่ชาร์จ Apple เพียงอย่างเดียวของปีนี้ เพราะในบราซิล Apple ถูกแบนห้ามขาย iPhone ที่ไม่แถมหัวชาร์จมาด้วย เพราะถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่พร้อมใช้งาน

Mark Zuckerberg

Facebook กำลังเผชิญปัญหา

รายงานไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 ที่บริษัทเปิดเผยในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 Facebook รายงานจำนวนผู้ใช้งานรายวัน ‘ลดลง’ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และยังขาดทุนจาก Metaverse ราว 10,000 ล้านเหรียญ หลังจากนั้นหุ้นก็ดิ่งเหว ในวันเดียวร่วงไป 26.4% มูลค่าหายไป 240,000 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นการสูญเสียมูลค่าเยอะที่สุดในวันเดียวสำหรับบริษัทเลย

การลงทุนใน Metaverse ก็ดูไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่จนถึงตอนนี้ ใช้เงินไปแล้วกว่า 15,000 เหรียญตั้งแต่ปี 2021 จนถึง ตุลาคม 2022 โดยเหมือนจะไม่มีรายได้กลับคืนมาเลยด้วย

นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงของ iOS ที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าจะให้แอปฯติดตามการใช้งานระหว่างแอปฯภายในเครื่องรึเปล่า แถมยังมีศึกที่ต้องปะทะกับ TikTok ที่แย่งผู้ใช้งานไป และ ฟรานเซส เฮาเกน (Frances Haugen) อดีตผู้จัดการฝ่ายดูแลผลิตภัณฑ์ของ Facebook ออกมาเปิดโปงแนวทางการดำเนินงานของ Facebook ว่ามุ่งเน้นแต่การทำกำไรโดยไม่คำนึงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้ Instagram 

หลังจากขึ้นไปพีคสุด ๆ ที่ราว 1 ล้านล้านเหรียญในเดือนกันยายน 2021 มาถึงเดือนพฤศจิกายน 2022 มูลค่าหายไปแล้วกว่า 700,000 ล้านเหรียญ 

ไหนจะมี เชอร์ริล แซนด์เบิร์ก (Sheryl Sandberg) ประธานฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ของบริษัทเมตา (Meta) ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังจากทำงานกับองค์กรมา 14 ปี

แต่ถ้าให้ฉายภาพให้กว้างขึ้นอีกหน่อย ไม่ใช่แค่ Meta ที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในปีนี้ บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ อย่าง Amazon, Microsoft, Google และ Apple ต่างก็มูลค่าหายไปมากน้อยต่างกันในปีนี้เพราะภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

โดยหนังสือพิมพ์ The New York Times ก็บอกว่า ‘แต่การร่วงอย่างรวดเร็วอย่างนี้ก็ทำเปิดเผยจุดอ่อนเช่นกัน บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ไม่เจอไอเดียที่สร้างกำไรใหม่ ๆ ได้มาหลายปีแล้ว”

คนกลับไปทำงานที่ออฟฟิศกันแล้ว

เทคโนโลยีช่วยทำให้คนส่วนใหญ่ยังสามารถทำงานได้ในช่วงการระบาดของ Covid-19 แต่หลังจากที่โรคระบาดเริ่มซาไป บริษัทต่าง ๆ ก็เริ่มเรียกให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศกันมากขึ้น บริษัทอย่าง Google ก็เริ่มให้พนักงานกลับมาตั้งแต่เดือนเมษายน ส่วน Apple ก็ตามมาในเดือนกันยายน ซึ่งพนักงานหลายคนก็ไม่พอใจและตัดสินใจลาออกด้วย อีลอน มัสก์ (Elon Musk) อีเมลบอกพนักงานของเทสลาว่าทำงานที่บ้านไม่ได้อีกต่อไป (เหมือนกับตอนที่เขาเข้ามาดูแลทวิตเตอร์เช่นเดียวกัน)

จากผลสำรวจของพนักงานกว่า 64% บอกว่าอาจจะลาออกถ้าต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา 

Netflix

การเปลี่ยนแปลงของ Netflix

การแข่งขันในตลาดสตรีมมิงกับทั้ง Disney, HBO, Amazon และ บริการสตรีมมิ่งอื่น ๆ ทำให้ Netflix ที่เคยเป็นเจ้าตลาดต้องหนาว ๆ ร้อน ๆ ในเดือนเมษายนบริษัทรายงานว่าจำนวนสมาชิกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีและในเดือนกรกฎาคมก็ลดลงไปอีก ก่อนที่จะจำนวนสมาชิกจะเพิ่มกลับมาในไตรมาสที่ 3 ตอนนี้เราจะเห็นแพ็กเกจใหม่ของ Netflix ที่มาพร้อมโฆษณาในราคาที่ถูกลง โดยบริษัทก็หวังว่าจะช่วยดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้มากขึ้นด้วย

การเติบโตของ TikTok

ในขณะที่โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Instagram และ Twitter กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย จำนวนผู้ใช้งานไม่เติบโตและไม่รู้ว่าอนาคตกำลังมีอะไรรออยู่บ้าง แต่ความนิยมของ TikTok กลับพุ่งสูงขึ้นเรื่อย สร้างรายได้มากกว่า 10,000 ล้านเหรียญในปีนี้ เพิ่มขึ้นสองเท่าจากปีก่อน

จากสถิติเมื่อไตรมาส 1 ของปี 2022 ผู้ใช้งานใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 23.6 ชั่วโมงต่อเดือนบน TikTok มากกว่า YouTube (23.2), Facebook (19.4) และ Twitter (5.4) ไปเรียบร้อย

TikTok กลายเป็นโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่อันดับ 3 ในมุมของจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนที่ 755 ล้านคน รองจาก Instagram ที่ 1,300 ล้านคน และ Facebook ที่ 2,000 ล้านคน นอกจากนั้นแล้วมันยังกลายเป็นแหล่งหาข้อมูลของเหล่า Gen Z แทน Google อีกด้วย

การเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ก็นำมาด้วยปัญหาเช่นเดียวกัน รัฐบาลของสหรัฐฯ เองก็พยายามหาทางควบคุมและตรวจสอบอยู่เสมอเพราะบริษัทแม่ของ TikTok คือ ไบต์แดนซ์ (ByteDance) จากประเทศจีน และด้วยความสัมพันธ์ที่ง่อนแง่นระหว่างสองประเทศ ทำให้อเมริการะมัดระวังอยู่เสมอ

แถมยังมีเรื่องการท้าทายต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย ข้อมูลผิด ๆ ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ TikTok ต้องจัดการให้ได้ดีกว่านี้ในอนาคต

Elon Musk

เครื่องบินส่วนตัวของ อีลอน มัสก์ ถูกติดตาม

แจ็ค สวีนีย์ (Jack Sweeney) เด็กหนุ่มอายุ 19 ปีสร้างทวิตเตอร์บอตเพื่อติดตามการเดินทางของเครื่องบินส่วนตัวของอีลอน มัสก์ ซึ่งมัสก์พยายามแก้ไขปัญหาโดยการยื่นข้อเสนอให้เงิน 5,000 เหรียญ แต่สวีนีย์บอกว่าขอ 50,000 เหรียญได้ไหม จะเอาไปเป็นค่าเทอมและซื้อรถยนต์เทสลาด้วย แต่ดีลก็ไม่เกิดขึ้น ตอนนี้บัญชี ElonJet บททวิตเตอร์ก็ถูกแบนไปเรียบร้อยหลังจากที่มัสก์เข้ามาดูแลบริษัท

อีลอน มัสก์ ซื้อทวิตเตอร์

น่าจะเป็นข่าวที่ชวนปวดหัวและน่าติดตามมากที่สุดในโลกของเทคโนโลยีปีนี้เลยก็ว่าได้ ตั้งแต่เขาประกาศว่าจะซื้อบริษัททวิตเตอร์ในเดือนเมษายน ต่อจากนั้นก็พยายามที่จะยกเลิกแต่ทำไม่ได้ต้องขึ้นศาล กลายเป็นว่าต้องซื้อด้วยราคาเดิมที่ตกลงเอาไว้ตั้งแต่แรกและเข้ามาเป็นเจ้าของบริษัททวิตเตอร์ในเดือนตุลาคม 2022

ช่วงแรกที่เข้ามาก็วุ่นวายมาก ไล่ซีอีโอและเจ้าหน้าที่ระดับสูงออกหลายคน ปลดบอร์ดบริหารออกหมดเหลือเขาคนเดียว หลังจากนั้นก็ขึ้นเป็นซีอีโอ แล้วก็ไล่พนักงานออกเกินครึ่ง สักพักก็จ้างบางคนคืนมา ต่อด้วยการยกเลิกการแบนบัญชีของอดีตประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ โดยบริษัทมากมายหยุดโฆษณา ผู้ใช้งานหนีไปแอปฯ อื่น ต้องขายหุ้นเทสลาเพื่อเอามาอุดหนี้ของทวิตเตอร์ หุ้นบริษัทเทสล่าร่วงหนักกว่า 55% ในปีนี้ แถมยังสร้างความไม่พอใจต่อผู้ถือหุ้นเทสลาจำนวนมาก ล่าสุดออกมาบอกว่าจะลงจากตำแหน่งซีอีโอเมื่อหาคนมาแทนได้ (แต่ก็ไม่รู้เมื่อไหร่) และจะไม่ขายหุ้นเทสลาอีกสักพัก

Crypto Winter

ประมาณ 1 ปีก่อนหน้านี้ Bitcoin เทรดกันอยู่ที่ราว ๆ 68,000 เหรียญ/บิตคอยน์ แต่ตอนนี้มูลค่าอยู่ต่ำกว่า 17,000 เหรียญ/บิตคอยน์แล้ว ลดลงมาประมาณ 75%

เราเห็นการล่มสลายของเหรียญ LUNA และตลาดซื้อขายคริปโท FTX ที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนจำนวนมากมายทั่วโลก ตอนนี้เราไม่มีทางรู้เลยว่าตลาดคริปโทจะกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อไหร่ มีนักวิเคราะห์หลายคนบอกว่านี่เป็นเหมือนเหตุการณ์ฟองสบู่ดอตคอมแตกในช่วงปี 2000 ที่กรองบริษัทดี ๆ ออกจากบริษัทแย่ ๆ ส่วนที่เหลือรอดจากตรงนี้จะเป็นบริษัทที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงในอนาคต

AI Advances

เราเห็นความก้าวหน้าของ AI แบบเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะ MidJourney ที่เป็น AI ที่วาดภาพตามคำอธิบายของเรา ซึ่งผลงานที่ออกมาถือว่าเป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก ถึงขั้นมีคนใช้มันเพื่อสร้างผลงานทางศิลปะเพื่อเข้าชิงรางวัลและก็ได้รางวัลซะด้วย (ซึ่งก็ตามมาด้วยข้อถกเถียงมากมายว่ามันเป็นศิลปะจริง ๆ หรือเปล่า)

นอกจากนี้ยังมี ChatGPT ที่เป็น AI สามารถแต่งเพลง เขียนบทกวี เขียนบทความ สรุปเนื้อหาและข้อมูล เขียนโค้ด สร้างเอกสารต่าง ฯลฯ ที่ตอนนี้หลายคนต่างกังวลว่าจะต้องตกงานเพราะเจ้า AI ตัวนี้ ถึงขั้นว่า Google ต้องเรียกประชุมกันด่วนเพื่อหารือกันว่าจะรับมือกับ ChatGPT ยังไง เพราะต่อไปคนอาจจะไปหาข้อมูลจากตรงนั้นแทน Google ก็ได้

อ้างอิง
Weforum Rappler
The New York TImes
The Hill ABC.Net
We are social Cnet
Consilium Business Insider
Business Insider

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส